ขอนแก่น – สหกรณ์ จ.ขอนแก่น เผยคดียักยอกเงินสหกรณ์ครูเป็นกรณีตัวอย่างสำหรับทุกสหกรณ์นำไปปรับใช้ป้องกันปัญหา คาดจะสรุปเรื่องในไม่ช้าเพราะไม่ใช่กรณีซับซ้อน
นางวราลักษณ์ กุลบวรรัตน์ สหกรณ์จังหวัดขอนแก่น และ รองนายทะเบียนสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณียักยอกเงิน 431 ล้านบาทที่เกิดขึ้นกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด จนนำไปสู่การแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเบิกถอนเงินในบัญชีสหกรณ์ฯ ดังที่เป็นกระแสข่าวในขณะนี้ว่า
“เรามีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายมาตรา 17 ของพระราชบัญญัติสหกรณ์ ที่จะสามารถเรียกดูเอกสาร เมื่อทางสหกรณ์ส่งสเตทเม้นท์ของธนาคารไทยพานิชย์มาให้ พอทราบว่า ยอดมันไม่ตรงกันกับในรายงานประจำปี หน้าที่ของเราก็คือ สั่งให้ตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเงินหายไปไหน เพราะอะไร ใครเป็นผู้รับผิดชอบ และเมื่อกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วก็จะต้องส่งผลการทดสอบนี้ให้กับคณะผู้บริหารสหกรณ์ออมทรัพย์ครูได้พิจารณา และส่งให้ทางเราด้วย
ข่าวน่าสนใจ:
เมื่อพบว่า มีผู้กระทำความผิดกรรมการก็จะต้องดำเนินการตามกฏหมาย ทั้งคดีแพ่งหรืออาญาอะไรก็แล้วแต่ ให้ดำเนินการภายใน 30 วัน อันนี้เป็นมาตรการที่เราได้สั่งการแล้วซึ่งเขาก็ดำเนินการตามนั้น ตราบใดที่ทางคณะกรรมการสหกรณ์ฯ ยังปฎิบัติหน้าที่อยู่ สหกรณ์จังหวัดเราก็จะไม่ก้าวล่วง แต่จะคอยกำกับดูแลให้เขาดำเนินการด้วยตัวเอง เพราะสหกรณ์เป็นนิติบุคคลเรื่องการดำเนินงานก็จะเป็นเรื่องภายในของเขา ก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสหกรณ์จะไปแจ้งความ แล้วก็เป็นเรื่องของพนักงานสอบสวนต่อไป ซึ่งเขาก็ไปแจ้งแล้ว แล้วเขาก็จะแจ้งผลการสอบสวนมาที่เราอีกครั้งหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งก็คือให้เขารายงานผลการแก้ไขในส่วนของความเสียหาย
เท่าที่ดู คณะกรรมการชุดนี้ก็มีความตั้งใจจะแก้ไขปัญหา เขาก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาติดตามดูแลเรื่อง ก็ดำเนินการด้วยความละเอียดรอบคอบ รัดกุม แต่ต้องยอมรับว่าสำหรับองค์กรใหญ่ขนาดนี้ และต้องย้อนเวลากลับไปหลายปี เอกสารที่ต้องพิจารณาก็จะมีมาก ก็ต้องให้เวลาเขาทำงานพอสมควร แต่เท่าที่ดูก็คิดว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นที่ซับซ้อน เพียงแต่ผ่านเวลามาหลายปีก็อาจจะต้องใช้เวลารวบรวมหลักฐาน
