กฟผ. ร่วมเป็นพลังส่งต่อการดูแลสุขภาพคนไทยผ่านมูลนิธิกาญจนบารมีรวมมูลค่ากว่า 78 ล้านบาท พร้อมมุ่งสานต่อภารกิจแห่งความยั่งยืน เร่งเดินหน้าโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำในเขื่อน กฟผ. ควบคู่ศึกษาเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ในโอกาสวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นวันคล้ายวันสถาปนา กฟผ. ครบรอบ 55 ปี ซึ่งในปีนี้ กฟผ. ขอร่วมเป็นพลังสำคัญส่งต่อการดูแลสุขภาพป้องกันโรคมะเร็งนรีเวชของสตรีไทยที่อยู่ในชนบทและด้อยโอกาส โดยสนับสนุนรถตรวจคัดกรองมะเร็งนรีเวชพร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์ และทุนสำหรับการออกหน่วยในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งรังไข่ การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก เป็นระยะเวลา 5 ปี รวมมูลค่ากว่า 78 ล้านบาท
กฟผ. ขอขอบคุณคนไทยทุกคนที่ไว้วางใจให้ กฟผ. ดูแลความมั่นคงของระบบไฟฟ้าไทย พร้อมสนับสนุนการเติบโตของ กฟผ. มาตลอด 55 ปี นับตั้งแต่กำลังผลิตเริ่มต้นเพียง 908 เมกะวัตต์ เมื่อครั้งก่อตั้งในวันที่ 1 พฤษภาคม 2512 จวบจนปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 49,571 เมกะวัตต์ โดยเป็นโรงไฟฟ้าของ กฟผ. 16,261 เมกะวัตต์ คิดเป็นร้อยละ 32.75 มีสายส่งไฟฟ้าทั่วประเทศความยาวรวมถึง 39,036 วงจร-กิโลเมตร จนกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย
ข่าวน่าสนใจ:
- “ปลายฝน ต้นหนาว เคาท์ดาวน์ มิวสิคเฟส สุราษฎร์ธานี” ไฮไลท์ประกวดควายไทยมูลค่ากว่า 10 ล้าน
- สอ.สามัญศึกษาเพชรบูรณ์ประชุมใหญ่ โชว์กำไร 52 ล้าน พร้อมเลือกตั้งกรรมการและผู้ตรวจสอบกิจการ
- เปิดบริการแล้ว MFU Wellness Center มฟล. ศูนย์บริการสุขภาพแบบครบวงจรแห่งภาคเหนือและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
- นครพนม : หมอสงค์ หมอผู้สร้าง เปิดตัวสมัครนายก อบจ.นครพนม พร้อม ส.อบจ.นครพนม
ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด กฟผ. ยังสานต่อภารกิจแห่งความยั่งยืน เร่งเดินหน้าพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ (Hydro-Floating Solar Hybrid) ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่1 (PDP2018 Rev.1) ในพื้นที่เขื่อนภูมิพล จ.ตาก และเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี เพื่อรองรับความต้องการไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของภาคธุรกิจ ควบคู่กับการสนับสนุนภาครัฐในการพัฒนากลไกการซื้อขายไฟฟ้าสีเขียว หรือ Utility Green Tariff (UGT) ซึ่งเป็นการให้บริการไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนส่งมอบพร้อมกับใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (REC) พร้อมทั้งพัฒนา UGT Platform สำหรับรองรับการบริหารจัดการ REC ให้เป็นไปด้วยความโปร่งใสเพื่อยกระดับสู่มาตรฐานสากล รวมถึงพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) เพื่อบริหารจัดการพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีความผันผวนสูง อาทิ ศูนย์การพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Forecast Center) ซึ่งสามารถพยากรณ์กำลังการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานลมและโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) จำนวน 29 แห่ง ที่เชื่อมต่อกับระบบของ กฟผ. และมีแผนขยายศักยภาพให้ครอบคลุมโรงไฟฟ้าพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ของผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ที่มีกำลังผลิตตามสัญญาไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ และโซลาร์รูฟท็อป พัฒนาศูนย์ควบคุมการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response Control Center) เพื่อลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้าที่สมัครใจในช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเพื่อสร้างความสมดุลให้ระบบไฟฟ้า และเตรียมพร้อมต่อยอดสู่โรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plant) ในการบริหารจัดการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ กฟผ. ได้ปิดการซื้อขายหุ้นในโครงการ LNG Receiving Terminal แห่งที่ 2 บ้านหนองแฟบ จ.ระยอง (โครงการ LMPT2) กับบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด (PTTLNG) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อขยายขีดความสามารถในการนำเข้าและบริหารจัดการ LNG ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของประเทศ สร้างความมั่นคงและเสถียรภาพทางพลังงาน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสนับสนุนการเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติของประเทศ
การพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าแรงสูง กฟผ. ได้ดำเนินการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูงระยอง 4 รองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และสถานีไฟฟ้าแรงสูงลำพูน 3 รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นของภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวในพื้นที่เชียงใหม่และลำพูน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ รวมถึงการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ อ่อนนุช – บางพลี วงจรคู่ เสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล
ด้านการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน กฟผ. ได้เร่งขยายการให้บริการสถานีชาร์จ EleX by EGAT และสถานีพันธมิตรในเครือข่าย EleXA แล้วกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ พร้อมเตรียมเปิดให้บริการสถานีชาร์จสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ในภาคขนส่งแก่ประชาชนทั่วไปในช่วงกลางปีนี้ โดยนำร่องแห่งแรกที่สถานีชาร์จ EleX by EGAT กฟผ. แม่เมาะ จ.ลำปาง ควบคู่การให้บริการออกแบบและติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร (one-stop service) นอกจากนี้ กฟผ. มุ่งเดินหน้าส่งเสริมการใช้พลังงานภาคประชาชนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและลดคาร์บอนอย่างเป็นรูปธรรมผ่านฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 แบบ 5 ดาว พร้อมมอบสิทธิ์ส่วนลดสำหรับซื้อตู้เย็นเบอร์ 5 แบบ 5 ดาว จำนวน 5,555 สิทธิ์ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. – 30 ก.ย. 67 ณ ห้างสรรพสินค้าโฮมโปร เมกาโฮม ไทวัสดุ บีเอ็นบีโฮม เพาเวอร์บาย เดอะมอลล์ เอ็มโพเรียม สยามพารากอน โกลบอลเฮ้าส์ ดูโฮม ฮาร์ดแวร์เฮาส์ และร้านสหกรณ์ กฟผ. พร้อมชวนคนไทยร่วมดาวน์โหลด LINE Sticker ชุดใหม่ “Mission Possible by ENGY” ปฏิบัติการ (ไม่) ลับกับ ENGY ครบรอบ 55 ปี กฟผ. ส่งต่อความสุขที่ยั่งยืน เพียงคลิก https://line.me/S/sticker/31088 หรือเพิ่มเพื่อนกับ กฟผ. ทาง LINE Official ที่ @egat ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. – 29 ก.ค. 67
“กฟผ. ขอให้คนไทยเชื่อมั่นว่า เราจะไม่หยุดพัฒนาและมุ่งมั่นดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศอย่างเต็มความสามารถ พร้อมรองรับทุกการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศทั้งในระดับภูมิภาคและนานาชาติ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนและสร้างความเติบโตให้กับเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อให้ กฟผ. เป็นองค์การแห่งความภาคภูมิใจของคนไทยตลอดไป” ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวทิ้งท้าย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: