ขอนแก่น – ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและส่วนที่เกี่ยวข้องพร้อมใจร่วมงาน “อีสานอุตสาหกรรมแฟร์ 2018” พบการใช้นวัตกรรมเพื่อช่วยการทำงานในโรงงานตั้งแต่ระดับ SME จนถึงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “อีสานอุตสาหกรรมแฟร์” ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 24 – 27พฤษภาคมนี้ ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนแก่น โดยในปีนี้ใช้แนวคิดว่า smart industry for smart city ซึ่งเป็นทิศทางการดำเนินงานภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นในยุคปัจจุบันว่า ควรเป็นอุตสาหกรรมที่มีการบริหารจัดการแบบอัจฉริยะสอดคล้องกับความเป็นเมืองอัจฉริยะหรือสมาร์ทซิตี้ เน้นการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม การประหยัดพลังงาน และสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน
ข่าวน่าสนใจ:
ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า จังหวัดขอนแก่นมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรอยู่ที่ 110,000 บาท/คน/ปี ถือว่าสูงที่สุดในภาคอิสาน โดยมีขนาดทางเศรษฐกิจของจังหวัดอยู่ที่ 9 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นขนาดเศรษฐกิจด้านอุตสาหกรรม ประมาณ 40,000 ล้านบาท ด้านพาณิชยกรรมและการศึกษา ประมาณ 30,000 ล้านบาท และด้านการเกษตร ประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ขอนแก่นมีแนวโน้มของการเติบโตไปเป็นเมืองอุตสาหกรรม โดยทางจังหวัดและศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 3 พร้อมให้การสนับสนุนเรื่องสิทธิพิเศษด้านภาษีสำหรับผู้ประกอบการที่หันมาใช้ระบบหุ่นยนต์ในสถานประกอบการมากขึ้น เพื่อสนับสนุนให้มีการใช้หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ประเภทของอุตสาหกรรมในจังหวัดขอนแก่นก็มีตั้งแต่โรงงานขนาดใหญ่ เช่น โรงงานกระดาษในเครือ SCG โรงงานน้ำตาลในเครือมิตรผล,เครือเคเอสแอล โรงงานในกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือ CP โรงงานแหอวนที่ส่งออกไปทั่วโลก โรงงานที่ผลิตเรือตรวจการณ์โดยคนไทย บริษัท ช.ทวี จำกัด(มหาชน) และโรงงานขนาดกลางและขนาดย่อมที่เป็นผู้ประกอบการ SME อีกมากมาย
“อีสานอุตสาหกรรมแฟร์” ถือเป็นงานที่ยกระดับจากในระดับจังหวัดขึ้นเป็นระดับภูมิภาคและมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ ตามการเติบโตของขอนแก่นที่มีทิศทางในการเป็นศูนย์กลางด้านต่างๆ มากขึ้น เช่น ศูนย์กลางการประชุมและการจัดนิทรรศการ ศูนย์กลางเศรษฐกิจ ศูนย์กลางทางการแพทย์ ศูนย์กลางการคมนาคมขนส่ง และอื่นๆ
สำหรับรูปแบบการจัดงานในปีนี้ แบ่งเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนที่ 1 โซนนิทรรศการ Smart City ผลงานสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรม เทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมจากสถาบันการศึกษาต่างๆ เช่น ต้นแบบรถรางไฟฟ้า จากบริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) รถแข่งไฟฟ้า จาก มทร.ขอนแก่น ส่วนที่ 2 โซนแสดงนวัตกรรม เทคโนโลยี สินค้าและบริการต่างๆ ของแต่ละอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ เกษตรและอาหาร อสังหาริมทรัพย์และวัสดุก่อสร้าง ซอฟต์แวร์และ ICT เครื่องจักรเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมกว่า 91 บูท รวมถึงเครื่องจักรกลใหญ่ในอุตสาหกรรมหนัก ส่วนที่ 3 กิจกรรมอบรมสัมมนาหลายหัวข้อ เช่น เสวนา Green Industry and Eco Factory การเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมสู่ยุคดิจิตอล และแนะนำวิธีการเข้ารับการส่งเสริมการสนับสนุนจาก DEPA การนัดหมายเจรจาการค้าจับคู่ธุรกิจ ตลอดจนการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคจากโรงงานผู้ผลิตในราคาย่อมเยา
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: