มสพช.จับมือ สสส.เปิดเวทีการจัดการสุขภาพใหม่ เพื่อเผชิญ NCDs ท่ามกลางสังคมพลวัต เตรียมความพร้อมดูแลสุขภาพก่อนเกษียณ
วันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (มสพช.)และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และองค์กรภาคี จัดการประชุมวิชาการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิและระบบสุขภาพชุมชน ปี พ.ศ.2562 ในหัวข้อเรื่องการจัดการสุขภาพในสังคมพลวัต ในระหว่างวันที่ 6-7 พฤศจิกายน พ.ศ.2562 เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิและสุขภาพชุมชนที่ใช้ฐานสาธารณสุขมูลฐาน บทเรียนการทำงานภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ สังคมดิจิตัล มีปัญหาสุขภาพและสังคมที่ซับซ้อน โดยได้รับเกียรติจาก ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธานในพิธีเปิดและร่วมบรรยายพิเศษ ซึ่งมีผู้แทนจากภาคีเครือข่ายเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (มสพช.) กล่าวว่า การทำงานสาธารณสุขมูลฐานและการดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิโดยยึดหลักกลไกการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ตามคำประกาศอัลมา อตา ปี พ.ศ.2521 และคำประกาศอัสตานา ปี พ.ศ.2561 จะสามารถเพิ่มความครอบคลุม และความเท่าเทียมการเข้าถึงบริการ และเพิ่มความมีประสิทธิภาพของระบบบริการ สำหรับประชาชนส่วนใหญ่ให้มีสุขภาวะที่ดีทั้งกาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณ
ศ.เกียรติคุณพญ.วรรณี นิธิยานันท์ ประธานสมาพันธ์เครือข่าย NCD ประเทศไทย (Thai NCD Alliance) กล่าวว่า สังคมผู้สูงอายุจะเผชิญกับปัญหากลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่พบบ่อยคือ โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขในทุกประเทศทั่วโลกและประเทศไทย โดยโรคจะก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆ ใช้เวลา 10-20 ปี โดยไม่ปรากฏอาการ เมื่อถึงจุดที่โรคเปิดเผยตัวจะมีอาการเจ็บป่วยที่รุนแรง ทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร หรือเกิดภาวะทุพลภาพ ไม่สามารถทำงานหรือช่วยเหลือตนเองได้ ที่สำคัญคือเมื่อเป็น 1 โรคแล้ว มีโอกาสที่จะเป็นโรคที่ 2 ที่ 3 ตามมา “ช่วงชีวิตของคนเรา 1 ใน 5 คนจะเป็นอัมพาต 1 ใน 50 คนจะเป็นเบาหวาน ทำอย่างไรไม่ให้เราคือคนนั้น เราสามารถป้องกัน NCDs ได้ โดย “กินเป็น อยู่เป็น” กินแค่พออิ่ม อาหารรสอ่อนหวาน อ่อนเค็ม ไม่มันจัด กินผักผลไม้ทุกมื้อ ไม่ดื่มเครื่องดื่มปรุงแต่งรส ดื่มน้ำเปล่าเป็นหลัก ไม่ดื่มสุรา ไม่สูบบุหรี่ ออกกำลังกายประจำ รู้จักผ่อนคลายไม่เครียด ปรับสิ่งแวดล้อมให้ปลอดมลพิษ โดยดูว่าน้ำหนักตัว รอบพุง และความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน หรือถ้าเป็นโรคแล้วก็จะทำให้โรคสงบ ไม่รุนแรงขึ้นและไม่เพิ่มโรคมาอีก หากอยู่ในวัยสูงอายุ การกินเป็นอยู่เป็นจะชะลอเวลาการเกิดโรคให้ช้าออกไปได้ ที่สำคัญ อยากให้ทุกคน ลดการบริโภคน้ำตาลและเกลือโซเดียมบริโภคอาหารมันหรืออาหารทอดน้ำมันแต่น้อยเพื่อให้ตนเองมีสุขภาพดี
นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผอ.สำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สสส.ดำเนินงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้ “ยุทธศาสตร์ไตรพลัง” ตามคำประกาศออตตาวา (Ottawa Charter) เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ 5 ด้าน ได้แก่ สร้างนโยบายสุขภาพ สร้างสภาพแวดล้อม สนับสนุนกิจกรรมชุมชน พัฒนาทักษะบุคคล และพัฒนาระบบบริการสุขภาพ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมสุขภาวะ ซึ่งในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังสสส.เน้นการพัฒนาและจัดการความรู้ สนับสนุนให้เกิดการจัดสิ่งแวดล้อมทางกฏหมายและทางสังคม อาทิ การผลักดันนโยบายที่เอื้อต่อพฤติกรรมสุขภาวะ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงด้านยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มปัจจัยเสริมด้านอาหารเพื่อสุขภาวะและการเพิ่มกิจกรรมทางกาย ใช้การสื่อสารการตลาดเพื่อรณรงค์ปรับเปลี่ยนค่านิยมวัฒนธรรม ขยายแนวคิดความ รอบรู้ด้านสุขภาพให้เหมาะสมตามกลุ่มวัย ตั้งแต่วัยเด็กเยาวชน วัยทำงาน ผู้สูงวัย ตลอดจนประชากรกลุ่มเฉพาะ เช่น ผู้พิการ กลุ่มสถานะบุคคล ขับเคลื่อนงานลงสู่พื้นที่เป้าหมาย อาทิ สถานประกอบการ สถานศึกษา ชุมชน ครอบครัว อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสนับสนุนการทำงานของภาคีภายใต้กลไกที่หลากหลายเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นที่
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: