ขอนแก่น – หน่วยทหารในพื้นที่ จ.ขอนแก่น ช่วยรับซื้อผลผลิตสับปะรดแจกจ่ายเลี้ยงกำลังพล หลังมีผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากและเร็วกว่าทุกปี จนส่งผลให้ราคาตกต่ำเหลือกิโลกรัมละ 1.8 บาท
หลังมีผลผลิตทางการเกษตรออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะสัปปะรด ซึ่งออกสู่ตลาดจำนวนมากกว่าปกติ ส่งผลให้ขายไม่ได้ราคา เกษตรกรชาวไร่สัปปะรดประสบปัญหาความเดือดร้อน ขาดทุนจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก่ชาวไร่สัปปะรด ผู้บัญชาการทหารบกได้มีนโยบายและสั่งการให้กองทัพบกดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกสัปปะรด ผ่านทางแม่ทัพภาคที่ 2 และผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการ กองทัพภาคที่ 2 รับนโยบาย และสั่งการให้หน่วยขึ้นตรง กองทัพภาคที่ 2 กองกำลังสุรศักดิ์มนตรี และกองกำลังสุรนารี ดำเนินงานโครงการระดมพลัง “ไทยช่วยไทย” เพื่อช่วยแก้ปัญหาราคาสับปะรดตกต่ำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ข่าวน่าสนใจ:
โดยประสานเกษตรกรผู้ปลูกสัปปะรด เพื่อซื้อและจัดส่งสับปะรดให้กับหน่วยทหารในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น จำนวน 7,000 กิโลกรัม ในราคารับซื้อรวมค่าขนส่งกิโลกรัมละ 8.5 บาท โดยมีพลตรีจุมพล จุมพลภักดี ผู้บัญชาการกองพลทหารม้าที่ 3 ค่ายเปรมติณสูลานนท์ และ พันเอก คณธัช ชนะกาญจน์ รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 23 เป็นประธานรับมอบ ณ สโมสรนายทหาร มณฑลทหารบกที่ 23 ค่ายศรีพัชรินทร ตำบลศิลา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ก่อนจะกระจายไปยังศูนย์ฝึกนักศึกษาวิชาทหาร และ โรงพยาบาลค่ายศรีพัชรินทร มณฑลทหารบกที่ 23 กรมทหารม้าที่ 6 และ กรมทหารม้าที่ 7 กองพลทหารม้าที่ 3 และ กรมทหารราบที่ 8 เพื่อไปประกอบเลี้ยงแก่กำลังพลต่อไป
สำหรับสับปะรดที่สั่งซื้อในครั้งนี้มาจากพื้นที่ อ.สามร้อยยอด จ.จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกสับปะรดมากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ถือเป็นหนึ่งในมาตรการเพื่อช่วยแก้ปัญหาราคาตกต่ำ ซึ่งเกิดจากผลผลิตออกเร็วก่อนกำหนดและมีจำนวนมากกว่าทุกปี เนื่องจากสภาพดินฟ้าอากาศเหมาะสม ทำให้ราคาตก ราคารับซื้อหน้าสวนเพียงกิโลกรัมละ 1.8 บาทเท่านั้น
ทั้งนี้จากการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาสับปะรดครบวงจร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2561 เพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาราคาผลผลิตสับปะรดตกต่ำ และมีผลผลิตสับปะรดปริมาณมาก ในช่วงเดือน พ.ค.–มิ.ย. 2561 คาดการณ์ว่า ในเดือน มิ.ย.61 จะมีผลผลิตสับปะรดในปริมาณมากที่สุด ประมาณ 143,100 ตัน ขณะที่โรงงานในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีการลดกำลังการผลิตและเดินเครื่องผลิตเพียง 50 % จากกำลังการผลิตสูงสุด จะทำให้มีสับปะรดส่วนเกินในเดือนมิถุนายน ประมาณ 22,800 ตัน ประกอบกับราคารับซื้อของโรงงานเพียงกิโลกรัมละ 2.4 – 3.0 บาท ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนการผลิตเฉลี่ยที่ 4.68 บาท/กิโลกรัม
หลายฝ่ายจึงยื่นมือเข้าช่วยเพื่อแก้ปัญหาราคาสับปะรดตกต่ำ ทั้งการกระจายผลผลิตสู่ผู้บริโภค การนำสับปะรดเข้าสู่ขบวนการผลิตเป็นอาหารสัตว์ โดยนำสับปะรดมาสับย่อยและหมักเพื่อใช้เป็นอาหารของโคนมและโคเนื้อ และการส่งเสริมการบริโภคสับปะรดในหน่วยงานต่าง ๆ ผลจากการดำเนินงานตามแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว สามารถช่วยบรรเทาผลกระทบของผลผลิตที่เกินจากการผลิตของโรงงาน และกระตุ้นให้โรงงานเพิ่มกำลังการผลิตจากเดิม 50 % เป็น 61 % ดังนั้นคาดว่า จะมีผลผลิตส่วนเกินประมาณ 13,100 ตัน/เดือน แต่ในเดือน ก.ค.เป็นต้นไป ผลผลิตจะออกสู่ตลาดน้อยลงและราคาจะค่อยๆ ปรับเข้าสู่ภาวะปกติ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: