กระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บันทึกข้อตกลง ความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการสนับสนุนการเป็นโรงพยาบาลหลัก และโรงพยาบาลสมทบในการผลิตแพทย์ของวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ เพื่อก้าวสู่การเป็น MEDICAL HUB ของประเทศและภูมิภาค
วันที่ 17 สิงหาคม 2563 ณ ห้องประชุมประดู่ทอง ชั้น H อาคารบูรพาทิศ โรงพยาบาลระยอง ดร.สําธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ในพิธีบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการสนับสนุนการ เป็นโรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลสมทบในการผลิตแพทย์ของวิทยาลัยแพทยศาสตร์ นานาชาติจุฬาภรณ์ ระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับกระทรวงสาธารณสุข โดย รพ. ระยองและ รพ.พระนครศรีอยุธยา โดยมี นายปริญญา โพธิสัตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง รองศาสตราจารย์ นายแพทย์กัมมาล กุมาร ปาวา รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มธ.นายแพทย์ธีระชัย คงเอี่ยมตระกูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา นายแพทย์ไชยสิทธิ์ เทพชาตรี ผู้อํานวยการโรงพยาบาลระยอง พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมในพิธี
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์กัมมาล กุมาร ปาวา รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มธ. กล่าวว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผลิตบัณฑิต ไปรับใช้ประชาชนและสังคม เราเน้นการปฏิบัติงานในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา เป็นโรงพยาบาลที่มีความแข็งแกร่ง ในทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัว ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐที่กำกับไว้ในรัฐธรรมนูญ ส่วนโรงพยาบาลระยองมีความพร้อมด้านอาชีวะอนามัย มีศูนย์พิษฯ และทั้งสองแห่งมีนักท่องเที่ยวมีประชาชนที่เกี่ยวกับทัวร์ลิซึ่ม เราตั้งใจจะให้เป็นศูนย์บริการทางการแพทย์ระดับนานาชาติในอนาคต
นายแพทย์ธีระชัย คงเอี่ยมตระกูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า การได้เข้าร่วมกับโครงการฯ มีประโยชน์มาก ได้ผลิตแพทย์เพิ่มในระยะสิบปีคงจะมีแพทย์เพิ่มได้ตรงเป้าหมาย และได้รับความร่วมมืออีกหลายประการ เช่น ทางโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา จะปลูกถ่ายไต แต่ยังไม่พร้อมในหลายอย่าง เช่นขาดหมอบางสาขา ทางธรรมศาสตร์ก็จะให้ความร่วมมือ นอกจากนี้ เรายังได้มีโอกาสไปใช้ทรัพยากรร่วมกับทางธรรมศาสตร์ เช่นโปรแกรมต่างๆที่ธรรมศาสตร์จัดหา เราจะได้มีการร่วมมือในเรื่องอื่นๆเช่นการวินิจฉัยโรค ลักษณะโรคยากๆโดยไม่ต้องส่งต่อไปที่โรงเรียนแพทย์ ซึ่งเราจะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีในหลายๆเรื่อง
นายแพทย์ไชยสิทธิ์ เทพชาตรี ผู้อํานวยการโรงพยาบาลระยอง กล่าวว่า ตามที่จังหวัดระยองเป็นพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จึงต้องพัฒนาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม อุตสาหกรรม และเทคโนโลยีสารสนเทศ อีกทั้งมีจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดผลกระทบด้านสุขภาพหลายๆด้าน จากการพัฒนา EEC ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมี ประชากรถึง 13 ล้านคน ใน 10 ปีข้างหน้า มีภัยคุกคามจากสิ่งแวดล้อมและมลภาวะ อุบัติเหตุจราจร จากการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่ง และจำนวนยานพาหนะที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งเรื่องของนักท่องเที่ยวที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคอุบัติใหม่ โรคอุบัติซ้ำ จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลให้ผู้รับบริการด้านสาธารณสุขมีความคาดหวังต่อ บริการสุขภาพสูงขึ้น
โรงพยาบาลระยองเป็นโรงพยาบาลศูนย์มีศักยภาพการให้บริการทาง การแพทย์ระดับตติยภูมิ มีความเป็นเลิศในงานด้านอาชีวเวชศาสตร์ และการจัดการ ภาวะฉุกเฉิน ให้บริการแบบองค์รวมที่ได้มาตรฐานด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ ทันสมัย รวมถึงมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการรักษาหลายด้าน ด้วยศักยภาพดังกล่าว วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เล็งเห็น จึงได้มีดำริตั้งแต่ปี 2560 ที่จะร่วมมือกัน เพื่อผลิต แพทยศาสตร์บัณฑิต ซึ่งได้มีการเยี่ยมชมตลอดจนหารือถึงความเป็นไปได้ในการร่วมมือกันผลิตแพทย์ ซึ่งคณะแพทย์และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลระยองได้แสดงให้เห็นถึงความพร้อมและศักยภาพของโรงพยาบาลระยองต่อการเป็นศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษา ดังนั้น ใน วันที่14 กรกฎาคม 2563 นับเป็นวันประวัติศาสตร์ที่ทั้ง2 ฝ่าย บรรลุข้อตกลงในการ ร่วมมือผลิตแพทย์ เพื่อหล่อรวม ACADEMIC HUB/ WELLNESS HUB และ SERVICE DEPARTMENT เพื่อ การก้าวสู่การเป็น MEDICAL HUB ของประเทศและภูมิภาคต่อไป.
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: