X

ระยอง เตรียมผุดห้องเย็นทันสมัยเก็บทุเรียนป้องกันราคาตก

สกพอ.อบจ.ระยอง และกลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ระยอง หารือ บมจ.ปตท. เดินหน้าขับเคลื่อนห้องเย็นเทคโนโลยีทันสมัยควบคุมคุณภาพรสชาติผลไม้ นำร่องทุเรียน 4,000 ตัน หลังมีการลงนาม MOU ร่วมกันแล้ว หวังดันราคาทุเรียนภาคตะวันออก แก้ไขปัญหาราคาทุเรียนตกต่ำ

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ที่ห้องประชุมสวนสุภัทราแลนด์ ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง นางพจนี อรรถโรจน์ภิญโญ รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) หรือ EEC หารือกับนายชาญศักดิ์ ชื่นชม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่วิศวกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน บนิษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นายโชติชัย บัวดิษ ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ไม้ผลจังหวัดระยอง และผู้แทนนายก อบจ.ระยอง ติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างห้องเย็นเทคโนโลยีทันสมัยรักษาคุณภาพรสชาติผลไม้ ภายหลังได้มีการลงนาม MOU บันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาผลไม้อย่างครบวงจรในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC)กันมาแล้วตั้งแต่วันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา ภายใต้โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก(Eastern Fruit Corridor : EFC)และแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

นางพจนี อรรถโรจน์ภิญโญ รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC กล่าวว่า หลังลงนามกัน 3 ฝ่ายแล้ว ทาง EEC ได้มีการประสานงานกับทาง ปตท.เพื่อที่จะดู Business Model ประกอบกลุ่ม ปตท.เปลี่ยนทีม จึงจำเป็นต้องมีการประสานงานกันอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเข้าประชุมคณะอนุกรรมการบริหารบริหารนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) ซึ่งมีความเห็นว่าโครงการห้องเย็นดังกล่าวจะนำร่องทุเรียน 4,000 ตัน ควรจะเริ่มได้ในฤดูกาลผลิตในเดือน พ.ค.65 นี้

นอกจากนี้ทางคณะอนุกรรมการบริหารนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) มีความเห็นว่าในเรื่อง Business Model ถ้า ปตท.เป็นผู้บริหารจัดการมาดำเนินโครงการแทน สกพอ.ที่จะได้โฟกัสการพัฒนานำนักลงทุนมาลงทุนใน EEC ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ได้มีการประชุมกับ ปตท.ทีมใหม่ พร้อมกับพาลงพื้นที่มาพบชาวสวนแปลงใหญ่โดยตรง เพื่อที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และติดตามความก้าวหน้า เพื่อให้ทราบว่าฝั่งผู้ผลิตมีความพร้อมมากน้อยเพียงไร และมีผลผลิตที่ป้อนเท่าไหร่ เงื่อนไขอย่างไร Business Model  จะเป็นอย่างไร เพื่อให้ ปตท.ได้มีความมั่นใจ ส่วนเรื่องที่ดิน กนอ.พร้อมที่จะสนับสนุนพื้นที่ห้องเย็น เตรียมเข้าบอร์ด กนอ.ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร อย่างไรก็ตาม ผลการประชุมวันนี้เป็นระยะแรก ซึ่ง ปตท.จะมีการสำรวจข้อมูล วิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนอีกครั้ง เพื่อให้โครงการได้เกิดขึ้นโดยเร็วและยั่งยืน โดยมีเกษตรกรเป็นหุ้นส่วน เหตุที่ต้องนำร่องทุเรียน เนื่องจากตลาดเป็นของผู้ขายเป็นผู้กำหนดราคา ประกอบกับในจังหวัดระยอง มีการขยายปลูกทุเรียนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะใน 3 ปีข้างหน้า อาจจะประสบปัญหาล้นตลาด ซึ่ง MODEL ดังกล่าวที่เกิดขึ้น จะช่วยดันราคาทุเรียนภาคตะวันออก และจะช่วยแก้ไขปัญหาราคาทุเรียนตกต่ำด้วย.

ด้าน นายชาญศักดิ์ ชื่นชม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่วิศวกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน บ.ปตท.จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ด้วยภารกิจที่ ปตท.ได้รับร่วมกับคณะกรรมการ EEC ให้ช่วยดูแลภาคเกษตรกรในดูแลผลผลิตให้มีเสถียรภาพด้านราคา โครงการห้องเย็นเป็นโครงการหนึ่งอยู่ในแผนงาน ทีม ปตท.และ EEC มาเก็บข้อมูลให้เป็นเชิงลึกร่วมกับเกษตรกร จะเร่งดำเนินการศึกษาว่าจะดำเนินการอย่างไรให้มีผลตอบแทน มีความก้าวหน้า และสามารถจับต้องได้ในเรื่องของความยั่งยืนให้เร็วที่สุด

นายมานพ โปษยาอนุวัตร์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรจังหวัดระยอง กล่าวว่า เกษตรจังหวัด มีบทบาทในการส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตทุเรียนมีคุณภาพ ทั้งการรวมตัวเป็นเกษตรกรแปลงใหญ่ การรวมตัวกันเป็นเครือข่ายเป็นวิสาหกิจชุมชน เป้าหมายเพื่อลดต้นการผลิต การพัฒนาคุณภาพ และแนวทางการจัดการตลาดในอนาคต ซึ่งทุเรียนมีแนวโน้มผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 120,000 ตันต่อปี จากมีพื้นที่ปลูกใหม่เพิ่มขึ้นในปี 63-64 รวมกว่า 10,000 ไร่ ใน 5 ปีข้างหน้าผลผลิตจะเพิ่มขึ้น ประมาณ 200,000 ตัน ซึ่งอาจประสบปัญหาล้นตลาดได้ ซึ่งการมีห้องเย็น จะเป็นโอกาสของจังหวัดระยองและใกล้เคียงที่จะสามารถช่วยยืดอายุการขาย และช่วยเรื่องราคาผลผลิตตกต่ำได้อีกด้วย

นายสุเทพ เจริญชนม์ เกษตรกรสมาชิกเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ไม้ผลจังหวัดระยอง กล่าวว่า โครงการห้องเย็นดังกล่าว จะเป็นประโยชน์อย่างมากกับเกษตรกรชาวสวนทุเรียน เนื่องจากปัจจุบันเกษตรกรหันมาปลูกทุเรียนเพิ่มมากขึ้น แต่การตลาดทุเรียนยังเท่าเดิม การมีโครงการดังกล่าว จะแก้ไขปัญหาในหลายๆ อย่าง ทั้งคุณภาพผลผลิต และราคา เพราะที่ผ่านมาเกษตรกรช่วยเหลือตัวเองมาตลอด ไม่สามารถกำหนดราคาเองได้เหมือนพ่อค้าคนกลาง ถ้าหากมีห้องเย็นขึ้นมา เกษตรกรสามารถที่จะได้รู้ว่าผลิตทุเรียนอย่างไรที่มั่นคง และมีรายได้มั่นคง ที่สำคัญความคาดหวังของเกษตรกรในอนาคตคือการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศของที่ส่งออกไปมีคุณภาพ

นายโชติชัย บัวดิษ ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ไม้ผลจังหวัดระยอง กล่าวว่า ในภาคการผลิตการเกษตรปัญหาที่เกษตรกรพบคือ ช่วงที่เกษตรกรปลูกทุเรียนเวลาออกสู่ตลาดจะพร้อมกัน ทำให้ราคาตกต่ำ และเวลาเก็บเกี่ยวไม่ทันทำให้หล่นเสียหาย การมีห้องเย็นจะช่วยให้ผลผลิตมีคุณภาพเหมือนเดิม และช่วยป้องกันคุณภาพไม่ดีได้อีกด้วย เพราะการนำผลผลิตเก็บในห้องเย็น ต้องเป็นผลผลิตที่แก่พร้อมกินเท่านั้น นอกจากนี้ในช่วงผลผลิตออกมาก ยังช่วยในการดึงทุเรียนออกจากตลาด ออกไปจากระบบโดยการเก็บไว้ในห้องเย็นเป็นการลดปัญหาทุเรียนล้นตลาด และราคาตกต่ำ

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน