ท่ามกลางความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการสื่อสารในยุคดิจิทัล สถาบันการศึกษาหลายแห่งมีการพัฒนาหลักสูตรและวิธีการสอนที่เน้นการเรียนรู้เพื่อแสวงหาข้อค้นพบใหม่ ๆ สามารถประยุกต์ใช้ในการพัฒนางานได้จริง รวมทั้งสร้างนวัตกรรมเชิงแนวคิด หรือ กระบวนการ หรือสิ่งประดิษฐ์ผ่านงานวิจัยเพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยสู่เวทีนานาชาติ
ระหว่างวันที่ 25-27 ตุลาคม 2562 ทีมคณาจารย์ นำโดยรศ.ดร.วิทยาธร ท่อแก้ว ประธานหลักสูตรปรัชญาดุษฏีบัณฑิต ผศ.ดร.สุภาภรณ์ ศรีดี ประธานกรรมการประจำหลักสูตรสาขานิเทศศาสตร์(คณบดี)และกรรมการหลักสูตร อ.ดร.กานต์ บุญศิริ กรรมการหลักสูตร ประชุมวิชาการ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้หัวข้อ “การประชุมเอเชียครั้งที่ 10 “The Asian Conference on Media, Communication & Film” (MediAsia 2019) ในงานประชุมนำเสนองานวิจัยนานาชาติ ซึ่งจัดโดย The International Academic Forum (IAFOR)
รศ.ดร.วิทยาธร ท่อแก้ว ในฐานะ Session Chair และผู้นำเสนอ ได้นำเสนองานวิจัยในวันที่ 27 ตุลาคม 2562 ภายใต้ชื่อ “กลยุทธ์การรณรงค์หาเสียงการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี” (Mayor Election Campaign Strategies) งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากลยุทธ์การรณรงค์หาเสียงการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี เกี่ยวกับ กระบวนการรณรงค์ กลยุทธ์การใช้สื่อดั้งเดิม กลยุทธ์การใช้สื่อใหม่ และคือ แนวทางการพัฒนากลยุทธ์การรณรงค์ โดยมุ่งเน้นศึกษาจากนายกเทศมนตรีที่ประสบความสำเร็จในการรณรงค์ เพื่อนำข้อค้นพบไปพัฒนาการรณรงค์หาเสียงการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี ต่อไป
งานวิจัยดังกล่าวเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการสังเกตแบบมีส่วนร่วมและการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้ให้ข้อมูลหลัก รวมจำนวน 12 คน ได้แก่ นายกเทศมนตรี 3 คน และทีมผู้จัดการการหาเสียงการเลือกตั้ง 9 คน เลือกผู้ให้ข้อมูลหลักแบบเจาะจง ซึ่งเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องในการรณรงค์หาเสียงการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี ใช้แบบสังเกตและแบบสัมภาษณ์เชิงลึกในการเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการพรรณนาวิเคราะห์
ในงานวิจัย ของ รศ.ดร.วิทยาธร ครั้งนี้ พบว่า กลยุทธ์การรณรงค์หาเสียงการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี ที่น่าสนใจ คือ
1. กระบวนการรณรงค์ คือ ขั้นที่หนึ่งศึกษาความต้องการการพัฒนา คุณลักษณะนายกเทศมนตรีที่พึงประสงค์ วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อนผู้สมัคร และหลักเกณฑ์การเลือกตั้ง ขั้นที่สอง วางแผนด้านนโยบายการพัฒนา การพัฒนาคุณลักษณะผู้สมัคร การสร้างเครือข่ายผู้สนับสนุน และการใช้สื่อในการรณรงค์ ขั้นที่สาม ดำเนินการรณรงค์โดยมีการจัดโครงสร้างการทำงาน จัดทีมบุคลากร และเทคโนโลยี ขั้นที่สี่ การประเมินผลกระแสความนิยม การรับรู้ ทัศนคติ การตัดสินใจเลือก จุดอ่อน จุดแข็งผู้สมัคร และแนวทางการแก้ไข
2. กลยุทธ์การใช้สื่อดั้งเดิม งานวิจัยพบว่า ประการแรก ใช้สื่อบุคคลในรูปแบบการปราศรัยย่อย ปราศรัยใหญ่ การเยี่ยมแบบเคาะประตู การสนทนาในวงสภากาแฟ เพื่อสร้างการรับรู้ข้อมูลของผู้สมัครและนโยบายการพัฒนา เน้นการเข้าถึงปัญหา สร้างความใกล้ชิด และการบอกต่อ ประการที่สอง สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทแผ่นพับเพื่อขยายข่าวสารในวงกว้างและการอ่านทบทวนซ้ำได้ ประการที่สาม ใช้สื่อแผ่นป้ายในการตอกย้ำประวัติ ผลงาน และนโยบายการพัฒนา และประการที่สี่ ใช้สื่อรถแห่ในการตอกย้ำชื่อทีม หมายเลขผู้สมัคร และนโยบายการพัฒนา
3. กลยุทธ์การใช้สื่อใหม่ ค้นพบอย่างน่าสนใจ คือ ประการแรก ใช้สื่อเว็บไซต์ในการนำเสนอข้อมูลของผู้สมัครที่เป็นทางการ ประการที่สอง ใช้สื่อเฟซบุ๊กในการนำเสนอข้อมูลผู้สมัครที่ไม่เป็นทางการ ประการที่สาม ใช้สื่อยูทูในการนำเสนอความเป็นรูปธรรมผ่านภาพและเสียงเกี่ยวกับความมุ่งมั่น ความตั้งใจ และนโยบายการพัฒนา และประการที่สี่ ใช้สื่อโปรแกรมประยุกต์ไลน์ในการนำเสนอข้อมูลของผู้สมัคร การสร้างกระแส การตอบโต้ ที่รวดเร็ว ใกล้ชิด และสร้างความเป็นกันเอง
4. แนวทางการพัฒนากลยุทธ์การรณรงค์ จากงานวิจัยในครั้งนี้พบว่า ประการแรก คือ บูรณาการใช้สื่อให้เกิดกระแสความนิยมอย่างต่อเนื่อง ประการที่สอง การสร้างเครือข่ายผู้สนับสนุนที่เข้มแข็ง ประการที่สามออกแบบนโยบายให้สื่อความหมายได้อย่างรวดเร็ว และตรงความต้องการ และประการที่สี่จัดระบบการบริหารสำนักงานการรณรงค์แบบสำนักงานอัจฉริยะ
เวทีการเผยแพร่องค์ความรู้ระดับนานาชาติที่ได้จากการวิจัยสู่สาธารณะในแวดวงวิชาการ มุ่งแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิด และประสบการณ์ด้านวิชาการของคณาจารย์แขนงวิชาวัตกรรมการสื่อสารการเมืองและการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ด้วยแนวคิดการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ทางนวัตกรรมการสื่อสารและศักยภาพของคณาจารย์ที่เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้โดยหลักยึดที่สำคัญ คือ “พัฒนาการวิจัย เพื่อพัฒนาสังคม”
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: