เนื่องจากแนวทางการรักษาโรคติดเชื้อโควิด-19 ของระบบสาธารณสุขที่สนับสนุนให้ผู้ป่วยโควิด-19 เลือกกักตัวในที่พัก (Home Isolation) มากขึ้น ทางโรงพยาบาลราชวิถี โดยศูนย์กู้ชีพนเรนทร ร่วมกับ The Forestias by MQDC ได้จัดพื้นที่สำหรับ “Rapid X-Ray เอกซเรย์ปอดช่วยรอดโควิด” ภายใต้โครงการ “อยู่บ้าน ปอด ปลอดภัย” เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มอาการ สีเขียว และ สีเหลืองอ่อนที่เข้าเกณฑ์ให้สามารถเข้ารับการตรวจปอด ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้เร็วขึ้น
จุดเอกซ์เรย์ปอดจุดล่าสุดนี้ตั้งอยู่บริเวณโครงการ The Forestias by MQDC คาดว่าจะสามารถรองรับผู้ป่วยในเขตกรุงเทพใต้และจังหวัดสมุทรปราการ อันประกอบด้วย เขตวัฒนา เขตบางคอแหลม เขตสวนหลวง เขตปทุมวัน เขตพระโขนง เขตบางรัก เขตสาทร เขตยานนาวา เขตคลองเตย เขตบางนา และจังหวัดสมุทรปราการในเขตอำเภอเมืองสมุทรปราการ อำเภอบางพลี อำเภอบางบ่อ อำเภอบางเสาธง โดยเริ่มเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 4 กันยายน โดยสามารถนัดหมายล่วงหน้าที่ Line : @rapidxray และไม่รับ walk in
นายแพทย์ ไพโรจน์ เครือกาญจนา รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า ขอขอบคุณแทนผู้ป่วยที่หลายหน่วยงานได้พยายามแบ่งปันความช่วยเหลือโครงการนี้ ขณะนี้จุดเอกซเรย์ของโรงพยาบาลราชวิถีมี 3 จุด ได้แก่ นเรนทร กรุงธนเหนือ นเรนทร กรุงเทพตะวันออก และนเรนทร กรุงเทพใต้ โดยจะมีเพิ่มอีก 3 จุด ได้แก่ นเรนทร กรุงธนใต้ นเรนทร กรุงเทพเหนือ และ นเรนทร กรุงเทพกลาง รวมทั้งหมด 6 จุด ที่จะเปิดครบทั้งหมด 6 จุดบริการ ราวกลางเดือนกันยายน โดยจุดล่าสุด นเรนทร กรุงเทพใต้ นับว่าเป็นแห่งที่ 3 ตั้งอยู่ในพื้นที่ในที่ดินเปล่าของโครงการThe Forestias by MQDC
“แนวทางการรักษาโดยการใช้หลักการ Rapid X-Ray เอกซเรย์ปอดช่วยรอดโควิด เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียวและสีเหลืองอ่อน ยังเป็นผู้ที่แข็งแรงระดับหนึ่ง (สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ ไม่มีอาการ หรือมีอาการไม่รุนแรง เช่น ไอมีเสมหะเล็กน้อย ไข้ต่ำ ๆ เป็นต้น) ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงดูแลตนเองอยู่ในบ้าน ได้มีโอกาสมารับการถ่ายเอกซเรย์ปอดเป็นระยะในช่วงเวลา 14 วันของการเริ่มต้นเป็นโรคโควิด และได้รับการวิเคราะห์ผลเอกซเรย์ เพื่อการรักษาหรือการจัดการที่เหมาะสมได้อย่างเร่งด่วน”
ข่าวน่าสนใจ:
นายกิตติพันธุ์ อุยยามะพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส โครงการ The Forestias by MQDC บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) กล่าวว่า “โครงการ The Forestias by MQDC มีความยินดีที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมแบ่งปันพื้นที่บางส่วนขนาด 1 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินสำหรับการพัฒนาให้กับทางโรงพยาบาลราชวิถีในการตั้งโครงการสำหรับ “Rapid X-Ray เอกซเรย์ปอดช่วยรอดโควิด” ภายใต้โครงการ “อยู่บ้าน ปอด ปลอดภัย” ตั้งอยู่ที่บางนากิโลเมตรที่ 7 ซึ่งลักษณะพื้นที่มีการถ่ายเทอากาศได้ดีเป็นพื้นที่โล่งแจ้ง เราได้สนับสนุนพื้นที่และการก่อสร้างโดยได้จัดตั้งศูนย์สำหรับผู้ป่วยที่มาลงทะเบียนและรอการเข้ารับการเอกซเรย์ นอกจากนั้นยังได้มีการกั้น แบ่งพื้นที่ผู้ป่วยแยกจากบริเวณทำงานของเจ้าหน้าที่ และห้องทำงานของเจ้าหน้าที่ได้สร้างเป็นห้องความดันบวก เพื่อความปลอดภัยของบุคลากร
นอกจากนั้นยังได้จัดหาบุคลากรที่เป็นอาสาสมัครเข้ามาช่วยทำงานในพื้นที่ และจัดหาอาหารจากโครงการศูนย์รวมปันสุข ของโรงพยาบาลสนามแสงแห่งใจ มาบริการให้กับเจ้าหน้าที่ “ศูนย์กู้ชีพนเรนทร” รพ.ราชวิถี ได้รับความร่วมมือเกิดการรวมตัวกันของบุคลากรทางการแพทย์จากหน่วยงานต่าง ๆ ตลอดจนภาคประชาสังคม เพื่อขับเคลื่อนการเข้าถึงและได้รับการถ่ายเอกซเรย์ปอดและรักษาให้รวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น มีการทำระบบในการลงทะเบียนและจัดคิวเข้ารับการเอกซเรย์ปอด การจัดระบบการนำผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ในการจัดคิวมารับการเอกซเรย์ให้ได้เร็วตามความเร่งด่วนและเหมาะสมตามอาการ การจัดคิวรถรับ-ส่งผู้ป่วย เป็นต้น
สำหรับความพิเศษของจุดเอกซเรย์ แห่งนี้คือ เนื่องจากทาง MQDC ได้เป็นพันธมิตรในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามแสงแห่งใจ ซึ่งอยู่ติดกับพื้นที่จุดเอกซเรย์นี้ หากผู้ป่วยมีความต้องการที่จะเปลี่ยนจาก Home Isolation เข้ามารักษาที่โรงพยาบาลสนามแสงแห่งใจก็สามารถที่จะมาได้ โดยจะมีการประสานกับทางโรงพยาบาลสนามดังกล่าว และหากผู้ป่วยที่มีอาการมากขึ้นและทราบผลจากการเอกซเรย์ เช่น เข้ากลุ่มสีเหลืองแก่ขึ้นไป จะสามารถเข้าทำการรักษาที่โรงพยาบาล Princ สุวรรณภูมิ ที่เป็นผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลสนามแสงแห่งใจ ร่วมกับ MQDC และอีก 5 องค์กรอันได้แก่ ทีแอนด์บี มีเดีย โกลบอล, อีอีซี เอ็นจิเนียริ่ง เน็ทเวิร์ค, มูลนิธิธนินท์ เทวี เจียรวนนท์, มูลนิธิอริยวรารมย์ และมูลนิธิพุทธรักษา
จุดเอกซ์เรย์ของโรงพยาบาลราชวิถีจะมีทั้งหมด 6 จุด ในพื้นที่ กทม. ได้แก่กรุงธนใต้, กรุงธนเหนือ, กรุงเทพเหนือ, กรุงเทพตะวันออก, กรุงเทพกลาง และกรุงเทพใต้ ที่อยู่ในพื้นที่เปล่าของโครงการ The Forestias by MQDC มีการตั้งเครื่อง Mobile X-Ray ที่มีการคำนึงถึงการจัดโซนในการทำงานที่ปลอดภัย ชัดเจนและเป็นระเบียบจากหน่วยงานต่าง ๆ และผู้ดูแลประจำพื้นที่ ตลอดจนได้รับความร่วมมือจากทีมกลุ่ม Radio Volunteer จิตอาสาเพื่อโรงพยาบาลสนาม ประกอบไปด้วย อาสาสมัครจากสมาชิกราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ digital platform ชั้นยอดจากบริษัท เจ.เอฟ.แอดวาน เมด จำกัด และการออกแบบการรายงานผลภาพรังสีที่เน้นการบริหารจัดการของ Rama Co-Rads ที่ได้แสดงฝีมือในบริหารจัดการผู้ติดเชื้อกรมราชทัณฑ์อย่างได้ผลดีเลิศมาแล้ว ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ เช่น มีผลการตรวจ และระยะเวลาที่เริ่มเป็นโรค รวมถึงระดับของอาการแสดงที่มี ให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการถ่ายเอกซเรย์ปอด เพื่อค้นหาความเสี่ยงของเชื้อที่ลงปอด นำไปสู่การเข้าระบบต่าง ๆ และรับยาอย่างเร่งด่วนมากขึ้น
การจัดการต่าง ๆ อยู่ในรูปแบบที่ไม่ก่อให้เกิดการแพร่กระจายในการนำตัวผู้ป่วยโควิดมาตรวจ โดยมีการวางแผนจัดเตรียมทีมงานรับ-ส่ง ผู้ป่วยจากที่พัก พร้อมการจัดสถานที่ให้บริการตามแนวทางความปลอดภัยในระบบสาธารณสุข ซึ่งจะต้องมีการจัดสถานที่ในการรองรับผู้ป่วยเข้ามารับการถ่ายเอกซเรย์ตั้งแต่ จุดจอดรถ จุดลงทะเบียน จุดเข้ารับการถ่ายเอกซเรย์ จุดพักรอฟังผล และจุดรับยา หากพบผลตรวจมีเชื้อลงปอด โดยประมาณการพื้นที่ที่จะใช้ประมาณ 700 ตร.ม. และควรเป็นพื้นที่โล่ง โดยอาจจะต้องมีการเตรียมการบางส่วนเพื่อรองรับในกรณีหากมีฝนตกในช่วงฤดูฝนที่เริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงตุลาคมของทุกปี
โครงการนี้ ได้รับการสนับสนุนในการดำเนินการจาก มูลนิธิ รพ.ราชวิถี และ รพ.ราชวิถีโดยมีเป้าหมายในการดำเนินการ นำ รถ Mobile X-Ray 6 คัน (ทำงานไม่น้อยกว่า 8 ชม. ต่อวัน) / 30 คนต่อชั่วโมง รวมจำนวนผู้ป่วยที่จะได้รับการดูแลไม่น้อยกว่า 43,000 คนต่อเดือน
ดังนั้นเพื่อเป็นการช่วยเหลือการทำงาน Rapid X-Ray ผ่านโครงการ “อยู่บ้าน ปอดปลอดภัย” สามารถร่วมบริจาคได้ที่
ชื่อบัญชี มูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี
ธนาคารกสิกรไทย สาขาสนามเป้า
เลขที่บัญชีชี 029-2-60574-9
ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาโรงพยาบาลราชวิถี
เลขที่บัญชี 051-2-16322-1
ระบุว่า “อยู่บ้าน ปอด ปลอดภัย” หรือ “@rapidxray”
โดยสามารถลดหย่อนภาษีได้ โดยส่งหลักฐานการโอนเงินผ่านช่องทาง Line ID : @rajfd หรืออีเมล [email protected] สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 02-354-7997-9 ต่อ 101 หรือ 105 หรือ 121
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: