บาลีวันละคำ โดย นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย (รน.ปธ.9) ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ผู้ประพันธ์บทกาพย์เห่เรือในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค
ข่าว น่าน วันนี้ 27 ตุลาคม 2562 77ข่าวเด็ด น่าน ขอน้ำเสนอบทความก่อนที่จะเกิดเป็นบาลีวันละคำ โดยไม่ตัดบทความส่วนใดส่วนหนึ่งออก ขอแบ่งเป็น ปฐมบท ตรี โท เอก ดังนี้
ทองย้อย แสงสินชัย 18 กุมภาพันธ์ 2012
ในช่วงวันครูเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผมได้ฟังเพลงวันครูบางเพลง เช่นเพลงแม่พิมพ์ของชาติ ที่วงจันทร์ ไพโรจน์ เป็นผู้ขับร้อง ซึ่งมีคำขึ้นต้นว่า “แสงเรืองเรืองที่ส่องประเทืองอยู่ทั่วเมืองไทย” ฟังแล้วก็สงสัยว่า เพลงนี้ใครเป็นผู้แต่ง
อีกเพลงหนึ่ง เป็นเพลงใหม่กว่าแม่พิมพ์ของชาติ ชื่อเพลงครูบนดอย มีคำขึ้นต้นว่า “หวีดหวิววังเวงเพลงแห่งพนา ที่อยู่บนดอยเสียดฟ้า ยากหาผู้ใดกลายกล้ำ” เพลงนี้ที่ผมได้ฟังตอนแรกก็ไม่รู้ว่าผู้ร้องเป็นใคร แต่ผู้ที่รู้เขาบอกว่าคนร้องชื่อ ฝน ธนสุนทร แต่เมื่อถามต่อไปว่า แล้วใครเป็นคนแต่ง ผู้ที่รู้ชื่อคนร้องก็กลายเป็นผู้ที่ไม่รู้ชื่อคนแต่งไปอีกคนหนึ่ง
เพลงดังๆ หลายเพลงที่คนในบ้านเมืองร้องกันได้ทั่วไป เรามักจะรู้จักชื่อคนที่ร้องต้นฉบับ หรือคนที่เอามาร้องต่อจนดังกว่าคนแรกก็มี อย่างเพลงค่าน้ำนม ที่เราคุ้นหูกันว่า ชาญ เย็นแข ร้อง ผู้รู้ท่านบอกว่าคนที่ร้องคนแรก ไม่ใช่ ชาญ เย็นแข แต่เป็น สมยศ ทัศนพันธ์ แต่ฉบับที่สมยศร้องก็ไม่มีใครในวันนี้เคยได้ฟังเหมือนกับที่ชาญร้อง อย่างไรก็ตาม พอถามว่า แล้วใครเป็นผู้แต่งเพลงค่าน้ำนม ทุกคนก็ได้แต่มองหน้ากัน ที่ว่ามานี้คือปรากฏการณ์จริงที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย คือ-ชื่นชมคนร้อง แต่ไม่ยกย่องคนแต่ง
ข่าวน่าสนใจ:
ที่มา ทองย้อย แสงสินชัย
ทองย้อย แสงสินชัย 20 กุมภาพันธ์ 2012
นอกจากเพลงแล้ว ปรากฏการณ์ “ไม่ยกย่องคนแต่ง” ที่เกิดขึ้นอีกอย่างดาษดื่นก็คือ บทประพันธ์เช่นกาพย์กลอน ที่นิยมนำไปอ่าน นำไปอ้างเฉพาะตัวบทประพันธ์ แต่ไม่บอกว่าใครเป็นผู้แต่ง ตัวอย่างก็เช่น “พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา” นิยมนำไปอ่านอ้างในงานศพกันอยู่เสมอ ร้อยทั้งร้อยไม่ได้บอกว่าใครแต่ง
ใกล้เข้ามาอีกหน่อย “สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม คนหนึ่งตาแหลมคม เห็นดวงดาวอยู่พราวพราย” ไม่บอกไว้อีกเหมือนกันว่าใครแต่ง ใกล้เข้ามาอีก “เมื่อเจ้ามามีอะไรมาด้วยเจ้า เจ้าจะเอาแต่สุขสนุกไฉน เมื่อเจ้ามามือเปล่าจะเอาอะไร เจ้าก็ไปมือเปล่าเหมือนเจ้ามา ใครแต่ง? ไม่รู้
ทีนี้ใกล้ตัวเลย เพราะผู้แต่งยังเดินไปมาอยู่ในสังคมปะปนอยู่กับพวกเรา สำนึกวันเกิด “งานวันเกิดยิ่งใหญ่ใครคนนั้น ฉลองกันในกลุ่มผู้ลุ่มหลง หลงลาภยศสรรเสริญเพลินทะนง วันเกิดส่งชีพสั้นเร่งวันตาย ณ มุมหนึ่งซึ่งเหงาน่าเศร้าแท้ หญิงแก่แก่นั่งหงอยและคอยหาย โอ้วันนี้ในวันนั้นอันตราย แม่คลอดสายโลหิตแทบปลิดชนม์ วันเกิดลูกเกือบคล้ายวันตายแม่ เจ็บท้องแม้เท่าไหร่ก็ไม่บ่น กว่าอุ้มท้องกว่าคลอดรอดเป็นคน เติบโตจนบัดนี้นี่เพราะใคร แม่เจ็บเจียนขาดใจในวันนั้น กลับเป็นวันลูกฉลองกันผ่องใส ได้ชีวิตแล้วก็เหลิงระเริงใจ ลืมผู้ให้ชีวิตอนิจจา ไฉนเราเรียกกันว่า “วันเกิด” “วันผู้ให้กำเนิด” จะถูกกว่า คำอวยพรที่เขียนควรเปลี่ยนมา “ให้มารดาคุณเป็นสุข” จึงถูกแท้ เลิกจัดงานวันเกิดกันเถิดนะ ควรแต่จะคุกเข่ากราบเท้าแม่ ระลึกถึงพระคุณอบอุ่นแด อย่ามัวแต่จัดงานประจานตัว.ใครทราบบ้างว่า กลอนบทนี้ใครแต่ง?
ที่มา ทองย้อย แสงสินชัย
ทองย้อย แสงสินชัย 21 กุมภาพันธ์ 2012
บังเอิญผมมีความจำเป็นจะต้องเอากลอนบทนี้ (สำนึกวันเกิด) ไปใช้ในกิจอย่างหนึ่ง จึงต้องขวนขวายหาเป็นการใหญ่ หากลอนด้วย หาชื่อผู้แต่งด้วยแหล่งที่พึ่งพิงสำคัญก็เหมือนกับใครๆ ในยุคนี้แหละครับ อินเตอเนตัง สะระณัง คัจฉามิ
ท่านเชื่อหรือไม่ว่า มีกลอนบทนี้อยู่ใน web ต่างๆ มากพอสมควร และท่านจะเชื่อหรือไม่ว่าทุก web ประพฤติเหมือนกันหมด คือ ขึ้นต้นและลงท้ายไปเฉยๆ โดยไม่สนใจที่จะบอกไว้ว่าใครเป็นผู้แต่ง แค่ไม่บอกนี่ก็น่าสลดใจเป็นที่สุดอยู่แล้ว แต่นี่ไม่มีแสดงวี่แววแต่อย่างใดทั้งสิ้นว่าอยากรู้ว่าใครแต่ง เรียกว่าขาดนิสัยใฝ่รู้โดยสิ้นเชิง หรือแม้แต่จะบอกความเขลาของตัวเองไว้สักนิดว่า “ไม่ทราบนามผู้แต่ง” ก็ไม่มี !
เป็นการเอาผลผลิตของผู้อื่นมาบริโภคอย่างหน้าตาเฉย โดยไม่มีความรู้สึกสักนิดว่า ควรจะทำอะไรบ้างกับผู้ผลิต เวลานี้เป็นกันอย่างนี้ไปหมดแล้วครับ จะเรียกว่า เป็นกันหมดทั้งบ้านทั้งเมือง ก็น่าจะไม่เกินความจริง เฉพาะกลอน สำนึกวันเกิด นี่ พอดีผมเฉลียวใจอยู่ลึกๆ ว่าน่าจะเป็นของท่านอาจารย์นภาลัย สุวรรณธาดา (นามสกุลเดิม ฤกษ์ชนะ สามีของท่านคือ อาจารย์อำพล สุวรรณธาดา) ที่แต่งกลอนบทที่ลงท้ายว่า
“ถ้าคนไทยหันมาฆ่ากันเอง จะร้องเพลงชาติไทยให้ใครฟัง” เมื่อเฉลียวใจอย่างนั้น ก็ต้องค้น ก็ค้นจนเจอหลักฐานที่ระบุยืนยันว่า กลอน สำนึกวันเกิด นั้นท่านอาจารย์นภาลัย สุวรรณธาดา เป็นผู้แต่งจริงๆ แต่กว่าจะเจอ เจ้าประคุณเอ๋ย จะบอกว่า เลือดตาแทบกระเด็น ก็จะว่าเว่อไป ใครที่ไม่มีใจอยากรู้จริงๆ หรือจำเป็นจริงๆ ผมว่าคงไม่มีกำลังใจที่จะค้น เพราะเหมือนกับทุกแหล่งทุกที่จะพยายามซุกซ่อนชื่อคนแต่งเอาไว้ให้ลี้ลับที่สุด ที่เอาไปอ้างแล้วบอกชื่อผู้แต่งก็มีครับ ไม่ใช่ไม่มี แต่มีน้อย และมีเหมือนไม่อยากให้ใครเห็น ถ้าไม่ตั้งใจหา ก็จะไม่พบ
ที่มา ทองย้อย แสงสินชัย
ทองย้อย แสงสินชัย 22 กุมภาพันธ์ 2012
ที่ผมรำพันมาในตอนก่อนๆ นั้น ผมหมายถึงอาการที่ปรากฏในสื่อต่างๆ ที่กำลังท่วมตาท่วมหูผู้คนในสังคม รวมทั้งที่นิยมประพฤติกันในที่ทั่วๆ ไปอยู่ในขณะนี้ ถ้าเป็นเพลง ก็บอกชื่อคนร้อง แต่ไม่บอกชื่อคนแต่ง ถ้าเป็นกลอน ก็มีแต่บทกลอน แต่ไม่บอกว่าใครแต่ง เป็นอย่างนี้แทบทั้งนั้น สภาพเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย
ถ้าเราปลูกหรือปลุกสำนึกให้คนในชาติรู้สึกอายแก่ใจที่จะนำเอาบทเพลงหรือบทประพันธ์ใดๆ จะใหม่หรือเก่าถึงยุคไหนก็ตาม ไปร้อง ไปอ่าน ไปอ้าง ไปเผยแพร่ ไม่ว่าจะในที่ใดๆ หรือโดยรูปแบบใดๆ โดยไม่ได้บอกไว้ด้วยว่าใครเป็นผู้แต่ง ให้เรารู้สึกละอายที่จะทำเช่นนั้น แต่เวลานี้ตรงกันข้ามแล้วครับ
การนำเอาบทประพันธ์ไปอ่าน ไปอ้าง โดยไม่ต้องบอกนามผู้แต่งกลายเป็นสิ่งถูกต้อง ชอบธรรม และประพฤติกันทั่วไป โดยผู้ประพฤติไม่รู้สึกสะดุ้งสะเทือนใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีนิสัยใฝ่รู้ (เช่นอยากรู้ว่าใครเป็นผู้แต่งเพลงนี้ แต่งบทประพันธ์นั้น) ก็นับว่าเสื่อมมากแล้ว แต่การไม่ให้เกียรติผู้แต่ง ต้องนับว่าเรามาถึงยุคที่วัฒนธรรมของชาติเสื่อมสุดๆ กันแล้วครับ
ต่อไป จะถึงยุคที่ผู้แต่งจะต้องไปกราบเท้าขอบคุณผู้เอาบทเพลงหรือบทประพันธ์ของเขาไปร้อง ไปอ่าน ไปอ้าง เหมือนแม่งัวขอนมลูกกิน ในพุทธทำนาย ความฝันของผมก็คือ ทำอย่างไรหนอ ทุกครั้งที่ฟังเพลง คนฟังจะรู้ชื่อคนแต่งพอๆ กับรู้ชื่อคนร้อง ทุกครั้งที่อ่านกลอน คนอ่านจะรู้ได้ทันทีว่ากลอนบทนี้ใครแต่ง ท่านผู้ใดจะแสดงความคิดเห็นอย่างไร เชิญตามอัธยาศัยครับ
ที่มา ทองย้อย แสงสินชัย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: