X
บั้งไฟ

Gisda เปิดตัว “บำเพ็ญ” แอปพลิเคชั่นควบคุมการปล่อยบั้งไฟ

บั้งไฟ – สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ Gisda คิดค้นแอปพลิเคชั่น “บำเพ็ญ” ระบบบริหารจัดการกิจกรรมบั้งไฟ ป้องกันอันตรายและผลกระทบต่อการคมนาคมทางอากาศ

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ Gisda ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงคมนาคม เปิดตัวแอปพลิเคชั่น “บำเพ็ญ” หรือ “ระบบบริหารจัดการกิจกรรมบั้งไฟ” ณ สวนสาธารณะพญาแถน โดย รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ปัจจุบัน การปล่อยบั้งไฟนับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายและผลกระทบต่อการคมนาคมทางอากาศได้ หลายปีมานี้มีการแจ้งพบบั้งไฟขณะทำการบินซึ่งนักบินไม่ได้รับแจ้งเตือนล่วงหน้า

ซึ่งหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม และบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทยจำกัด พยายามแก้ไขปัญหาในจุดนี้ โดยได้ขอความร่วมมือและสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนในท้องถิ่นหรือผู้ที่ต้องการประกอบกิจกรรมการจุดบั้งไฟ เกี่ยวกับการจัดพื้นที่ควบคุมและเฝ้าระวังบริเวณโดยรอบสนามบิน และเส้นทางบินเป็นพิเศษ รวมทั้งมีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงขั้นตอนการขออนุญาตการจุดบั้งไฟกับทางหน่วยงานปกครองในท้องที่ก่อนการประกอบกิจกรรมฯ ทุกครั้งด้วย โดยเฉพาะระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงประเพณีบุญบั้งไฟของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

จากสถิติที่พบเมื่อปี 2560 มีการแจ้งการจุดบั้งไฟมากถึง 19,520 บั้ง และมีนักบินพบเห็นบั้งไฟขณะทำการบินจำนวนมากกว่า 50 ครั้ง ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ตระหนักถึงผลกระทบด้านความปลอดภัยที่เกิดจากกิจกรรมการปล่อยบั้งไฟมาโดยตลอด แม้ว่าจะมีมาตรการและข้อบังคับในการขออนุญาตแต่ก็ยังไม่ได้มีการเชื่อมต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการคมนาคมทางอากาศอย่างครบวงจร ทำให้ยังไม่สามารถวิเคราะห์ถึงผลกระทบด้านความปลอดภัยที่อาจเกิดขึ้นกับการคมนาคมทางอากาศได้ทั้งหมด เช่น เขตพื้นที่ห้วงอากาศสำหรับการเดินอากาศ หรือเส้นทางการจราจรทางอากาศ รวมถึงข้อมูลที่สำคัญบางส่วนในใบอนุญาตอาจยังไม่ครบถ้วนเพื่อใช้ประกอบการวิเคราะห์

ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือจิสด้า จึงทำการพัฒนาระบบเพื่อสนับสนุนกิจกรรมการปล่อยบั้งไฟ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการคมนาคมทางอากาศและเป็นการส่งเสริมในการนำระบบภูมิสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการ ทั้งในส่วนของการส่งคำขอใบอนุญาตจากทางภาคประชาชน การรับรองคำขอจากหน่วยงานปกครองส่วนท้องที่ การวิเคราะห์ความปลอดภัย รวมไปถึงการออกใบอนุญาตทั้งกระบวนการแบบครบวงจร เพื่อเชื่อมโยงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถปฏิบัติงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และรักษาความปลอดภัยทางการคมนาคมทางอากาศของประเทศไทย ซึ่งเมื่อต้นเดือนเมษายน 2561 ได้มีการนำระบบดังกล่าวมาทดสอบใช้งานให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่นำร่อง 2 จังหวัดคือ ศรีสะเกษ และยโสธร ได้รับทราบ ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงคมนาคม, บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด, กรมการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และการท่าอากาศยานไทย เป็นต้น

ทางด้าน ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ Gisda กล่าวว่า จิสด้าได้พัฒนาเครื่องมือภูมิสารสนเทศมาใช้บริหารจัดการด้านการคมนาคมทางอากาศและความปลอดภัยทางอากาศ หรือที่เรียกว่า GISAVIA ซึ่งสามารถรองรับการใช้งานใน 2 ส่วน หรือ Dual use ซึ่งสามารถใช้งานได้ทั้งมิติของความมั่นคงและมิติด้านพลเรือน รองรับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยจุดเด่นของ GISAVIA พัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับการเติบโตของการจราจรทางอากาศ เพิ่มขีดความสามารถทางด้านความปลอดภัย และประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน่านฟ้าการจราจรทางอากาศตามมาตรฐานสากล ซึ่งจากความสามารถของ GISAVIA นั้น ได้มีการต่อยอดไปสู่การพัฒนาเป็นแอปพลิเคชั่น เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงภาคประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้งานได้อย่างง่าย นั่นก็คือ “บำเพ็ญ” เป็นแอปพลิเคชั่นสนับสนุนการบริหารจัดการให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ในการควบคุมการปล่อยบั้งไฟที่มีมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายนของทุกปี ซึ่งเป็นประเพณีบุญบั้งไฟของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาระบบเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการดังกล่าวจะต้องไม่กระทบกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และประเพณีอันดีงามที่สืบทอดกันมาช้านานของคนในพื้นที่ด้วย แอปพลิเคชั่น “บำเพ็ญ” จะช่วยแจ้งเตือนให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคมนาคมทางอากาศ ได้รับทราบถึงจุดหรือพิกัดที่จะมีการปล่อยบั้งไฟ เพื่อจะได้วางแผนในเส้นทางการบิน และไม่ให้เกิดอันตรายหรือผลกระทบกับการคมนาคมทางอากาศ ทั้งด้านทางทหาร ด้านพลเรือน ด้านการบินพาณิชย์ เป็นต้น นอกจากนี้ แอพพลิเคชั่นดังกล่าว จะช่วยให้ประชาชนที่ลงทะเบียนใช้งาน ได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น และไม่จำเป็นต้องกรอกเอกสารบนกระดาษอีกต่อไป ช่วยประหยัดเวลาในการยื่นเอกสาร รวมทั้งผู้ใช้งานสามารถติดตามคำขอของตนเองได้ด้วย โดยลักษณะการใช้งานของระบบดังกล่าวสามารถแจ้งชื่อกิจกรรม ประเภทของวัตถุที่จะปล่อย เส้นผ่านศูนย์กลาง น้ำหนัก และจำนวนของวัตถุที่ต้องการจะปล่อยสู่น่านฟ้าได้ ก่อนจะนำไปสู่กระบวนการจัดการของหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นในการวิเคราะห์และประเมินด้านความปลอดภัยในการคมนาคมทางอากาศ จนกระทั่งสู่การออกใบอนุญาตในที่สุด “บำเพ็ญ” ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สามารถนำไปต่อยอดเพื่อใช้ในการกำหนดเป็นนโยบาย หรือมาตรการ หรือข้อบังคับ หรือการขออนุญาตในการบินโดรน หรือการบินประเภทอื่นๆ ในอนาคตได้ ซึ่งมีกรอบแนวคิดและวีธีการในการใช้งานที่ใกล้เคียงกัน ผู้อำนวยการจิสด้า กล่าว หมายเหตุ: สามารถดาวน์โหลด Bampen ได้ที่ Play Store บนระบบแอนดรอยด์ได้แล้ววันนี้ สำหรับระบบ IOS อยู่ระหว่างการพัฒนา

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน