วันที่ 4 กรกฎาคม 2566 ที่สถานีรถไฟมาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง กรมการค้าภายในจับมือกรมวิชาการเกษตร ลงพื้นที่ระยอง ติดตามการส่งออกทุเรียนและมังคุดไปจีนผ่านทางรถไฟ พบการส่งออกยังคงคึกคัก มีคิวขนผ่านระบบรางไปจีนต่อเนื่อง เผยส่งผลดีต่อราคาผลไม้ภาคใต้ที่กำลังออกสู่ตลาด ล่าสุดทุเรียนเกรดส่งออก พุ่งแตะกิโลกรัมละ 140 บาท มังคุด 95 บาท ย้ำมีมาตรการระบายผลผลิตต่อเนื่อง ทั้งจับมืออสังหาริมทรัพย์ช่วยขาย นำขายผ่านห้างท้องถิ่น ปั๊มน้ำมัน โมบายพาณิชย์ และ Fruit Festival 2023
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่สถานีรถไฟมาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง เพื่อติดตามการส่งออกทุเรียนและมังคุดไปจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญของผลไม้ไทย โดยครั้งนี้ มีการส่งออกทางตู้ราง ปริมาณประมาณ 300 ตัน มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท และยังได้รับการยืนยันจากผู้ส่งออก การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัท Pan Asia Silk Road จำกัด ที่เข้ามาบริหารจัดการโลจิสติกส์เรื่องการส่งออกทางราง ว่า จากนี้ไป ยังมีผลไม้ที่จะมาส่งออกผ่านทางระบบรางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตลาดจีน ยังมีความต้องการผลไม้จากไทย โดยเฉพาะทุเรียนและมังคุด
“การส่งออกทางรางได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพราะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ส่งออก ในเรื่องของคุณภาพ เวลา และลดปัญหาการติดขัดที่หน้าด่านทางบก ตรงนี้ถือเป็นส่วนสำคัญในการส่งออกสินค้าเกษตรและผลไม้ของไทยไปยังตลาดจีน และเชื่อว่าการส่งออกทางรางจะมีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะนอกจากเป็นการลดต้นทุนแล้ว ยังทำให้การบริหารจัดการดีขึ้นด้วย เพราะคุ้มทั้งเรื่องคุณภาพ คุมระยะเวลาในการขนส่งได้”นายวัฒนศักย์กล่าว
ข่าวน่าสนใจ:
- มหกรรมสุดยิ่งใหญ่ส่งท้ายปี จ.ขอนแก่น งานเทศกาล “ปลาร้า หมอลำ ISAN to the World‘24” วันที่ 26-29 ธ.ค. 67 ณ ลานศรีจันทร์ อาคารขอนแก่น…
- จนมุมคาด่านตรวจปีใหม่หนุ่มหนีหมายจับค้ายาบ้านานกว่า 3 ปี!
- แพร่ประกาศความปลอดภัยทุกเส้นทางบริการนักท่องเที่ยวปีใหม่
- กระฮึ่มรุมสาปแช่งทั่วเมืองสาวแสบยังไม่สำนึกขโมยของศาลเจ้าพ่อพญาแลผู้ก่อตั้งเมืองชัยภูมิ!
นายวัฒนศักย์กล่าวว่า ผลจากการขับเคลื่อนมาตรการดูแลผลไม้ปี 2566 จำนวน 22 มาตรการ การผลักดันการส่งออกผลไม้ และการเร่งระบายผลผลิตผลไม้ออกจากแหล่งผลิตอย่างรวดเร็ว ได้ส่งผลให้ราคาผลไม้ปีนี้ เป็นปีทองสำหรับเกษตรกร โดยผลไม้ภาคตะวันออกที่ผลผลิตออกหมดแล้ว ราคาทุเรียนดีมาก เกรดส่งออก 170-180 บาท/กิโลกรัม (กก.) เกรดคละ ราคาไม่ต่ำกว่า 100 บาท/กก. ส่วนมังคุดภาคตะวันออก ราคาเคยพุ่งไปสูงสุด 200 บาท/กก. และสำหรับผลไม้ภาคใต้ ที่ตอนนี้ผลผลิตกำลังออกสู่ตลาด เกรดส่งออก 140 บาท/กก. จากเดิมอยู่ที่ 115-120 บาท/กก. ตอนนี้ราคาขยับขึ้นมาเรื่อย ๆ ส่วนตัวที่เกรดรองหรือตกเกรด อจยู่ที่ 80-90 บาท/กก. จากเดิม 75-80 บาท/กก. และมีแนวโน้มราคาขยับขึ้นต่อเนื่องอีก สำหรับมังคุดรุ่นแรก เกรดมัน เฉลี่ย กก.ละ 60-95 บาท สูงสุด 120 บาท เกรดคละ กก.ละ 35 บาท
ทั้งนี้ สำหรับมาตรการรับมือผลไม้ภาคใต้ ที่กำลังออกสู่ตลาด กรมฯ ยังคงใช้มาตรการหลัก คือ ประสานผู้ประกอบการ ทั้งผู้ส่งออก ล้ง โรงงานแปรรูป ห้างค้าส่งค้าปลีก ผู้ค้าส่ง เข้าไปซื้ออย่างต่อเนื่อง และมีมาตรการเสริม เช่น การประสานกับโครงการอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 6 ราย ให้เข้ามาช่วยระบายผลผลิตมังคุด เป้าหมาย 5,000 ตัน การระบายผลผลิตผ่านห้างท้องถิ่น ที่มีอยู่กว่า 600 สาขาทั่วประเทศ ปั๊มน้ำมันที่มีสาขารวมกันกว่า 5,000 สาขา และโมบายพาณิชย์ ที่มี 100 จุด รวมถึงการจัดงาน Fruit Festival 2023 เพื่อเร่งระบายผลไม้
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ในเรื่องของคุณภาพ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ให้องค์ความรู้กับพี่น้องเกษตรกร ผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขึ้นทะเบียนแปลง GAP เป็นสิ่งสำคัญ กรมวิชาการเกษตรได้มีการขยายรับรองแปลง GAP ได้เปิดจุดรับรองแปลง GAP เป็นแบบ One Stop Service และสิ่งสำคัญเป็นนโยบายของผู้ซื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้ซื้อหลักของทุเรียนของไทย ได้ระบุไว้ในพิธีสาสน์ไทยจีนชัดเจนว่าทุเรียนทุกลูกจะต้องมีเลขรหัส GAP ติดไว้ด้วย
“การลงพื้นที่ภาคตะวันออกในวันนี้ จะมีการติดตามตรวจสอบในเรื่องของการลงทะเบียน GAP และติดตามการป้องกันมาตรการสวมสิทธิ์ต่าง ๆ รวมไปถึงเรื่องการแจ้งพิกัดศุลกากรที่ไม่ถูกต้อง ทางอธิบดีกรมศุลกากรได้ร่วมกันตรวจสอบและบูรณาการการทำงานของด่านตรวจพืชต่าง ๆ รวมถึงด้านของกรมศุลกากรทั่วประเทศ ดังนั้น ขอเน้นย้ำในเรื่องของการควบคุมคุณภาพมาตรฐาน การแสดงพิกัดสินค้าที่ถูกต้องตามระเบียบ ถ้าไม่ถูกต้อง จะโดนดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเข้มงวดต่อไป”
นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตร มีศูนย์บริการ Hotline หากมีข้อสงสัยในการขึ้นทะเบียน GAP หรือสอบถามเรื่ององค์ความรู้ในการปลูกทุเรียน หรือการกำจัดศัตรูพืช สามารถสอบถามที่กรมวิชาการเกษตรได้โดยตรง ที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขต (สวพ.) ทั้ง 8 แห่ง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: