X
สาวะถีโมเดล

“น้าสน” จัดให้ ”สาวะถีโมเดล” ปลดหนี้เป็น 0 ทั้งตำบลใน 3 ปี

ขอนแก่น-“น้าสน”ทุ่มสุดตัวดัน “สาวะถีโมเดล” นำร่องโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ประชาชนเป็นหุ้นส่วนควบคู่กับการจัดตั้งนิคมเกษตรอินทรีย์ที่ใช้น้ำบาลดาลสูบน้ำด้วยโซล่าร์เซลล์ คาดปลดหนี้เป็นศูนย์ทั้งตำบลใน 3 ปี

หลังจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบเปิดรับซื้อกระแสไฟฟ้าล็อตแรก 700 เมกะวัตต์ กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2563 โดยมีการตั้งคณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชน โดยมีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน เพื่อทำหน้าที่คัดเลือกโครงการที่เอกชนยื่นเสนอเข้ามา โดยตามแผนการโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนจะสามารถให้เอกชนที่สนใจยื่นข้อเสนอให้คณะกรรมการฯ พิจารณาได้ภายในเดือนมกราคมปี 2563 นี้

วันนี้ (19 ธ.ค.) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เดินทางไปพบปะกับผู้นำวิสาหกิจชุมชนจากหลายจังหวัดภาคอีสาน กว่า 1 พันคน ที่ บ้านโนนรัง ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น เพื่อรับฟังความเห็นและนำเสนอรูปแบบของนิคมอุตสาหกรรมเกษตรอินทรีย์สาวะถีนคร ที่จะเป็นพื้นที่นำร่องแห่งแรกของประเทศทั้งรูปแบบการทำการเกษตรโดยใช้น้ำบาดาลที่สูบน้ำด้วยโซล่าเซลล์ และการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่าหลังจากคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กพช.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เห็นชอบโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. กระทรวงพลังงานได้เลือกพื้นที่จังหวัดขอนแก่นเป็นจุดแรกในการประกาศนโยบาย

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า รัฐบาลมีความห่วงใยเกษตรกรเร่งหาแนวทางให้เกิดการดำเนินงานที่มีรายได้ยั่งยืน โดยกระทรวงพลังงานมีนโยบายในการสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลชุมชนเพื่อสร้างความยั่งยืนด้านพลังงาน วันนี้จึงได้เอานโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน มาให้ชาวขอนแก่นที่ถือเป็นศูนย์กลางของภาคอีสานจะได้รับทราบและจะมีส่วนร่วมหรือมีโอกาสในการร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนของรัฐบาลได้อย่างไร

โดยโรงไฟฟ้าชุมชนจะได้ประโยชน์อย่างแท้จริงเพราะจะได้ขายวัตถุดิบที่เป็นพืชพลังงานหรือเศษวัสดุเหลือใช้จากทางการเกษตรให้กับโรงไฟฟ้า และยังมีส่วนในการเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า ที่สำคัญที่ใดเป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้า ชุมชนที่อยู่บริเวณรัศมีโรงไฟฟ้าจะมีค่าไฟที่ถูกลง โครงการนี้เน้นประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง ประโยชน์ที่ทำให้ประชาชนดีขึ้น เช่น การแก้หนี้ หรือการไปเพิ่มรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน จะเป็นแกนหลัก ซึ่งการพิจารณาการตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนบนความพร้อมของประชาชน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน อยากให้เป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างมีปัญหา เช่น มีน้ำน้อย ปลูกพืชการเกษตรไม่ได้ ถ้าพื้นที่เหล่านั้นมาปลูกไผ่ ปลูกกระถินณรงค์ หญ้าเนเปีย ซึ่งใช้น้ำไม่มาก จะพิจารณากรณีแรก ๆ เพราะเป็นพื้นที่ยากจนอยู่แล้ว เพราะพื้นที่นี้จะต้องเพิ่มแหล่งน้ำเข้าไป เพื่อทำให้พื้นที่นั้นได้รับประโยชน์สูงขึ้นในอนาคต  และยังจะมีการใช้เงินจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานใช้ในการพัฒนาแหล่งน้ำให้ประชาชนที่ร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ได้มีน้ำใช้ทางการเกษตรในระยะยาว เพื่อเป็นการบูรณาการ ที่ไม่ใช่การตั้งโรงไฟฟ้าอย่างเดียว แต่เป็นการสร้างความเป็นอยู่ที่ดี สร้างเศรษฐกิจที่ดี และแก้ปัญหาให้พื้นที่โดยการขุดบ่อบาดาลและใช้ระบบโซล่าร์เซลล์ในการสูบน้ำขึ้นมา เป็นแผนบูรณาการที่จะให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับชุมชนที่ตั้งโรงไฟฟ้า

ขณะเดียวกันโครงการนี้เน้นที่ความยั่งยืนและป้องกันปัญหาการไม่รับซื้อวัตถุดิบจากประชาชนจากเอกชนที่ร่วมโครงการ โดยจะมีการทำสัญญา หรือพันธะสัญญาทางการเกษตรระยะยาว 20 ปี เพื่อรับซื้อพืชพลังงาน ทั้งไผ่ กระถินณรงค์ หรือหญ้าเนเปีย กับประชาชนเพื่อให้มีรายได้ต่อเนื่อง ที่สำคัญโรงไฟฟ้าชุมชน คนในชุมชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ โดยชุมชนในพื้นที่จะเป็นหุ้นส่วนโรงไฟฟ้า 10-30 เปอร์เซ็นต์ โดยรูปแบบนี้ชีวิตเกษตรกรดีขึ้นแน่นอนและถือเป็นจุดแข็งของโครงการนี้

“โครงการนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดเองในที่ประชุม ครม. โครงการนี้เป็นโครงการเพื่อประชาชน เพื่อชุมชน กำชับผมในฐานะรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงทำอย่างไรก็ได้ให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงที่สุด ประชาชนต้องมีชีวิตดีขึ้น จะเอาที่นายกฯ สั่งการมาทำเป็นเงื่อนไขประกาศรับ เริ่มที่กลุ่มวิสาหกิจต้องมาช่วย ดูมีความเหมาะสมปลูกไผ่หรือไม่ ถ้ามีพื้นที่รวมตัวกันปลูกไผ่ ถ้ามีพื้นที่สามารถปลูกวัตถุดิบได้เพียงพอ และมีปัญหาแหล่งน้ำ จะพิจารณาเป็นพิเศษ เรียกได้ว่าที่ไหนพร้อม กระทรวงพลังงานก็จะเริ่ม และจะได้เร่งแจ้งข้อมูลให้กับทุกจังหวัด ความพร้อมอีกเรื่องคือ มีสายส่งไฟฟ้าจากโรงงานเข้าไปได้ด้วย ซึ่งจะจับมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตด้วย”

สำหรับ โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ปริมาณไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ (MW) เป็นโรงไฟฟ้าประเภท Non Firm ที่สามารถใช้ระบบกักเก็บพลังงานร่วมด้วยได้ จะเปิดรับซื้อในปี 2563 ปริมาณ 700 MW และกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์สำหรับกรณีโรงไฟฟ้าแบบ Quick Win คือโรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างแล้วเสร็จหรือใกล้แล้วเสร็จ ไฟฟ้าจะเข้าระบบภายในปี 2563 ส่วนโครงการทั่วไปเข้าระบบปี 2564 เป็นต้นไป

ส่วนรูปแบบการร่วมทุนจะมีกลุ่มผู้เสนอโครงการ ซึ่งอาจเป็นภาคเอกชนเข้าร่วมกับองค์กรภาครัฐก็ได้ จะถือในสัดส่วน 60-90% และอีกกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน (สมาชิกไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน) ถือในสัดส่วน 10-40% (เป็นหุ้นบุริมสิทธิไม่น้อยกว่า 10% และเปิดโอกาสให้ซื้อหุ้นเพิ่มได้อีก รวมแล้วไม่เกิน 40%) โดยส่วนแบ่งรายได้จะให้กองทุนหมู่บ้านที่อยู่ใน “พื้นที่พัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่น” ของโรงไฟฟ้านั้นๆ โดยหากเป็นโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) และ ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) ส่วนแบ่งไม่ต่ำกว่า 25 สต./หน่วย และกรณีเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไฮบริด ส่วนแบ่งไม่ต่ำกว่า 50 สต./หน่วย  ส่วนราคารับซื้อก็อยู่ในอัตราเฉลี่ยประมาณ   3–5 บาทต่อหน่วย ตามแต่ละประเภทเชื้อเพลิง

กระทรวงพลังงานตั้งเป้าหมายสนับสนุนให้เกิดโรงไฟฟ้าชุมชนเป็นรูปธรรม โดยคาดว่า ในปี 2563 จะสามารถรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าชุมชนทั่วประเทศได้ราว 700 เมกะวัตต์ ซึ่งจะมีส่วนให้ชุมชนมีรายได้จากการเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าฯ ลดภาระค่าใช้จ่าย มีรายได้จากการจำหน่ายวัสดุทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิง เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างความเข้มแข็งในชุมชน ลดการย้ายถิ่นฐานของแรงงาน เกิดการจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในชุมชน สามารถนำไฟฟ้าที่ผลิตได้ไปสร้างมูลค่าเพิ่มในการประกอบอาชีพของชุมชน ตัวอย่างเช่น ห้องเย็น เครื่องจักรแปรรูปการเกษตร เป็นต้น

นายวิรัตน์ โพธิ์ศรีเรือง ประธานศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนบ้านโนนรัง ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น กล่าวอย่างมั่นใจว่า นิคมอุตสาหกรรมเกษตรอินทรีย์สาวะถีนคร ที่ได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน และเริ่มเป็นรูปเป็นร่างที่ประกอบด้วยแหล่งผลิตพืชอาหาร พืชสมุนไพรและพืชพลังงานในพื้นที่ประมาณ 2 หมื่นไร่ โดยได้รับการสนับสนุนการจัดสร้างบ่อบาดาลสูบน้ำด้วยโซล่าเซลล์ 58 บ่อ และ โรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใช้เชื้อเพลิงจากไม้ไผ่ กำลังผลิตประมาณ 1-2 เมกกะวัตต์ ที่ประชาชนมีหุ้นในโรงไฟฟ้า จะมีส่วนสำคัญที่จะทำให้ชาวบ้านที่ร่วมโครงการจาก 24 หมู่บ้านในตำบลสาวะถี สามารถปลดหนี้ให้เป็นศูนย์ (0) ภายใน 3 ปี

วิรัตน์ กล่าวว่า นิคมอุตสาหกรรมเกษตรอินทรีย์สาวะถีนครที่จัดตั้งขึ้น พัฒนามาจากศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนบ้านโนนรัง ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2543 ที่ประสบความสำเร็จในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว พัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวในรูปแบบต่างๆ จนเป็นที่ยอมรับและสามารถสร้างความเป็นอยู่ให้กับสมาชิก 1,030 ครอบครัว ให้มีรายได้ มีความเป็นอยู่ที่ดี แต่ปัญหาใหญ่คือการขาดแคลนน้ำทางการเกษตร เพราะพื้นที่ทั้งหมดเป็นการทำเกษตรน้ำฝน เมื่อสามารถแก้ปัญหาน้ำทางการเกษตรได้ก็จะทำให้เกษตรกรสามารถปลูกพืชโดยการวางแผนล่วงหน้า มีระบบการจัดการตลาดที่ดี และนิคมฯ แห่งนี้จะเป็นพื้นที่แห่งแรกที่มีการปลูกต้นกันชงในเชิงพานิชย์เป็นแห่งแรก โดยเอกชนจะรับซื้อเมล็ดในราคาประกัน ก.ก.ละ 300 บาท และยังไม่รวมเส้นใย คาดว่า เฉพาะการปลูกพืชกันชง ประกอบกับมีโรงงานไฟฟ้าในชุมชนที่ประชาชนมีหุ้นส่วนและจำหน่ายพืชเชื้อเพลิงคือต้นไผ่ให้กับโรงงานตลอดทั้งปีก็จะทำให้ชาวบ้านมีรายได้ตลอดทั้งปี

การจัดระบบนิคมอุตสาหกรรมเกษตรอินทรีย์สาวะถีนครที่กำลังจะตั้งขึ้นที่ ต.สาวะถี วิรัตน์บอกว่า จะเป็นการพื้นที่ของเกษตรกรทั้งตำบล 24 หมู่บ้าน สมาชิก 2,500 ครอบครัว และมีการจัดระบบการรวมกลุ่มตามสภาพพื้นที่เพื่อสนับสนุนบ่อบาดาลสูบน้ำโดยโซล่าเซลล์ให้ครอบคลุมพื้นที่ โดยจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหญ่กำหนดนโยบาย และมีกรรมการชุดเล็กคอยดูแลภาคการผลิตในส่วนต่างๆ

โรงไฟฟ้าชีวะมวล ที่กำหนดจะตั้งขึ้นภายในนิคมฯ โดยความเห็นชอบของชุมชนจะเป็นโรงไฟฟ้าขนาด 1 เมกกะวัตต์ ที่ใช้เงินลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อไม่ให้โรงไฟฟ้ามีขนาดใหญ่และใช้เงินลงทุนมากเกินไป เพราะจะทำให้ชุมชนเข้าไม่ถึงระบบการบริหารจัดการ

“โรงไฟฟ้าชีวมวลที่สร้างขึ้นก่อนหน้านี้และมีปัญหากับชุมชนมาตลอดเพราะผิดพลาดจากการสร้างตามนโยบายของรัฐ และนายทุนก็มา สร้างโดยชาวบ้านไม่มีส่วนได้เสีย ปัญหาจึงมีมาตลอด แต่การสร้างโรงไฟฟ้าในชุมชนรูปแบบนี้ เราเปิดเวทีพุดคุยหลายรอบและไม่มีใครคัดค้าน”

วิรัตน์ กล่าวอย่างมั่นใจว่า นิคมอุตสาหกรรมเกษตรอินทรีย์สาวะถีนคร ที่เดิมในพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์ทั้งตำบลโดยไม่ใช้สารเคมีอยู่แล้ว จะเป็นโมเดลเริ่มต้นที่จะกระจายไปในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเตรียมการกับหลายภาคส่วนมีการวางแผนจะนำความสำเร็จของโครงการไปกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ในกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์ ( ร้อยเอ็ด,ขอนแก่น,มหาสารคาม,กาฬสินธุ์) ต่อไป

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ทีมข่าว77ขอนแก่น

ทีมข่าว77ขอนแก่น

ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดขอนแก่น