X
รถไฟฟ้ารางเบาlrt

ครบ 1 ปี บริษัทวิสาหกิจ 5 เทศบาล KKTS พร้อมเดินหน้าก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบาปลายปีนี้

ขอนแก่น – รองนายกรัฐมนตรี“พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง” กล่าวปาฐกถาในโอกาสครบรอบ 1 ปี บริษัทวิสาหกิจ 5 เทศบาล  ยกขอนแก่นเป็นโมเดลของท้องถิ่นในการพัฒนาตนเอง  พร้อมหนุนการสร้างรถไฟฟ้ารางเบา LRT เพื่อให้ขอนแก่นเป็นสมาร์ทซิตี้แห่งแรกในอีสาน

พล.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ยุติธรรม พร้อมคณะได้เดินทางมามอบนโยบายตรวจเยี่ยมพื้นที่เพื่อกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาคเขตตรวจราชการที่ 12 พร้อมกับกล่าวปาฐกถาพิเศษในการประชุมเชิงปฏิบัติการครบรอบ 1 ปี  บริษัท วิสาหกิจของ 5 เทศบาล ณ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น  โดยมีนายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น    พล.ต.กาจบดินทร์ ยิ่งดอน รอง ผอ.รมน.จว.ขอนแก่น   พ.อ.คณธัช  ชนะกาญจน์ รอง ผบ.มทบ.23    รศ.ดร.กิตติชัย  ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดี ม.ขอนแก่น  นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ตัวแทนภาคเอกชน และหัวหน้าส่วนราชการ ให้การต้อนรับ

นายธีระศักดิ์  ฑีฆายุพันธุ์  นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ได้นำผู้บริหารของทั้ง 5 เทศบาลประกอบด้วย เทศบาลเมืองศิลา เทศบาลตำบลท่าพระ เทศบาลตำบลเมืองเก่า และ เทศบาลตำบลสำราญ กล่าวรายงานการดำเนินงานระะบบขนส่งรถไฟฟ้ารางเบา หรือ LRT ของบริษัท 5 เทศบาลว่า “ถือเป็นโชคดีของชาวขอนแก่นที่มีผู้ใหญ่ให้การสนับสนุนผลักดัน จนการดำเนินโครงการมีความคืบหน้า มิเช่นนั้นโครงการก็คงไปไม่ถึงไหน เนื่องจากว่าโครงการแบบนี้ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศ  แต่ละก้าว แต่ละขั้นตอน เป็นเรื่องใหญ่และมีอุปสรรคตลอด  นับย้อนไปตั้งแต่สมัยนายกำธร ถาวรสถิต อดีตผู้ว่าราชการ จ.ขอนแก่น ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 5 คณะ  ซึ่งแต่ละคณะได้ดำเนินการมีความคืบหน้า ดังนี้

คณะที่หนึ่ง โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นชุดของ รศ.ดร.พนกฤษณ์ คลังบุญคลอง ขณะนี้ผลการ ศึกษาเรื่องของรถไฟรางเบาเสร็จแล้ว  ทาง สนข.ให้ความเห็นชอบแล้ว  ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการนำเรียนเพื่อการประสานงานในลำดับต่อไป

คณะที่สอง  โดยบริษัทห้าเทศบาลก็คือ การจัดตั้งบริษัท โดยท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ให้ความเห็นชอบการจัดตั้ง บริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด หรือ KKTS เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 สามารถจดทะเบียนวันที่ 24 มีนาคม 2560 ทำให้การจัดตั้งบริษัทแล้วเสร็จด้วยความเรียบร้อย

คณะที่สาม  โดยสำนักงานธนารักษ์พื้นที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งหยิบเอาเรื่องที่ดินของสถานีวิจัยข้าว และการนำเสนอที่ดินแปลงใหม่ให้ทางกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมการข้าวพิจารณา  ก็มีความคืบหน้าในขณะนี้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ให้การสนับสนุน  ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายก็คือ การพูดคุยเพื่อหาข้อยุติในการลงนามร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ และกรมธนารักษ์ โดยกระทรวงการคลัง ในการขอใช้พื้นที่เพื่อการพัฒนา

คณะที่สี่  โดยแขวงการทางเป็นผู้รับผิดชอบ  เนื่องจากว่าโครงการเส้นทางรถไฟฟ้ารางเบาทั้งหมดซึ่งมีการศึกษาไว้ 5 เส้นทาง  เส้นทางนำร่องสายแรกก็คือ  เส้นทางถนนมิตรภาพ  พื้นที่ที่ใช้ก่อสร้างคือ  เกาะกลางของถนนมิตรภาพซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงคมนาคม  ขณะนี้รอรายละเอียดว่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นมีอะไรบ้าง  ปริมาณรถยนต์จะลดลงหรือไม่  ซึ่งก็เป็นไปตามเงื่อนไขที่ทางขอนแก่นต้องพยายามทำเพื่อให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา

คณะที่ห้า  มีท่านปลัดจังหวัดเป็นผู้ดูแลในเรื่องเกี่ยวกับระเบียบ เนื่องจากว่าในหลายเรื่องที่ดำเนินการในปัจจุบันนี้ไม่มีระเบียบรองรับเพราะเป็นเรื่องใหม่   ที่แม้กระทั่งว่าระเบียบราชการก็ยังตามไม่ทัน     จำเป็นต้องมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายมาช่วยพิจารณาเรื่องของระเบียบกฎหมาย

ซึ่งการดำเนินงานของทั้งห้าคณะนี้ก็มีความคืบหน้าตามลำดับ ขณะนี้เหลือในสี่ขั้นตอนสุดท้ายที่จะต้องผ่านไปให้ได้ หรือเรียกว่า บันไดสี่ขั้น

บันไดขั้นที่หนึ่ง ก็คือการได้ข้อยุติร่วมกับกระทรวงคมนาคมในการนำแผนแม่บทโครงการที่ สนข.ศึกษาแล้วเสร็จ  มาดำเนินการโดยบริษัทห้าเทศบาล โดยจะต้องมีหนังสือจากจังหวัดขอนแก่นในนามบริษัทห้าเทศบาลไปยังกระทรวงมหาดไทย  เพื่อให้กระทรวงมหาดไทยมีหนังสือไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อขอแผนแม่บทของ สนข. มามอบให้บริษัทห้าเทศบาลทำ ขณะนี้หนังสือจากจังหวัดขอนแก่นได้ส่งไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้ว  และเตรียมจะส่งต่อไปยังกระทรวงคมนาคมต่อไป

บันไดขั้นที่สอง ก็คือ  การพัฒนาที่ดินรอบสถานีขนส่งเพื่อก่อให้เกิดรายได้มาเลี้ยงดูโครงการหรือ TOD ซึ่งที่ดินที่จะนำมาพัฒนาก็จะอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานธนารักษ์เขตพื้นที่  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมการข้าวเป็นผู้ใช้พื้นที่  ซึ่งผลดำเนินการมีความคืบหน้าว่า ทางจังหวัดขอนแก่นจะต้องหาที่ดินแปลงหนึ่งประมาณ 500 ไร่  ให้บริษัทห้าเทศบาลส่งมอบต่อให้กระทรวงการคลัง  เพื่อให้กระทรวงการคลังส่งต่อให้ทางกระทรวงเกษตรฯ นำไปใช้งาน  ขณะนี้การดำเนินงานได้เดินทางมาถึงขั้นตอนสุดท้ายที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เห็นชอบในหลักการแล้ว  ก็เหลือการตัดสินใจขั้นสุดท้ายของอธิบดีกรมการข้าว  ก่อนจะไปสู่การลงนามความร่วมมือ

บันไดขั้นที่สาม  คณะทำงานของ จ.ขอนแก่นได้พบปลัดกระทรวงการคลัง  เพื่อให้รายละเอียดแก่  สำนักงานคณะกรรมนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. ซึ่งเป็นผู้ที่ดูแลเรื่องของ พรบ.การให้เอกชนร่วม   ลงทุนในกิจการของรัฐพ.ศ. 2556 หรือ PPP  ขณะนี้ทาง สคร.ได้พิจารณาในเบื้องต้นว่าโครงการของขอนแก่นที่ใช้วิธีการจ้างเอกชนมาบริหาร ไม่น่าจะเข้าข่าย แต่เพื่อความรอบคอบและชัดเจน ก็ได้ข้อยุติว่าในนามของจังหวัดจะมีหนังสือไปถึงกระทรวงการคลังเกี่ยวกับขั้นตอนรายละเอียดการทำความ    ร่วมมือโครงการ เพื่อให้ทาง สคร. พิจารณาว่าจะเข้าข่าย พรบ.ร่วมทุนฯหรือไม่ อย่างไร  ขณะนี้กำลัง ทำหนังสือออกจากจากทางจังหวัดเพื่อให้ทาง สคร.พิจารณา

บันไดขั้นที่สี่ จะเป็นความสำเร็จหลังสามขั้นแรกผ่านไปได้ ก็คือรับโครงการแผนแม่บทจาก สนข. แล้วให้สถาบันการศึกษาในจังหวัดขอนแก่นออกแบบรายละเอียด จากนั้นก็เปิดประชาพิจารณ์ และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ครบถ้วน  รวมถึงเรื่องข้อกฎหมาย เมื่อผ่านทุกอย่างแล้วก็จะสามารถดำเนินการระดมทุน  ซึ่งปัจจุบันนี้ทุนทุกภาคส่วนมีความพร้อมแล้ว หากไม่มีอะไรติดขัดก็คาดว่า ภายในปีหน้าจะเริ่มลงมือก่อสร้างได้

ด้านรองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า “ขอนแก่นมีการขยายตัวมาก เป็นเมืองมหาวิทยาลัย เป็นศูนย์กลางการค้า EWEC มีคนอยู่อาศัยมากขึ้นมี เป็นโอกาสและความท้าทาย กลไกในการขับเคลื่อนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ผมขอบคุณทุกท่านที่ช่วยกันผลักดัน ช่วยกันทำงาน ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี ขอนแก่นก็จะถูกหยิบยกขึ้นมาตลอดว่า น่าจะเป็นโมเดลตัวอย่างที่ผู้บริหารท้องถิ่นได้รวมตัวกันเพื่อนำเสนอแผนเพื่อพัฒนาเมืองของตัวเอง ไม่ใช่เฉพาะตัวผม ทางท่าน รมต. มหาดไทยก็กล่าวเช่นนี้ แม้แต่ท่านรองนายกฯ สมคิด ท่านก็พร้อมให้การสนับสนุน  แม้ว่าจะเริ่มอย่างเป็นทางการมาเพียง 1 ปีก็ถือว่าเป็นงานที่สุดยอด  แม้ว่าภายหน้าจะมีอุปสรรค  แต่ผมก็เชื่อว่าจะสามารถเดินหน้าต่อได้ และผมก็พร้อมช่วยให้การประสานงาน ผลักดันให้สุดความสามารถ”   

จากนั้นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เดินทางไปปาฐกถาในหัวข้อ “KhonKaen Smart City” ภายในงาน อีสานอุตสาหกรรมแฟร์ครั้งที่ 3 ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติขอนแก่น โดยกล่าวว่า Smart City คือรูปแบบของเมืองที่ได้รับการออกแบบโดยให้ความสำคัญกับ 3 องค์ประกอบ คือการพัฒนารูปแบบและโครงสร้างของเมืองที่สอดคล้องกับแนวคิดของเมืองอัจฉริยะ การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม  และการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ประกอบกับการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและข้อมูลมาช่วยในการบริหารจัดการทรัพยากรของเมืองเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป

จังหวัดขอนแก่น ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ภาคเอกชน พร้อมด้วยเทศบาลทั้ง 5 แห่ง กำหนดจัดแสดงผลงานครบรอบ 1 ปี ภายใต้ชื่อว่า “วิสาหกิจของ 5 เทศบาล นวัตกรรมในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ” โดยบริษัท ขอนแก่น ทรานซิทซิสเต็ม จำกัด (KKTS)  ได้ดำเนินโครงการเพื่อเตรียมระบบขนส่งรองรับความเจริญของเมืองขอนแก่นที่เติบโตแบบก้าวกระโดด

ขณะนี้อยู่ในระยะที่ 1 เรียกว่า “ขอนแก่นสมาร์ทซิตี้” โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกันตามนโยบายของรัฐบาลที่เป็นกลไกประชารัฐ เพราะรัฐบาลจะเดินหน้าประเทศไทยให้มีการพัฒนายิ่งๆ ขึ้นไป จะต้องได้รับความร่วมมือกับจังหวัด หลายหน่วยงานในภาคราชการ และภาคเอกชน นอกจากนี้ต้องได้รับความร่วมมือจากชุมชน โดยเฉพาะผู้บริหารท้องที่ ดังเช่นเทศบาล 5 แห่งในเขต อ.เมืองขอนแก่น  

ส่วนในด้านความก้าวหน้าไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการตั้งบริษัทซึ่ง รมว.มหาดไทยได้ลงนามไว้แล้ว พร้อมเตรียมการในการใช้เส้นทางที่จะสร้างรถไฟฟ้ารางเบา LRT ที่ขอนแก่น ได้มีการเตรียมการไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นทางหลวง ถนนของเมืองขอนแก่น พื้นที่ที่จะต้องใช้ในการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบาที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็กำลังดำเนินการในขณะนี้  นอกจากนี้ก็ต้องมีการบริหารจัดการในเรื่องของงบประมาณ  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็กำลังดำเนินการในขณะนี้

อย่างไรก็ตามถ้าเป็นไปตามแผนที่หน่วยราชการ พร้อมกับภาคเอกชนได้วางเอาไว้ ภายในต้นปี 2562 ก็จะสามารถเริ่มโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบา LRT ได้  และขอนแก่นก็จะเป็นเมืองสมารท์ซิตี้ที่เริ่มต้นจากรถไฟฟ้ารางเบา LRT โดยอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย  ประชาชนและนักท่องเที่ยวจะได้ใช้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าว สร้างความเจริญให้กับเมืองขอนแก่นจนเป็นเมืองสมาร์ทซิตี้แห่งแรกในภาคอีสาน  ความประหยัดงบประมาณแผ่นดิน ช่วยลดภาระหนี้สาธารณะได้เป็นอย่างดี

 

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ทีมข่าว77ขอนแก่น

ทีมข่าว77ขอนแก่น

ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดขอนแก่น