ส่วนในเรื่องที่ว่าประเด็นความผิดจะเกิดขึ้นตรงไหน อันนี้คงต้องไปดู ในเรื่องของรายงานประจำปีตรงนี้ก็มีผู้สอบบัญชีซึ่งทางสหกรณ์ฯ ใช้ผู้สอบบัญชีจากภาคเอกชน เขาก็รับรองตามเอกสารที่ทางสหกรณ์ฯ ส่งไปให้ เพราะเขาไม่ใช่คนทำบัญชี ซึ่งที่เขารับรองยอดมาในแต่ละปี ดูแล้วมันก็ตรงกัน เพราะว่าผู้สอบบัญชีเขาจะรับรองงบเพียงปีละครั้ง เมื่อเวลาแต่ละปีมาถึงเขาก็จะให้ธนาคารยืนยันยอดคงเหลือ ยืนยันยอดลูกหนี้ เจ้าหนี้ ยอดเงินฝากอะไรต่างๆ แต่ระหว่างนั้นคนที่ทำข้อมูลส่งให้เจ้าหน้าที่สอบบัญชีตรวจก็คือเจ้าหน้าที่สหกรณ์ฯ
ตอนนี้ก็เป็นหน้าที่ของทางคณะกรรมการสหกรณ์ฯ จะต้องเข้าไปดูว่า ยอดเงินที่ไม่ตรงกันนี้เกิดขึ้นจากอะไร มีใครทำเอกสารปลอมแปลงอะไรขึ้นมาหรือเปล่า หากพบว่า เกี่ยวข้องกับใครที่ทำให้เกิดความเสียหายก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย ตอนนี้งานส่วนหนึ่งก็คือจะเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่ต้องเข้ามาดู และอีกส่วนก็คือจะเป็นหน้าที่ของทาง สนง.ตรวจบัญชีสหกรณ์ที่ต้องเข้ามาตรวจในเชิงลึกด้วย ซึ่งหากเขาตรวจสอบแล้วพบข้อสังเกตอะไร เขาก็จะรายงานมาที่เราอีกทางหนึ่ง
ที่ผ่านมาก็ได้พูดคุยกับประธานของสหกรณ์ฯ ก็คิดว่าท่านก็ตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหา เราก็เห็นใจสมาชิกว่า เมื่อสหกรณ์เกิดความเสียหายมากขนาดนี้ก็ทำให้สมาชิกเกิดความไม่เชื่อมั่น เพราะสำหรับข้าราชการอย่างเราแล้ว สิ่งที่เป็นที่พึ่งพิงสำหรับข้าราชการได้ก็คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ในสังกัดที่ตนทำงานอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจ สาธารณสุข และอะไรอีกมากมาย เป็นแหล่งเงินทุนที่เขาเข้าถึงได้ง่ายที่สุด แต่ถ้าสหกรณ์เกิดความเสียหายเช่นนี้ มันจะเกิดผลกระทบทั้งในแง่ตัวเงิน เสียหายด้านภาพลักษณ์ ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียง ต่อความเชื่อมั่นของสมาชิก เจ้าหนี้ และบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้อง เราต้องช่วยกันให้กำลังใจให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูก้าวผ่านปัญหาเหล่านี้ แก้ไขปัญหาไปได้ด้วยดี ติดตามเงินกลับคืนมาให้ได้
ที่ผ่านมาสหกรณ์ต่างๆ ใน จ.ขอนแก่น ก็ยังไม่เคยเกิดเรื่องราวที่ใหญ่โตขนาดนี้ ในเคสนี้ที่เกิดขึ้นนี้ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ขอนแก่นหรือจังหวัดไหนก็ถือเป็นกรณีศึกษาที่สหกรณ์จังหวัดต้องเฝ้าระวัง และน่าจะเป็นกรณีศึกษาให้กับสหกรณ์ออมทรัพย์อีกหลายหลายแห่งทั่วประเทศด้วย” สหกรณ์จังหวัดขอนแก่น กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ตามล่าเงินสหกรณ์ครูขอนแก่น 400 ล้าน “ตอ”ท่อนเบ่อเร่อรออยู่ !
- สหกรณ์จังหวัดเข้าตรวจสอบ กรณีร้องเรียนสหรณ์ครูขอนแก่นทำเงินหาย 400 ล้าน
- ช็อก !! สหกรณ์ครูขอนแก่นสั่งฟ้อง 4 บิ๊ก หลังพบถูกยักยอกเงิน 431 ล้าน
- ชง “ดีเอสไอ” ฟัน “4 บิ๊กสหกรณ์” โกงเงินครูขอนแก่น 431 ล้าน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: