อาชีวะ3จังหวัดโชว์ ผลงานสิ่งประดิษฐ์ ให้บริษัทยักษ์ใหญ่ดึงต่อยอดงานวิจัย เพื่อพัฒนาความพร้อม ของพื้นที่และสร้างบรรยากาศส่งเสริมการค้า การลงทุนอุตสาหกรรม มุ่งสู่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC)
เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2562 ณ ห้องประชุมสุนทรภู่ โรงแรมสตาร์ อ.เมือง จ.ระยอง นายธีรวัฒน์ สุดสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ให้เกียรติเป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาความพร้อมของพื้นที่และสร้างบรรยากาศเพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุนอุตสาหกรรม มุ่งสู่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษ กิจกรรมMatching Innovation in Smart Industry โดยมีนายชัยยง โกศลวิทยานันต์ อุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ดร.ปภาวรินท์ เศรษฐไตรรัตน์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายแผนงานและความร่วมมือ วิทยาลัยเทคนิคบ้านค่าย นายประเมิน อุมา หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน นางสาวอาภา รติยานุวัฒน์ ผู้จัดการแผนกสื่อและรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ผู้แทนโรงงานภาคอุตสาหกรรมคณะครู นักศึกษา เข้าร่วมกิจกรรมอย่างคับคั่ง
ข่าวน่าสนใจ:
นายชัยยง โกศลวิทยานันต์ อุตสาหกรรมจังหวัดระยอง กล่าวว่า สำหรับโครงการพัฒนาความพร้อมของพื้นที่และสร้างบรรยากาศเพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุนอุตสาหกรรม มุ่งสู่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษ กิจกรรม Matching Innovation in Smart Industry เป็นโครงการที่จัดขึ้นในนามของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1 โดยร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการต่อยอดงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมจากภาคการศึกษาให้สามารถใช้ได้จริงในภาคอุตสาหกรรม และเป็นการกระตุ้นให้เกิดชิ้นงานและงานวิจัยใหม่ๆจากภาคการศึกษาในพื้นที่
โดยการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นการจัดแสดงผลงานวิจัยและโครงงานด้านนวัตกรรมของนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาทั้งในระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1 นำมาจัดแสดง และเชิญชวนผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ SMEs เข้าชมงาน โดยจะมีการจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่งานวิจัยหรือโครงงานด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีระหว่างสถาบันการศึกษากับภาคอุตสาหกรรมที่สนใจชิ้นงาน โดยมีกำหนดจัดงานขึ้นทั้งหมด 3 ครั้ง ในพื้นที่ 3 จังหวัด และมีวิธีการดำเนินงานคือ ลงพื้นที่สำรวจและศึกษาโครงงานด้านนวัตกรรมของสถาบันการศึกษาในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1 ตลอดจนทำการศึกษาความต้องการด้านนวัตกรรมของผู้ประกอบการในพื้นที่ และจัดการประชุมชี้แจงสร้างความเข้าใจ เพื่อนำมาสู่ข้อสรุปในการเจรจาจับคู่ธุรกิจต่อไป
จากการดำเนินการดังกล่าว คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 900 ราย และมีชิ้นงานวิจัยด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจนำไปต่อยอดในภาคอุตสาหกรรมไม่น้อยกว่า 30 ชิ้นงาน โดยข้อมูลจากการดำเนินโครงการในส่วนของการศึกษา และสำรวจผลงานวิจัยหรือโครงงานด้านเทคโนโลยีของสถาบันการศึกษาในพื้นที่แล้ว พบว่า ผลงานด้านนวัตกรรมของสถานศึกษาส่วนใหญ่ มีความโดดเด่นและน่าสนใจ คาดว่าสามารถตอบโจทย์ของภาคอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: