X

กฟผ. มุ่งมั่นสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยกลยุทธ์ “Triple S” โชว์ Mae Moh Green Model ในที่ประชุม ESCAP สมัยที่ 80

กฟผ. แสดงพลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างยั่งยืน ผ่านกลยุทธ์ “Triple S” และแผนพัฒนาเหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปาง สู่พลังงานสีเขียว (Mae Moh Green Model) ภายใต้โครงการการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม ในการประชุมคู่ขนาน (side event) ของการประชุม ESCAP สมัยที่ 80

วานนี้ (26 เมษายน 2567) นายสุทธิพงษ์ เฉลิมเกียรติ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า 2 เป็นผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิต
แห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวเปิดการประชุมกลุ่มย่อยแลกเปลี่ยนมุมมองการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างยั่งยืน
และเป็นธรรม ในการประชุมคู่ขนาน ภายใต้หัวข้อ “เชื่อมโยงความคิด เปลี่ยนผ่านภูมิภาคถ่านหินด้วยนวัตกรรม
เพื่อโลกที่ดีกว่า โดยโครงการการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม” (Connecting Voices, Transforming Coal Regions for a Better World by Innovation Regions for a Just Energy Transition (IKI JET)) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมประจำปีของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก
สมัยที่ 80 (The 80th Session of the United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific: ESCAP) ณ ห้องประชุม 4 ศูนย์ประชุมแห่งสหประชาชาติ กรุงเทพมหานคร

นายสุทธิพงษ์ เฉลิมเกียรติ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า 2 กฟผ. เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้เป็นเวทีสำคัญ
ของนานาประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน จากพลังงานถ่านหิน
สู่พลังงานหมุนเวียน โดยคำนึงถึงความยั่งยืนและเป็นธรรม ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดย กฟผ.
เป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินการเพื่อมุ่งสู่อนาคตสีเขียวที่ยั่งยืน ผ่านกลยุทธ์ “Triple S” ได้แก่ Sources Transformation เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ปรับปรุงโรงไฟฟ้าและระบบไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีใหม่ Sink Co-creation เพิ่มแหล่งดูดซับกักเก็บคาร์บอน และ Support Measures Mechanism ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้พัฒนาแผน
การดำเนินงานเพื่อการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมของเหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ภายใต้แผนการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 7 (SDG 7) ของจังหวัดลำปาง โดยได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานกำหนดนโยบาย ภาคอุตสาหกรรมถ่านหิน
ภาคธุรกิจ และองค์กรภาคประชาสังคมจากนานาประเทศ เพื่อยกระดับองค์ความรู้ซึ่งนำมาสู่การดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรรม ด้วยการบูรณการประสบการณ์ด้านพลังงานถ่านหินระดับประเทศและระดับโลก ตลอดจนพัฒนา
ความเชี่ยวชาญในการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม เพื่อสร้างอุตสาหกรรมพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำต่อไป

สำหรับ Mae Moh Green Model นั้น กฟผ. แม่เมาะ เปลี่ยนผ่านจากถ่านหินไปสู่พลังงานหมุนเวียน โดยพัฒนาศักยภาพพื้นที่ กฟผ. แม่เมาะ ให้มีทั้งพลังงานชีวมวล พลังงานแสงอาทิตย์ พลังน้ำแบบสูบกลับ การศึกษาเชื้อเพลิง
ในอนาคต เช่น ไฮโดรเจน และเทคโนโลยีการดักจับและการกักเก็บคาร์บอน (CCS) รวมทั้งมีการพัฒนาชุมชน
นิคมเกษตรด้วยนวัตกรรมสมัยใหม่ เช่น การปลูกผักอินทรีย์ การปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ เพื่อให้ชุมชนเลี้ยงตัวเอง
ได้อย่างยั่งยืน เป็นต้น โดยมีการวิเคราะห์ถึงประโยชน์ ข้อดีและข้อเสียที่มีต่อเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่
ให้มีความพร้อมทั้งภาคประชาชน สิ่งแวดล้อม และการจัดการ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนอย่างสูงสุด

ทั้งนี้ การประชุมคู่ขนาน “เชื่อมโยงความคิด เปลี่ยนผ่านภูมิภาคถ่านหินด้วยนวัตกรรมเพื่อโลกที่ดีกว่า โดยโครงการการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม” จัดโดย GIZ Thailand และหน่วยงานพันธมิตร มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามและผลักดันการดำเนินการของประเทศสมาชิก ภายใต้โครงการการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม (Innovation Regions for a Just Energy Transition) โดยร่วมหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้และความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านพลังงาน รวมทั้งเร่งรัดพัฒนาความร่วมมือและแลกเปลี่ยนความรู้

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน