บ้านน้ำงาว เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ของชาวเผ่าเมี่ยน หรือเย้าที่เราคุ้นเคยกัน ตั้งอยู่เชิงดอยน้ำงาวในเขต ต.บ่อ อ.เมือง จ.น่าน ห่างจากตัวเมืองน่านไปราว 35 กม. หมู่บ้านแห่งนี้ก็เป็นเหมือนหมู่บ้านของชาวเขาทั่วไปคือทำไร่ โดยใช้ที่ดินบนดอยเป็นที่ทำกิน หักร้าง ถางพง หมดภูเขากันเป็นลูกๆ แล้วส่วนใหญ่ก็จะปลูกข้าวไร่ หรือข้าวโพด ข้าวไร่นั้นให้ผลผลิตน้อย แต่ใช้พื้นที่มาก และปริมาณผลผลิตจะลดลงตามความสมบูรณ์ของหน้าดิน ส่วนข่าวโพดนั้น สำหรับที่น่านนั้นเป็นที่รู้กันว่าวงจรข้าวโพดอาหารสัตว์เป็นอย่างไร แต่ยิ่งทำยิ่งเป็นหนี้ ทั้งหนี้เมล็ดพันธุ์ หนี้ยาฆ่าแมลง แรงงานที่ลงไปในไร่ในแต่ละวัน เมื่อคิดคำนวณถึงผลตอบแทนแล้วแทบไม่คุ้มค่า ซ้ำแรงงานเองยังสะสมสารเคมี แผ่นดินต้นน้ำก็กลายเป็นแผ่นดินที่อุดมด้วนสารเคมี ผลกระทบมันมีตั้งแต่คนบนดอยที่เรียกว่าต้นน้ำจนถึงคนท้ายน้ำ สกู๊ปข่าวทีวีช่องหนึ่งเคยรายงานว่า ตัวแม่น้ำน่านเองนั้นมีสารเคมีปนเปื้อนค่อนข้างมาก อย่าว่าถึงการใช้น้ำในแม่น้ำน่านซักล้างเสื้อผ้าหรือนำมาดื่มกินเลย น้ำน่านทำได้แค่เอามาแข่งเรือ น้ำที่แดงเป็นสีขุ่นตลอดเวลานั้นสะท้อนว่าหน้าดินมันถูกทำลาย เป็นเครื่องบ่งชี้ชัดว่าวิกฤตป่าเมืองน่านนั้นหนักหนาสาหัส
ก่อนนี้ผมก็เคยชี้นิ้วว่าคนบนดอยถึงกรณีแบบนี้เช่นกัน แต่เมื่อไปเห็นก็เข้าใจเขา ไม่ใช่ว่าเขาอยากทำแต่เป็นเพราะไม่มีทางเลือกมากนัก ทีนี้แหละจึงเป็นบทบาทของหน่วยงานราชการ ที่ต้องเข้ามาแก้ไขปัญหา แก้ปัญหาทั้งความเป็นอยู่ของชาวบ้านและแก้ปัญหาทั้งสภาพป่าต้นน้ำ ที่มีสภาพเป็นเขาหัวโล้นให้กลับคืนมาเป็นป่าที่สมบูรณ์ให้ได้
ในส่วนของกรมอุทยานแห่งชาติฯ นั้น งานที่จะอนุรักษ์ป่าต้นน้ำก็เป็นหน้าที่ของสำนักอนุรักษ์ต้นน้ำที่จะต้องมีหน้าที่ฟื้นฟู ผมขี้เกียจจะไปฟื้นฝอยหาตะเข็บว่าทำไมจึงปล่อยให้ป่าถูกโค่นหมดเขาเป็นลูกๆได้ขนาดนี้ แต่เรามานับจุดเริ่มต้นวันนี้ดีกว่า โดยเขาเริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2557 มีการไปพูดคุยกับชาวบ้านที่เคยเป็นเจ้าของที่ทำกินบนดอยต่างๆ เพื่อขอที่ดินทำกินที่เคยอยู่บนยอดเขานั้นกลับคืนมาแล้วเอามาฟื้นฟูสภาพป่าเสียใหม่ ผู้อ่านคิดว่าใครจะยอม แม้ที่ดินจะให้ผลผลิตน้อยลงแต่ก็ยังดีกว่าไม่มีที่ทำกิน แต่ทางการเขามารูปแบบใหม่ คือใช้การเจรจาเป็นหลักและดูแลคุณภาพชีวิตหลังจากนั้น โดยใช้โอกาสมหามงคลที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระชนมายุครบ 60 พรรษาในวันที่ 2 เมษายน 2558 นั้นเป็นจุดร่วม ชาวบ้านก็คืนให้ด้วยความสมัครใจ 23 ราย ได้ที่ดินประมาณ 4,000 ไร่คืนมา เป็นต้นน้ำของลุ่มน้ำงาว ที่ไหลลงทาง อ.ท่าวังผา และลุ่มน้ำอื่นๆรอบดอยน้ำงาวที่จะได้อานิสงส์เมื่อป่าฟื้นคืนสภาพเป็นต้นน้ำ
แล้วนอกจากจะสร้างป่าให้ชุมชน สร้างต้นน้ำให้แผ่นดินแล้ว หน่วยอนุรักษ์ต้นน้ำเขาจะสร้างดอยน้ำงาวแห่งนี้ ให้เป็นป่าต้นน้ำที่เที่ยวได้ ด้วยทำเลที่ตั้งที่สวยงาม อยู่บนยอดเขาที่สูงกว่า 820 เมตร มองทิวทัศน์ได้เกือบรอบ ดูพระอาทิตย์ขึ้นและตกได้สบายๆ มีทะเลหมอกทั้งในฤดูฝนและฤดูหนาว อากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี ถือเป็นทำเลที่สวย แล้วหน่วยอนุรักษ์ต้นน้ำนี้สร้างขุนห้วยแม่ยะ สร้างป่าเกี๊ยะ สร้างภูลมโลให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมาแล้ว มาวันนี้เขาปลูกต้นพญาเสือโคร่ง ปลูกต้นเสี้ยว และพืชพันธุ์ไม้พื้นเมืองอื่นๆ ให้พื้นที่ที่เคยเป็นไร่ ได้กลับมาเป็นป่าต้นน้ำทำหน้าที่ผลิตน้ำที่สะอาดคืนให้แผ่นดิน แล้วสร้างแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติไว้ให้กับคนบ้านน้ำงาว ให้จังหวัดน่าน ไม่เกิน 5 ปี แค่ต้นนางพญาเสือโครงสูงสัก 2 เมตรก็จะเริ่มมีดอกให้ได้ดู ให้ได้เก็บกินผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อตอบแทนชาวบ้านน้ำงาว ที่นำที่ดินมาสร้างป่าคืนให้แผ่นดิน
ทิวทัศน์บนดอยน้ำงาว
ทุกวันนี้ถ้าไปน่านแล้วล้นหรือเบื่อดอยเสมอดาว ทำไมไม่ลองมาดอยน้ำงาวแห่งนี้บ้างละครับ มาเที่ยวดูวิถีชนเผ่าเมี่ยน ที่เด็กๆแต่งชุดชนเผ่าไปโรงเรียนในวันศุกร์ มาชิมน้ำเต้าหู้ที่เขาส่งออกคนขายน้ำเต้าหู้ไปทั่วประเทศ เหมือนคนเมืองเลยไปขายล๊อตเตอรี่ แล้วขึ้นไปนอนบนยอดดอยน้ำงาว ที่ระยะทาง 5 กม.จากหมู่บ้านขึ้นดอย (หน้าหนาวรถปิคอัพขึ้นได้สบาย แต่หน้าฝนจะเป็นทางออฟโรด) เป็นเส้นทางขี่เสือภูเขาแบบดาวน์ฮิลได้ ซื้อผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้าน หัตถกรรมผ้าทอของเผ่าเมี่ยน หรือห้างร้าน บริษัทจะไปร่วมปลูกป่าในโอกาสต่างๆก็ได้ ติดต่อรถขึ้นดอยที่ผู้ใหญ่สาโรจน์ โทร.09-5698-9387
ทิวทัศน์บนดอยน้ำงาว
ที่ว่ามาทั้งหมด เพื่อให้กำลังใจทั้งชาวบ้านและหน่วยงานที่พยายามจะสร้างผืนป่ากลับคืนมา ไปเห็นและรู้จักกัน เราจะเข้าใจกันและรักกันมากขึ้น ที่เคยชี้นิ้วกล่าวว่ากัน ก็จะกลายเป็นมาช่วยกัน ป่าสร้างขึ้นได้ขอเพียงจริงใจ
…..มิตรภาพก็เช่นกัน
…………………………………………..
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: