เทศบาลตำบลสุนทรภู่จัดงานบวงสรวงท่านสุนทรภู่กวีเอกของโลกท่ามกลางสายฝนที่โปรยปราย
เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 26 มิถุนายน 2563 ณ ลานอนุสาวรีย์สุนทรภู่ ต.กร่ำ อ.แกลง จ.ระยอง นายคเชนทร์ แจ่มใส นายกเทศมนตรีตำบลสุนทร พร้อมด้วยนายทิม บุญรอด ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดระยอง นางศุภดี วิถีธรรมศักดิ์ วัฒนธรรมจังหวัดระยอง นางประชิด ชินราช ประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดระยอง ดร.กนกวรรณ เบญจาทิกุล ส.อบจ.ระยอง เขตแกลง นายภัคป์พิภพ นิธิขวัญจิตต์ ส.อบจ.ระยอง เขตกร่ำ พ.ต.อ.พิสิษฐ์ พูลทรัพย์ ผกก.สภ.บ้านกร่ำ ดร.วัลลภ รองพล ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอแกลงประธาน นายศักดา สรรเสริญ ผู้อำนวยการโรงเรียนสุนทรภู่พิทยา ผู้บริหารเทศบาล ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ภาคเอกชน บริษัทห้างร้าน ร่วมพิธีบวงสรวงวันคล้ายวันเกิดท่าสุนทรภู่ กวีเอกโลก ครั้งที่ 51 ประจำปี 2563
ซึ่งภายในงานได้มีพราหมณ์มาทำพิธีบวงสรวงดวงวิญญาณ มีการรำถวายของกลุ่มสตรีอำเภอ และถวายดอกไม้ต่อหน้าอนุสาวรีย์ท่านสุนทรภู่ ท่ามกลางสายฝนโปรยปรายตลอดเวลา ทำให้บรรยากาศเย็นฉ่ำชุ่มชื่น นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่เทศบาลเข้ามาอำนวยความสะดวกวัดอุณหภูมิ ฉีดพ่นแอลกอฮอล์ล้างมือ ให้ผู้ที่มาร่วมพิธีอีกด้วย
ข่าวน่าสนใจ:
นายคเชนทร์ แจ่มใส นายกเทศมนตรีตำบลสุนทร กล่าวว่า ณ วันนี้ เมื่อ 234 ปีล่วงพ้น ในวันจันทร์ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 8 ปีมะเมีย จุลศักราช 1148 ตรงกับวันที่26 เดือนมิถุนายน พุทธศักราช 2329 หลังจากสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีได้ 4 ปีเศษ ณ ใต้ร่มมหาบารมี จักรีบรมวงศ์ ได้มีโอกาสรับขวัญ เด็กชาย “ภู่” ซึ่งถือกำเนิดมาเพื่อเป็นแก้วกวีศรีรัตนโกสินทร์ โดยแท้บทกวีนิพนธ์ของสุนทภู่ คือความอมตะ ซึ่งอยู่ในนิมิตแห่งกาลเวลา ดุจคำคมที่ว่า “ผู้คนล้มตาย อาณาจักรพินาศสิ้นทรัพย์สินเงินทองสูญหาย แต่ศิลปวัฒนธรรมเท่านั้น ยังคงเหลือเป็นประจักษ์พยานแห่งความเป็นอัฉริยะ ของมนุษย์อยู่ตลอดกาล”
บิดาของสุนทรภู่เป็นชาวตำบลกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ส่วนมารดา นั้นเชื่อว่าเป็นชาววังหลัง สุนทรภู่ได้มีโอกาส แสดงความสามารถทางกวี ให้เป็นที่ประจักษ์หลายครั้ง หลายครา จึงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ให้เป็นพระสุนทรโวหารกวีประจำราชสำนัก
ความเป็นสุนทราอาลักษณ์ เจ้าจักรวาลที่สุนทรภู่บันทึกไว้ ด้วยความภาคภูมิใจ บทกวีนิพนธ์ของท่าน เป็นทั้งมรดกสมบัติ คู่กรุงรัตนโกสินทร์ และคู่ปฐพีแห่งโลก เป็นทั้งความอิ่มอกอิ่มใจเมื่อได้อ่าน ตลอดจนเป็นพลังปัญญา เมื่อได้สัมผัสอย่างลึกซึ้ง จินตนิพนธ์ของท่าน ได้รับการยกย่อง และบรรจุเป็นแบบเรียน ของชาวไทยจวบจนถึงปัจจุบัน
ผลงานที่เป็นวรรณกรรมอันล้ำค่าของท่านสุนทรภู่ ซึ่งเป็นมรดกตกทอดของชาติและแผ่นดิน มีนิราศ 9 เรื่อง นิทาน 5 เรื่อง สุภาษิต 3เรื่อง บทละคร 1 เรื่อง บทเสภา 2 เรื่อง และบทเห่กล่อม 4 เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นบทกวีนิพนธ์ประเภทนิราศ นิทาน คำกลอน สุภาษิตสอนใจ โดยเฉพาะจินตนิยายเรื่อง พระอภัยมณี ถือเป็นนิทานคำกลอนที่ยิ่งใหญ่และได้รับการแปลไปเผยแพร่ในหลายภาษา จนชาวโลกได้ประจักษ์ ถึงความสามารถในการเป็นกวีพยากรณ์ของสุนทรภู่ ที่มีถ้อยคำคมสมนาม งามประเสริฐเลิศล้ำคำ ดุจมณีนพรัตน์จรัสเมือง เปล่งประกาย เจิดจ้า ประดับพระมหานคร สืบทอดเป็นมรดกคู่ชาติ คู่แผ่นดินให้อนุชนชาวไทยได้ชื่นชมและภาคภูมิใจ ตราบเท่าทุกวันนี้
แม้สุนทรภู่จะละนิเวศสถาน ตลอดจนทิ้งวงวรรณกรรม กลับคืนสู่สรวงสวรรค์ชั้นกวีไปแล้ว ตั้งแต่ปีเถาะ พุทธศักราช 2398 นับถึงวันนี้เป็นเวลา 164 ปี แต่ความงดงามสมบูรณ์แบบ ที่ท่านบรรจงสร้างไว้ ในกวีนิพนธ์จำนวนมาก ยังเปล่งประกาย พิสูจน์คุณค่แห่งความเป็นคนดีของแผ่นดิน และเป็นแก้วกวีศรีรัตนโกสินทร์ อยู่มิเสื่อมคลาย
ปัจจุบันท่านสุนทรภู่ มิใช่เป็นเพียงกวีเอกของไทยเท่านั้น เพราะองค์การวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO (ยูเนสโก) ได้ประกาศยกย่องให้ท่าน เป็นกวีเอกของโลก เมื่อปีพุทธศักราช 2529 ซึ่งนับ เนื่องมาเป็นเวลา 33 ปี ถึงวันนี้
นายกเทศมนตรี กล่าวเสริมอีกว่า ปีนี้ได้งดจัดงานมหรสพสมโภช เนื่องจากอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 และขอขอบคุณชาวบ้านและภาคเอกชนที่ร่วมบริจาคงบประมาณในการจัดบวงสรวงท่านสุนทรภู่ในครั้งนี้ด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: