X

ผู้ตรวจการแผ่นดินลงพื้นที่ระยอง สางปัญหาแนวเขตพื้นที่ทับซ้อน

พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ตรวจการแผ่นดิน นายกมลธรรม วาสบุญมา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะ ลงพื้นที่สางปัญหาการประกาศแนวเขตพื้นที่ทับซ้อนในเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า – หมู่เกาะเสม็ด ระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กับกรมธนารักษ์ เป็นเหตุกระทบชาวบ้านในพื้นที่ยืดเยื้อกว่า 30 ปี ตลอดจนเร่งผลักดันแผนวางท่อน้ำประปาจากฝั่งสู่เกาะเสม็ด ลดภาระราคาน้ำประปาแพง หนุนพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนบนเกาะเสม็ดอย่างยั่งยืน

 

พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า เดิมเกาะเสม็ด จังหวัดระยอง มีสถานะเป็นที่ดินราชพัสดุทั้งเกาะ มีเนื้อที่ประมาณ 4,200 ไร่ ต่อมา พ.ศ. 2524 ได้ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าเขาแหลมเทียน เขาเปล็ด เขาแหลมหญ้า เกาะเสม็ด และเกาะใกล้เคียง ในพื้นที่ท้องที่ตำบลเพ อำเภอเมืองระยอง และตำบลแกลง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ เหลือที่ดินเพียงประมาณ 700 ไร่ ที่ยังคงเป็นที่ราชพัสดุ ซึ่งก็เกิดปัญหาความไม่แน่ชัดของแนวเขตมาโดยตลอด เนื่องจากทั้งสองหน่วยงานใช้แผนที่อ้างอิงกันคนละฉบับ จนเป็นเหตุให้ประชาชนที่เช่าที่ราชพัสดุจากกรมธนารักษ์บางกลุ่มถูกกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แจ้งความดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เป็นปัญหาความไม่เข้าใจกันระหว่างหน่วยงานและประชาชนในพื้นที่ยืดเยื้อมากว่า 30 ปี โดยมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจำนวน 3 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มผู้มีสิทธิ์การเช่าซึ่งได้รับการผ่อนปรนตามมติคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ (กบร.) ปี 2543 ซึ่งเดิมมีเพียงจำนวน 49 ราย แต่ปัจจุบันได้ขยายเป็นจำนวน 168 ราย บางรายมีการเปลี่ยนแปลงผู้เช่าที่ไม่ใช่ทายาทตามมติกบร. ดังกล่าว จึงเกิดปัญหาการขออนุญาตการก่อสร้างและปลูกสร้างอาคาร เนื่องจากไม่มีการแจ้งเปลี่ยนแปลงผู้เช่าจากกรมธนารักษ์ให้กรมอุทยานฯ ทราบ รวมถึงปัญหาการรุกล้ำชายหาดและบุกรุกบริเวณอื่น ๆ ด้วย 2) กลุ่มประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตชุมชนดั้งเดิม รวมถึงวัดและโรงเรียน ที่ยังเป็นปัญหาอยู่ว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตอุทยานหรือที่ราชพัสดุที่จะสามารถให้เช่าได้หรือไม่ 3) กลุ่มประชาชนที่เช่าพื้นที่ราชพัสดุ 700 ไร่ ตามแนวเขตของแผนที่ปี 2542 ที่ไม่ตรงกับแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาของกรมอุทยานฯ กลายเป็นบางส่วนรุกล้ำเข้ามาในเขตอุทยาน

โดยในวันนี้  ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้เชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ได้แก่ นายธีรวัฒน์ สุดสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กอ.รมน.จังหวัดระยอง กรมธนารักษ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า – หมู่เกาะเสม็ด อีกทั้งได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการที่ดินและผู้เชี่ยวชาญด้านแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศมาลงพื้นที่ร่วมกันเพื่อพิจารณาข้อเท็จจริงในการกำหนดแนวเขตบนเกาะเสม็ด รวมทั้งตรวจสอบเทียบเคียงแผนที่ที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถนำมาใช้แก้ไขปัญหาได้ โดยให้จังหวัดระยองแก้ไขมติกบร. เมื่อปี 2543 ที่จำกัดจำนวนผู้เช่าเพียง 49 ราย ในเขตอุทยาน ให้แก้เป็นจำกัดจำนวนเนื้อที่แทน และถ้ามีการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้เช่า ให้กรมธนารักษ์แจ้งชื่อให้กรมอุทยานฯ ทราบ เพื่อประกอบการพิจารณาเมื่อมีการขออนุญาตก่อสร้าง และให้กรมอุทยานฯ กรมธนารักษ์ และกอ.รมน. ไปดำเนินการตรวจสอบ จัดทำ และรับรองแนวเขตพื้นที่เกาะเสม็ดในส่วนที่คาบเกี่ยวระหว่างเขตอุทยานเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ดกับที่ราชพัสดุที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกรมธนารักษ์ และในพื้นที่อุทยานที่ผ่อนผันให้ราษฎรได้รับสิทธิ์การเช่าให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน สำหรับเขตชายหาดซึ่งเป็นเขตเข้มงวดของกรมอุทยานฯ เป็นสมบัติของแผ่นดินไม่ใช่ผู้หนึ่งผู้ใด ให้กรมธนารักษ์แจ้งราษฎรที่ได้เช่าพื้นที่อยู่ทราบ พร้อมทั้งให้เจรจายกเลิกสัญญาเช่า แล้วคืนพื้นที่ให้อุทยานแห่งชาติ ทั้งนี้ ในพื้นที่เขตชุมชน วัด และโรงเรียน ที่ตั้งอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่อุทยานเขาแหลมหญ้า ให้ดำเนินการไปตามกระบวนการของมติคทช.ที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2561 เพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้อยู่อาศัยในพื้นที่ป่าได้อยู่อาศัยต่อไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

 

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน