กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดงานนวัตกรรมเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ เตรียมความพร้อมรองรับสังคมผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ
พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานเปิดงาน ผู้สูงอายุไทย ก้าวไกล ไทยแลนด์ 4.0 “นวัตกรรมเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ” (Age-Friendly City) พร้อมทั้งมอบโล่เชิดชูเกียรติให้กับหน่วยงาน องค์กร และสถานประกอบการที่สนับสนุนการสร้างชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ จำนวน 10 แห่ง
โดยมีผู้เข้าร่วมงานจำนวนทั้งสิ้น 300 คน ประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักการโยธาและสำนักงานเขต กรุงเทพมหานคร ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุและศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ เป็นต้น รวมทั้งผู้แทนภาคเอกชน
ปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ ในปี พ.ศ. 2564 โดยคาดว่าจะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ ขณะนี้มีประชากรสูงอายุอยู่ประมาณ 10.78 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 16.5 ของประชากรทั้งประเทศ
ทั้งนี้ จำเป็นต้องสร้างเมืองหรือชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ และส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเป็น Active Ageing เพื่อให้สามารถเข้าถึงโอกาสด้านสุขภาพ การมีส่วนร่วม และความมั่นคงปลอดภัย ส่งผลให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี และดำเนินชีวิตในชุมชน สังคม ได้อย่างปกติสุข
ตามคำนิยามขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดไว้ว่า เมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ คือเมืองที่ผู้ให้บริการด้านต่างๆเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้นำชุมชน ผู้นำความเชื่อ ศาสนา คนในภาคธุรกิจเอกชน และความเป็นพลเมือง การเห็นคุณค่าในความหลากหลายในกลุ่มวัยผู้สูงอายุ
และความสำคัญของสุขภาพของผู้สูงอายุต้องมีการสนับสนุนและสร้างการมีส่วนร่วม และการแบ่งปันของผู้สูงอายุในทุกๆ ด้านของชีวิตในชุมชน การเคารพการตัดสินใจของผู้สูงอายุ และทางเลือกในวิถีการใช้ชีวิต เป็นต้น
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนภารกิจในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ ทั้งในด้านการจัดสวัสดิการ การคุ้มครองพิทักษ์สิทธิ และการเตรียมความพร้อมประชากรสู่วัยสูงอายุอย่างมีคุณภาพ
รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านสุขภาพ ในการนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและตอบสนองความต้องการบริการด้านสุขภาพ เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถดำรงชีวิตอย่างมีความสุข ด้วยสุขภาพที่ดีและปลอดภัย ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนงานด้านต่างๆ
ทั้งการจัดสภาพแวดล้อมในระดับชุมชนและเมืองที่มีความปลอดภัยและเอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ (Age-Friendly Cities and Communities) การจัดบริการสาธารณะต่างๆ การจัดสถานที่ เพื่อให้การดูแลผู้สูงอายุอย่างเป็นระบบ มีบริการที่จำเป็น (Aged Care Facilities and Institute Care) และภูมิปัญญาด้านสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม (Local Aged Caring Environment)
ที่เป็นนวัตกรรมด้วยความคิดริเริ่มของชาวบ้านโดยใช้ภูมิปัญญาในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ซึ่งครอบคลุมทั้งในด้านสภาวะแวดล้อมทางบุคคล (Individual Environment) ทางสังคม (Social Environment) และทางกายภาพ (Physical Environment)
นอกจากนี้ พม. โดย ผส. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาประเทศภายใต้ “ไทยแลนด์ 4.0” จึงได้กำหนด Road Map ด้านนวัตกรรมประจำเดือนตลอดทั้งปีงบประมาณปี 2561 ภายใต้โครงการ “ผู้สูงอายุไทย ก้าวไกล ไทยแลนด์ 4.0” โดยใช้แนวทางสานพลังประชารัฐตามนโยบายของรัฐบาล
ที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน สำหรับเดือนพฤษภาคม 2561 ได้กำหนดจัดงาน นวัตกรรมเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ (Age – Friendly City) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมทุกภาคส่วนให้ความสำคัญและสร้างความตระหนักให้แก่ครอบครัว ชุมชน และสังคม รวมทั้งภาคีเครือข่าย เสริมสร้างชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ
ด้วยการคิดค้น พัฒนานวัตกรรมและองค์ความรู้ในการปรับสภาพแวดล้อมสิ่งอำนวยความสะดวกให้เหมาะสมและปลอดภัยกับผู้สูงอายุ โดยมีกรอบการพิจารณาเมืองน่าอยู่สำหรับผู้สูงอายุทั้งหมด 8 ประเด็น ดังนี้ 1 ที่อยู่อาศัย, 2 การเข้าไปมีส่วนร่วมในสังคม, 3 การได้รับการยอมรับในสังคม, 4 การมีส่วนร่วมของท้องถิ่นและการจ้างงาน, 5 การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร, 6 การสนับสนุนของชุมชนและการบริการด้านสุขภาพ, 7 สภาพพื้นที่ภายนอกและตัวอาคาร และ ระบบขนส่งมวลชน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: