X
สหกรณ์ออมทรัพย์ครู

พบพิรุธสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น ทำเงินหายกว่า 400 ล้านบาท

ขอนแก่น – เปิดใจชมรมสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ท้าชนความไม่ถูกต้อง หลังพบเบาะแสเงินหายกว่า 400 ล้านบาท พร้อมทวงเงินคืนสมาชิก ล้างบอร์ดบริหารให้โปร่งใส

หลังมีข่าวชมรมสหกรณ์ออมทรัพย์ครู จ.ขอนแก่น ได้ออกแถลงการณ์ พบความไม่ชอบมาพากลที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครู จ.ขอนแก่น ได้เปิดบัญชีเงินฝากประจำในกรุงเทพฯ มียอดเงินฝากครั้งแรกกว่า 700 ล้านบาท และมีบางช่วงพุ่งถึง 1,000 ล้านบาท โดยมียอดถอนเงินช่วงหนึ่งกว่า 400 ล้านบาท ซึ่งอาจจะเกี่ยวโยงกับการหมุนเงินไปซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล และขัดแย้งกับระเบียบข้อบังคับของสหกรณ์ฯ

ในวันนี้ผู้แทนชมรมสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครู จ.ขอนแก่น ประกอบด้วย ดร.วิศร์ อัครสันตติกุล ประธานชมรมฯ ดร.จิรพงษ์ ไชยยศ และ นายอุดม สงวนชม รองประธานชมรมฯ ได้เปิดใจกับทีมข่าว 77ข่าวเด็ดถึงที่มาของการออกมาเคลื่อนไหวของชมรมสหกรณ์ออมทรัพย์ครู จ.ขอนแก่น ว่า

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา มีการประชุมสมาชิกสหกรณ์ฯ เพื่อรับรองประธานสหกรณ์ฯ คนใหม่ที่ จ.หนองคาย และมีการพูดคุยถึงเรื่องการดำเนินงานที่ผ่านมา ก็มีสมาชิกท่านหนึ่งได้สอบถามถึงว่า ทราบข่าวว่าเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์ครู จ.ขอนแก่น ได้หายไปประมาณ 400 ล้านบาท เป็นความจริงหรือไม่ อย่างไร ซึ่งพอถามไปแล้วทั้งประธานสหกรณ์ฯ และ ผู้จัดการสหกรณ์ฯ ไม่สามารถตอบคำถามได้ กลายเป็นประเด็นที่สร้างความตระหนกในกลุ่มสมาชิกขึ้นมาว่า เงินจำนวนมหาศาลหายไปจากสหกรณ์ จริงหรือไม่

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ที่จะมีการซักถามในที่ประชุมวันที่ 19 ตุลาคม 62 มีผู้ใหญ่ที่เคยเป็นผู้ดำเนินการสหกรณ์ฯ คือ อาจารย์สมควร จิตแสง อดีต ส.ว.จังหวัดขอนแก่น ได้ส่งหนังสือเข้ามาสอบถามเกี่ยวกับเรื่องของการฝากเงินที่ผิดปกติของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดขอนแก่น ที่นำเงินของสหกรณ์ฯ ไปฝากธนาคารไทยพาณิชย์ที่กรุงเทพฯ เลขบัญชี 144-1-01918-9 ในงบการเงินในเอกสารรายงานประจำปี ตั้งแต่ปี 2554-2561 ระบุเป็นเงินค้ำประกันการจัดซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล

โดย อ.สมควร ได้ตั้งข้อสังเกตในจดหมายว่า เงินดังกล่าวมีการแจ้งว่า เป็นเงินค้ำประกันการจัดซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล ทั้งที่การจัดซื้อสลากได้ยุติไปนานแล้ว แต่เงินก็ยังอยู่ในชื่อบัญชีของพนักงานสหกรณ์คนหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่บัญชีของผู้มีอำนาจของสหกรณ์ และเหตุใดจึงนำเงิน 400 ล้านบาท ไปฝากไว้กับบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งจะได้รับดอกเบี้ยเงินฝากไม่มากนัก แต่กลับไม่นำเงินจำนวนดังกล่าวมาปล่อยกู้ให้กับสมาชิก ซึ่งจะทำให้สหกรณ์ได้รับผลกำไรตอบแทนในจำนวนที่มากกว่า เรื่องนี้จึงกลายเป็นที่โจษจันในกลุ่มสมาชิกว่า เงินของสหกรณ์ฯ หายไป 400 ล้านบาท จริงหรือไม่

ทางกลุ่มจึงได้กลับมาพูดคุยกันว่า ถ้าเป็นเงินของสหกรณ์ที่หายไปถึง 400 ล้านบาทจริง ก็ไม่ใช่เรื่องปกติ ส่งผลให้สมาชิกเกิดความไม่มั่นใจ และมีผลถึงความมั่นคงของสหกรณ์ด้วย จึงได้รวมตัวจัดตั้งเป็น “ชมรมสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดขอนแก่น” ก่อตั้งเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และได้พูดคุยกัน ที่ประชุมก็มีมติว่า ให้สมาชิกมาลงชื่อร่วมกัน เพื่อยื่นข้อเสนอให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่นเปิดประชุมสมัยวิสามัญเพื่อติดตามเงินจำนวนดังกล่าว รวมถึงการสอบถามเพื่อขอความชัดเจนในการบริหารงานของสหกรณ์ฯ ด้วย

หลังจากนั้น ในวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการชมรมฯ ได้นำมติดังกล่าวยื่นเรื่องต่อสหกรณ์ฯ เพื่อขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญภายในระยะเวลา 1 เดือนตามกฎหมาย นอกจากนั้นก็ยังได้ยื่นเรื่องที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดขอนแก่น โดยผ่านท่านผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น และที่สหกรณ์จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ควบคุมดูแลเกี่ยวกับเรื่องของสหกรณ์ อีกส่วนหนึ่งด้วย

จากประเด็นนี้ทางชมรมพบข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปี 2553 สหกรณ์ฯ นำเงิน 748 ล้านบาท ฝากธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเทสโกโลตัส ฟอร์จูนทาวน์ ที่กรุงเทพฯ  จากวันนั้นพบการโอนเงินเข้าออกหลาย ครั้ง บางครั้งมีเงินหมุนเวียนในบัญชีกว่า 1,900 ล้านบาท และพบมีการถอนเงินออกจากบัญชีช่วงหนึ่งจํานวน 400 ล้านบาท โดยมีข้อสงสัยว่า อาจจะเป็นการนำเงินจำนวนนี้ไปหมุนลงทุนซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล ท้ายที่สุดพบหลักฐานมีเงินเหลืออยู่ในธนาคารเพียง 70,000 บาทเศษเท่านั้น

ความไม่ชัดเจนในการบริหารเงิน ไม่เพียงเงินบริหารสภาพคล่อง แต่ยังรวมถึงการบริหารเงินออมสมาชิก และเงินกู้ ที่ไม่มีข้อมูลว่า สหกรณ์นำเงินนี้ในส่วนนี้ไปลงทุนอะไรบ้าง และได้รับผลตอบแทนคืนมาอย่างไร แต่ยังรวมถึงการบริหารงานทั่วไปในสหกรณ์ ประธานชมรมสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครู จ.ขอนแก่น ยกตัวอย่างการจ่ายเงินโบนัสแก่คณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ในปีที่ผ่านมาว่า

“ปีที่ผ่านมา สหกรณ์ฯ ขอนแก่น ประกาศจ่ายโบนัสกว่า 20 ล้านบาท เมื่อเทียบกับร้อยเอ็ด 3.5 ล้าน เทียบกับโคราชซึ่งเป็นสหกรณ์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ จ่าย 6.5 ล้าน เรียกว่า คนทำงานในสหกรณ์ฯ ขอนแก่นจะได้เงินโบนัสเฉียดล้านบาทเลยทีเดียว”

ขณะที่นายอุดม สงวนชม รองประธานชมรมสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครู จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ที่ผ่านมา การบริหารของสหกรณ์ฯ จะกระทำในกลุ่มคณะกรรมการสหกรณ์ฯ สมาชิกไม่มีโอกาสรับทราบเลยว่า จะมีการโอนเงินไปใช้ที่ไหน อย่างไร จนหลายคนเรียกขานสหกรณ์แห่งนี้ว่าเป็น “แดนสนธยา” และการนำเงินไปลงทุนซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลก็ขัดต่อวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ ตาม พรบ.สหกรณ์ พ.ศ. 2542 จึงนำมาสู่สมาชิกร่วมลงชื่อจำนวน 300 ราย เพื่อขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญ

ทั้งนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดขอนแก่นมีฐานะเป็นนิติบุคคล ซึ่งในการบริหารก็จะมีคณะ กรรมการที่แต่งตั้งขึ้นมาทำหน้าที่บริหารงาน จำนวน 15 คน เริ่มตั้งแต่ประธาน รองประธานผู้จัดการ และ คณะกรรมการ ในจำนวนนี้มีกรรมการที่ทำหน้าที่ในการเบิกถอนเงินอยู่ 3-5 คน ซึ่งคณะกรรมการต้องตอบคำถามสมาชิกให้ได้ว่า ถอนเงินไปใช้อะไรบ้าง และใช้เงินตรงตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ฯ หรือไม่  อย่างไรก็ดี ปัญหาที่เกิดขึ้นจำกัดอยู่เฉพาะในบัญชีสภาพคล่องของสหกรณ์เท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับบัญชีเงินออมของสมาชิก ซึ่งในส่วนนี้ยังมีความมั่นคงทุกอย่าง

“ตอนนี้สมาชิกตื่นตัวกันมาก ไม่เคยมีครั้งไหนที่สมาชิกให้ความร่วมมือมากขนาดนี้ ซึ่งอาจเป็นครั้งแรกที่มีการเปิดประเด็นการทำงานของสหกรณ์ฯ ขึ้นมา เพราะเป็นประเด็นที่ร้อนแรง และอึมครึมมานาน ถ้าหากสามารถเซ็ตระบบบริหารงานกันใหม่ได้ก็จะดี เพราะแม้แต่การโอนเงินปันผลให้สมาชิกก็ยังใช้วิธีโอนเงินสดให้คณะกรรมการ แล้วให้กรรมการโอนต่อให้สมาชิกอีกที ไม่ใช่การโอนตรงจากสหกรณ์ฯ ถึงสมาชิก ซึ่งตรงนี้ถือเป็นจุดอ่อน ถ้าแก้ไขใหม่ได้จะดีมาก”

ด้านนายจิรพงษ์ ไชยยศ รองประธานชมรมฯ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สหกรณ์ออมทรัพย์ครู จ.ขอนแก่น ถือเป็นสหกรณ์ขนาดใหญ่รองจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครู จ.นครราชสีมา มีสมาชิกกว่า 20,000 คน มีทุนหมุนเวียนกว่า 27,000 ล้านบาท ในกรณีนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ผู้บริหารสหกรณ์ฯ ควรรีบประกาศเปิดประชุมสมัยวิสามัญและนำข้อมูลออกมาชี้แจงการบริหารเงิน สร้างความเชื่อมั่นแก่สมาชิกและสาธารณชน กู้ชื่อเสียงของสหกรณ์ออมทรัพย์ครู จ.ขอนแก่น

ที่สำคัญองค์กรที่บริหารเงินกว่าหมื่นล้านต้องยืนอยู่บนความถูกต้อง โปร่งใส ต้องยึดหลักว่า สหกรณ์เป็นของทุกคน ไม่ใช่ปล่อยให้ใครคนใดคนหนึ่งมีอิทธิพลครอบงำได้  ทั้งนี้ ทางชมรมฯ ยินดีรับฟังความคิดเห็นของทุกคน ถ้าหากว่า การบริหารงานของสหกรณ์ฯ ถูกต้อง โปร่งใส ทางชมรมฯ ก็ยินดีให้ความร่วมมือเพื่อประโยชน์ของสมาชิกสหกรณ์ฯ ทุกคน

โดยสรุป ทางชมรมฯ ได้รวบรวมข้อคิดเห็นจากสมาชิกเพื่อรวบรวมนำเสนอต่อสหกรณ์ออมทรัพย์ครู จ.ขอนแก่น ในการประชุมสมัยวิสามัญ ประกอบด้วย 1.การติดตามเรื่องเงินว่าหายไปบัญชีจริงหรือไม่  2.เปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นการบริหารงานสหกรณ์ โดยไม่จำกัดเฉพาะผู้แทนสมาชิกสหกรณ์ฯ เท่านั้น  3.มีระเบียบอัตราการจ่ายโบนัสแก่คณะกรรมการและเจ้าหน้าที่อย่างชัดเจน  4.ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากร้อยละ 7 ลงในอัตราที่เหมาะสม  5.นำดอกเบี้ยจากกองทุนฌาปนกิจมาเฉลี่ยคืนให้สมาชิก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ทีมข่าว77ขอนแก่น

ทีมข่าว77ขอนแก่น

ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดขอนแก่น