กทม. – 10 ต.ค. องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็น ‘วันสุขภาพจิตโลก’ เพื่อให้ผู้คนหันมาสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นสาเหตุของการตายสูงอันดับต้นๆ และเป็นปัญหาต่อคุณภาพชีวิต ของผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งธีมปี 2019 (2562) คือ “Working Together to Prevent Suici” หรือการทำงานร่วมกันเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเน้นที่การป้องกันการฆ่าตัวตาย
…“ยาและแพทย์เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของการรักษา แต่สิ่งสำคัญ คือ กำลังใจและความเข้าอกเข้าใจของคนรอบข้าง ช่วยให้เราผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นมาได้ โลกทุกวันนี้มีสัญญาณขอความช่วยเหลือเต็มไปหมด บางสัญญาณได้รับการตอบรับ บางสัญญาณถูกปล่อยผ่าน เพียงคิดว่าเป็นเรื่องของคนอ่อนแอ หรือเรียกร้องความสนใจ หลายคนหมดโอกาสเพียงเพราะไม่ได้รับความช่วยเหลือ”
..เสียงที่ส่งมาจาก ‘คุณกอล์ฟ’ กิตติพัทย์ ชลารักษ์ ผู้ดำเนินรายการเทยเที่ยวไทย ช่อง GMM25 ที่เคยประสบปัญหาจากความคิดของตัวเอง เพราะความแตกต่าง แปลกแยก ไม่เหมือนคนอื่น และเพศสภาพ ทำให้ขาดความมั่นใจ เคยคิดฆ่าตัวตาย แต่โชคดี ที่คนรอบตัวช่วยเหลือ โดยเฉพาะอาจารย์ที่เรียกมาคุย แนะให้เลิกตัดสินตัวเองว่า ‘เป็นใครและเป็นอะไร’ ไม่ดูถูก เห็นตัวเองไม่มีคุณค่า และหาคุณค่าของตัวเอง กลายเป็นจุดปลดล็อก และก้าวข้ามผ่านจุดนั้นมาได้ เวลาเจอปัญหา
คุณกอล์ฟ บอกอีกว่า บางคนต้องทนใช้ชีวิตที่ตัวเองคิดว่าไม่สมบูรณ์พร้อม บกพร่อง แต่ลืมคิดไปว่าชีวิตของคนเราไม่ต้องสมบูรณ์แบบ เมื่อมีปัญหา แม้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ถ้าคนข้าง ๆ สังเกตุเห็นและเข้ามาช่วยประคับประคอง จะพาผ่านช่วงเวลายาก ๆ มาได้
..“ทุกปัญหาควรค่าแก่การรับฟัง ขอแค่ใครสักคนที่จะมารับฟังจริง ๆ ไม่ตัดสิน ไม่คิดแทน ไม่ต้องหาทางออกให้ด้วย แค่อยู่ข้าง ๆ เปิดใจรับฟัง จะทำผู้ป่วยผ่านช่วงเวลานั้นไปได้”
ส่วนน้องเกรซ นรินทร ชฎาภัทรวรโชติ MISS THAILAND WORLD 2019 แบรนด์แอมบาสเดอร์ ของกรมสุขภาพจิต พูดถึงความคิดว่า เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ แต่ทำร้ายเราได้ตลอดเวลา จิตสั่งกายและพฤติกรรมของเราได้ การโจมตีกันผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยเฉพาะการ bully ส่งผลกระทบต่อสังคม คนในสังคทำร้ายกันเอง นำมาซึ่งโรคซึมเศร้า ทุกคนต้องการพูด คุย แต่ไม่มีใครคิดจะทำอะไร พูดในสิ่งที่อยากพูด ฟังในสิ่งที่อยากฟัง ผู้ป่วยต้องเก็บกดอารมณ์ตัวเองเอาไว้ แม้แต่คนทั่วไปก็เก็บกด เพราะไม่กล้าเป็นคนอ่อนแอ ยิ่งเก็บกดยิ่งอ่อนแอ
…“ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องหันหน้าเข้าหากัน ใส่ใจความรู้สึกกันและกันอย่างแท้จริง ไม่นำความคิดเราไปตัดสินคนอื่น ทุกคนมีสิทธิ์เลือกใช้ชีวิตที่ต้องการ มีความสุขทุกวันอย่างที่ตัวเองเป็น ซึมเศร้าเป็นภัยใกล้ตัว อย่าให้เข้าใกล้คนใกล้ตัวและคนที่รัก สิ่งสำคัญ คือ การรับฟัง รับฟังด้วยใจ หู ตา ด้วยความจริงใจ ไม่ตัดสิน ทำให้รู้สึกว่าอยู่เคียงข้างเขาตลอดเวลา เคารพ ให้เกียรติ ไม่รังเกียจผู้ป่วยจิตเวช” น้องเกรซ นรินทร กล่าว
บนเวที ‘สื่อสร้างสรรค์เพื่อเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดีแก่ประชาชน’ เนื่องในวันสุขภาพจิตโลก ยังมีเสียงจาก คุณอมรเทพ สัจจะมุณีวงศ์ นักเคลื่อนไหวทางสังคม(ด้านสุขภาพจิต) ที่เปิดเผยว่า เมื่อปี 2558 อยู่ดี ๆ ก็เครียด เหงา รู้สึกเป็นภาระคนอื่น ปวดศีรษะมาก นอนไม่หลับ ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากเข้าสังคม เริ่มเห็นภาพหลอน หูแว่ว ได้ยินเสียงกระซิบ “ตายไปเหอะ” จึงไปพบจิตแพทย์ กระทั่งพบว่าเป็นโรคซึมเศร้าและจิตเภท เริ่มทำร้ายตัวเองและพยายามฆ่าตัวตายถึง 2 ครั้ง คนในครอบครัวและสังคมไม่เข้าใจ เริ่มโพสต์ข้อความผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ ..แต่สุดท้าย ตั้งสติหาพื้นที่ให้ตัวเองและคนที่มีปัญหาเดียวกัน โดยจัดทำแอปพลิเคชัน ’sati’ เพื่อรับฟังเสียงจากคนที่มีปัญหาและเป็นที่ปรึกษาให้คนที่ต้องการคนรับฟัง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: