X
รถรางบึงแก่นนคร

ขอนแก่นเตรียมสร้าง “รถรางบึงแก่นนคร” นำร่อง ก่อนมีรถไฟฟ้ารางเบา

ขอนแก่น – จังหวัดขอนแก่นจับมือทุกภาคส่วนเตรียมสร้างห้องทดลองระบบรางขนาดเท่าของจริง หรือ “แทรมน้อย” ระยะทาง 4 กม. รอบบึงแก่นนคร  เพื่อนำร่องก่อนมีของจริง  โดยได้รับบริจาคโบกี้มือสองจากญี่ปุ่น  ดึง มทร. เป็นแม่งานหลัก  หวังใช้เป็นแล็บให้นักศึกษาและนักวิจัยจากทั่วประเทศ

ปัจจุบันจะเห็นว่า ระบบรางกำลังเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศในอนาคต ภาครัฐมีนโยบายที่จะสร้างรถไฟฟ้ารถไฟความเร็วสูง รถไฟในเมือง และ รถไฟระหว่างเมือง  สถาบันการศึกษาเปิดการเรียนการสอนหลักสูตรระบบราง กันมากขึ้นในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา  เพื่อเร่งสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้  แต่ในประเทศไทยยังไม่มีห้องทดลองระบบรางที่เห็นภาพรวมการทำงานของรถไฟ หรือแม้แต่กิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี (transit-oriented development หรือ TOD) การบริหารจัดการ และ การซ่อมบำรุง

ขณะที่ จ.ขอนแก่น กำลังเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการสมาร์ทซิตี้ผ่านการสร้างรถไฟฟ้ารางเบา LRT อย่างเต็มกำลัง  กอปรกับจังหวะที่จะได้รับโบกี้รถรางจากประเทศญี่ปุ่น จึงได้เกิดโครงการสร้างรถรางขนาดย่อม หรือ แทรมน้อย เพื่อนำร่องการสร้างรถไฟฟ้ารางเบาในพื้นที่  และถือเป็นห้องทดลองระบบรางครั้งแรกของประเทศที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับนักศึกษาและประชาชนทั่วไป

อ.ปริญ นาชัยสิทธิ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ขอนแก่น ในฐานะเลขานุการโครงการฯ กล่าวว่า โครงการนี้ถือเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญของจังหวัดขอนแก่น องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลตำบลสำราญ เทศบาลตำบลท่าพระ เทศบาลเมืองศิลา เทศบาลตำบลเมืองเก่า  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตขอนแก่น  มหาวิทยาลัยขอนแก่น  บริษัท ขอนแก่นทรานสิท ซิสเต็ม จำกัด (KKTS) และ บริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง (KKTT) จำกัด

จุดประสงค์เพื่อสร้างห้องทดลองระบบรางขนาดเท่าของจริง มีการเดินรถ การซ่อมบำรุง การบริหาร การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีซึ่งต้องบูรณาการศาสตร์หลายแขนง นักศึกษาได้เรียนรู้ระบบจริง ส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ และสามารถให้นักวิจัยมาทำงานวิจัยในด้าน track work ชนิดต่างๆได้

ตามแผนงานที่วางไว้สถานที่ก่อสร้างจะอยู่รอบบึงแก่นนคร  ระยะทางรวม 4 กิโลเมตร ประกอบด้วย สถานี 8 แห่ง  สถานีเชื่อมต่อรถโดยสารประจำทาง 2 แห่ง และ ศูนย์ซ่อมบำรุงและ TOD 1 แห่ง

“เรารับบริจาครถรางที่ใช้แล้วจากเมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 2 โบกี้ โดยศูนย์วิจัยและฝึกอบรมระบบขนส่งทางราง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ขอนแก่น ร่วมกับ สวทช.จะนำมาเป็นต้นแบบในการศึกษาวิจัย เพื่อจะสร้างใหม่อีกหนึ่งโบกี้ด้วยเทคโนโลยีของเราเอง การทำงานจะแบ่งเป็น 3 ช่วงคือ ช่วงแรกจะเป็นการสร้างราง ระยะทาง 4 กิโลเมตร ทดลองนำรถที่ได้รับมาวิ่ง หากเราทำได้ผลดี ทางญี่ปุ่นก็มีโครงการจะมอบรถให้เราเพิ่ม ก็จะเข้าสู่ช่วงที่สองคือนำรถที่ได้รับบริจาคเพิ่มมาวิ่ง และช่วงที่สาม เมื่อรถต้นแบบของเราเสร็จแล้ว เราก็จะเอารถที่เราสร้างขึ้นเองมาวิ่ง

เราแบ่งงานกันรับผิดชอบโดยที่งานในส่วนของตัวรถ ราง และโรงซ่อมบำรุง จะเป็นงานที่ มทร.ขอนแก่น เรารับดูแลทั้งหมด  ส่วนการสร้างสถานี การพัฒนาพื้นที่ TOD และ complete street มหาวิทยาลัยขอนแก่นช่วยเป็นแม่งาน ส่วนงานเกี่ยวกับการจัดพื้นที่รอบบึง การประสานขอรถรางจากญี่ปุ่นจะเป็นหน่วยงานของจังหวัดคือ เทศบาลนครขอนแก่น KKTS และ KKTT ช่วยดูแล แต่ทุกงานก็สัมพันธ์กันทั้งหมด โครงการนี้เราคาดว่า จะใช้งบประมาณราว 200 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี ตอนนี้มีมติให้ มทร.ขอนแก่นเป็นเลขานุการทำงานร่วมกับเทศบาลนครขอนแก่นตั้งอนุกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งที่จะผลักดันเรื่องผ่าน กรอ.จังหวัดขออนุมัติงบประมาณจากกองทุนสมาร์ทซิตี้ของจังหวัดมาใช้ดำเนินการ” อ.ปริญ กล่าว

งานนี้จะเป็นห้องทดลองระบบรางที่แท้จริง เพราะการสร้างรางรอบบึงแก่นนคร ระยะทาง 4 กิโลเมตรจะมีการทดลองสร้างรางประเภทต่างๆ เช่น แบบที่ใช้หินโรยทางและไม่ใช่หินโรยทาง  (Ballast Track / Non Ballast Track) ซึ่งแต่ละแบบจะมีคุณลักษณะพิเศษที่ แตกต่างกัน นั่นคือ ทางรถไฟที่ใช้หินโรยทางรองรับไม้หมอนจะนุ่มนวล มี เสียงดังน้อย แต่เมื่อใช้งานไปสักระยะ ต้องมีการบำรุงรักษาโดยการล้างหิน และอัดหินเพิ่มเติม ในขณะที่โครงสร้างทางรถไฟที่ไม่ใช่หิน (Non Ballast Track) คือการวางรางลงบนแผ่นคอนกรีตอัดแรงที่เรียกว่า ‘สแลบแทรค’ (Slab Track) หรือการวางรางลงบนหมอนคอนกรีตที่วางอยู่บนพื้นคอนกรีตที่มีช่องบังคับ

งานอีกด้านคือ ศูนย์ซ่อมบำรุงและ TOD ในส่วนนี้จะเป็นการก่อสร้างโรงซ่อมบำรุงรถที่จัดพื้นที่ส่วนหนึ่งสำหรับเชิงพาณิชย์ เช่น คอนโดมิเนียม ย่านการค้า คอมเพล็กซ์  มีลักษณะคล้ายสถานีรถไฟฟ้า BTS หรือ สถานีรถไฟฟ้ามหานครในกรุงเทพฯ

นอกจากนั้นเส้นทางของ “แทรมน้อย” ไม่ใช่จะวนอยู่รอบบึงเท่านั้น แต่จะมีการทำเส้นทางเชื่อมต่อจากบึงแก่นนครออกมาที่ถนนศรีนวล ระยะทางประมาณ 400 เมตร  เพื่อสร้างเป็น complete street  หรือ “ถนนที่สมบูรณ์แบบ” นั่นคือการทำให้ถนนกลับมา ‘มีชีวิต’ อีกครั้ง ด้วยการทำให้ถนนนั้น มีความปลอดภัย สวยงาม และ สะดวกสบายต่อ  ผู้ใช้ถนน ‘ทุกคน’ รวมถึงคนเดินเท้า คนขี่จักรยาน และระบบขนส่งมวลชน ไม่ใช่เฉพาะกับรถยนต์เท่านั้น

ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะป็นผู้ออกแบบว่า คนทุกคน รถทุกชนิดจะสามารถใช้ถนนนี้ร่วมกันได้อย่างไร และจะเอื้อประโยชน์ต่อความเป็นอยู่และการดำเนินธุรกิจในพื้นที่สองฝั่งระหว่างเส้นทางได้อย่างไร (รถรางเปลี่ยนเมืองได้อย่างไร 10 เมืองตัวอย่างรถรางเบา) 

ทั้งนี้หลักการของ Complete Street ก็คือ การปรับปรุงเรื่องดังต่อไปนี้  1.ความปลอดภัย  2.ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง 3.เพิ่มทางเลือกนอกเหนือจากการใช้รถยนต์ส่วนตัว  4.กระตุ้นให้เกิดการเดินและใช้จักรยาน  5.สร้างความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของพื้นที่  6.ปรับปรุงปฏิสัมพันธ์ในสังคมและชุมชน  7.เพิ่มมูลค่าที่ดินที่อยู่ติดกับถนน

และในอนาคตเส้นทางของ “แทรมน้อย” ระยะทาง 400 เมตร บนถนนศรีนวล และ 4 กม. รอบ บึงแก่นนคร ก็จะไปเชื่อมต่อกับโครงข่ายรถไฟฟ้า LRT ทั้งระบบ

ขณะนี้ทาง มทร.ขอนแก่น ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนงานด้านต่างๆ โดยมีแผนงานสำคัญคือ การสร้าง tram house ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย เพื่อให้เป็น tram research center

และอีกด้านคือ การวิจัยและสร้างรถ tram ต้นแบบร่วมกับ สวทช. ซึ่งจะใช้เทคโนโลยีและการออกแบบโดยคณะทำงานจาก มทร. เพื่อให้เป็นรถต้นแบบของขอนแก่น

ในอนาคตขอนแก่นไม่เพียงแต่จะผลิตรถรางขึ้นใช้ในพื้นที่ตัวเอง  แต่นี่กำลังจะกลายเป็น “สินค้าอุตสาหกรรมตัวใหม่” ที่จะสร้างงาน สร้างองค์ความรู้ และ สร้างรายได้กลับสู่ชาวขอนแก่นเอง

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ทีมข่าว77ขอนแก่น

ทีมข่าว77ขอนแก่น

ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดขอนแก่น