นครพนม – วันที่ 10 ตุลาคม 2562 เวลา เวลา 08.30 น. นายนิวัต เจียวิริยบุญญา นายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองนครพนม อัญเชิญถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี จากหน้าศาลหลักเมือง ถนนอภิบาลบัญชาไปยังหน้ากองอำนวยการหน้าวัดพระอินทร์แปลง ถนนสุนทรวิจิตร เนื่องในการแข่งขันเรือยาวประเพณีสัมพันธ์ไทยลาว ชิงถ้วยพระราชทาน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมของงานประเพณีไหลเรือไฟและงานกาชาดจังหวัดนครพนม ประจำปี 2562 โดยมี นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานในพิธี
นายนิวัติฯนายกเทศมนตรีฯเมืองนครพนม เปิดเผยว่าการแข่งขันเรือยาวถือเป็นประเพณีที่สำคัญของชาวจังหวัดนครพนม ที่ได้ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน โดยจะจัดขึ้นในช่วงเทศกาลออกพรรษาของทุกปี ในการนี้เทศบาลเมืองนครพนม ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานรางวัลอันทรงคุณค่าแก่พี่น้องชาวเรือ นั่นคือ ถ้วยพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่เรือชนะเลิศชายรุ่นใหญ่ จำนวน 55 ฝีพาย พร้อมถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี พระราชทานแก่เรือ 3 ประเภท คือเรือชายเล็กเชื่อมสัมพันธ์ชาวนครพนม จำนวน 12 ฝีพาย เรือเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างจังหวัดนครพนมและเรือจากประเทศลาว จำนวน 35 ฝีพาย และเรือชายรุ่นเล็กโอเพ่น จำนวน 40 ฝีพาย ซึ่งล้วนเป็นรางวัลที่สูงค่าอย่างยิ่ง
นายนิวัติฯกล่าวเพิ่มเติมว่า การแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี พร้อมงานรางวัลกว่า 700,000 บาท ในครั้งนี้นั้น เป็นการพิสูจน์ฝีมือและพละกำลังของฝีพายหนุ่มฉกรรจ์ เพราะเป็นสนามที่มีระยะทางการแข่งขันยาว 1,500 เมตร เป็นสนามชิงจ้าวลำน้ำโขงที่มีเสน่ห์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย อีกทั้งมีความงดงามด้านประเพณีวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมา และที่สำคัญยังเป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรีอันดีงาม ระหว่างบ้านพี่เมืองน้องไทยลาวด้วย
ส่วนการแข่งขันเรือยาวศึกชิงจ้าวลุ่มน้ำโขง มีเรือเข้าทำการแข่งขันจำนวนทั้งสิ้น 63 ลำ แยกเป็นเรือชายเล็ก 12 ฝีพาย เฉพาะเรือในจังหวัดนครพนม 21 ลำ เรือเชื่อมสัมพันธไมตรีฯ 35 ฝีพาย 18 ลำ เรือชายโอเพ่น 40 ฝีพาย 12 ลำ และเรือชายรุ่นใหญ่ 55 ฝีพาย 12 ลำ ระเบิดศึกตั้งแต่วันที่ 9-12 ตุลาคม โดยมีสีสันจากทีมนักพากย์เรือชื่อดัง และกองเชียร์ที่แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีฉูดฉาด
ข่าวน่าสนใจ:
- นครพนม : กองทัพบก ร่วมกับ Kubota มอบไออุ่นในพื้นที่ภาคอีสาน มอบเสื้อกันหนาวให้ชาวนครพนม ตามโครงการ "คูโบต้า พลังใจ สู้ภัยหนาว" ปี 2567
- ธุรกิจโก-ลกเริ่มหวั่น! นทท.ลดฮวบ-หลังมาเลย์ดีเดย์ 1 ธค.เข้า-ออกผิดกฎหมาย - จับทันที
- ผกร.ป่วนไม่เลิก!วางบึ้ม 5 (แตก 4, กู้ 1) ทางไปสนามบิน
- ชวนชิม 'ศรีบุญเรือน' ร้านข้าวต้มต้นตำรับ สืบทอดสามรุ่น เสน่ห์ร้านข้าวต้มยามค่ำคืน ที่รวมอาหารจีน อาหารเหลา อาหารใต้ไว้ในร้านเดียว
ตามตำนานการแข่งขันเรือ เป็นกีฬาพื้นบ้านเก่าแก่ชนิดหนึ่งของคนไทย มีประวัติเล่าว่าตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยารุ่งเรือง มีการเล่นสืบทอดกันเรื่อยมา ปรากฏหลักฐานในกฎมนเฑียรบาลเกี่ยวกับพระราชพิธีต่างๆ ในสมัยนั้น โดยได้กล่าวถึงพระราชพิธีประจำเดือน 11 ซึ่งเป็นการอาศยุชพิธีนั้น จะมีพิธีแข่งเรือด้วย แม้ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก็ปรากฏหลักฐานว่ามีการเล่นแข่งเรือกันเป็นประจำ เช่น ในสมัยรัชกาลที่ 2 เมื่อครั้งทรงโปรดให้ปรับปรุงราชวังใน พ.ศ. 2361 มีการขุดสระภายในพระราชวัง ก็ทรงโปรดให้มีการแข่งเรือในครั้งนั้นด้วย กระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 5 การแข่งเรือเป็นกีฬาที่เล่นกันอย่างแพร่หลาย และได้มีชาวต่างชาติร่วมชมด้วย ดังปรากฏในพระราชนิพนธ์ตอนหนึ่งความว่า “เย็นวันนี้มีการแข่งนาวา ที่กรงน่าตำหนักแพแม่น้ำใหญ่ เรือที่นั่งกราบสี่เอกไชย มาพายให้เจ้าฝรั่งเขานั่งดู “ ซึ่งการเล่นแข่งเรือของชาวบ้านในสมัยก่อนมีจุดมุ่งหมาย เพื่อเป็นการทำบุญกุศล คือ ชาวบ้านจะเล่นกันในเทศกาลทอดกฐิน ทอดผ้าป่า ซึ่งจะอยู่ในเดือน 10-12 ซึ่งระยะนี้จะเป็นช่วงฤดูน้ำมาก ชาวบ้านที่อยู่ตามที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำจะใช้เรือเป็นพาหนะ เมื่อมีงานพิธีทำบุญจะมีการแห่แหนกันทางน้ำ เพื่อนำองค์กฐิน องค์ผ้าป่าไปยังวัด เมื่อเสร็จพิธีการทางศาสนาแล้ว ก็จะมีการเล่นแข่งเรือกัน ซึ่งถือกันว่าผู้ที่ร่วมแข่งขันจะได้บุญทางหนึ่งด้วย
นอกจากนี้การเล่นแข่งเรือยังเป็นการเล่นเพื่อจุดมุ่งหมายอีกประการ เช่น บางท้องถิ่นจะจัดให้มีการแข่งเรือในงานทำบุญไหว้พระประจำปีของแต่ละท้องถิ่น บางแห่งจะมีการแข่งเรือเพื่อเป็นการบรวงสรวงสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านนับถือ บางแห่งจัดให้มีการเล่นแข่งเรือเทศกาลสนุกสนานรื่นเริงต่างๆ เป็นต้น อย่างไรก็ตามการแข่งเรือมักจัดการเล่นกันเฉพาะในฤดูน้ำหลากเท่านั้น
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: