“วัสดุทดแทนซีเมนต์” ผลงานเด่นจากอาจารย์วิศวะ มทร.ขอนแก่น ต่อยอดนำวัสดุเหลือใช้ประเภทเถ้าไบโอแมสชนิดต่างๆ ผสมยางพารากลายเป็นวัสดุชนิดใหม่คล้ายซีเมนต์ ใช้ทำไม้หมอนรางรถไฟหรือเทถนน พบจุดเด่นแห้งเร็ว เนื้อวัสดุแกร่ง ถูกกว่าคอนกรีต 10-20% ทั้งช่วยกระตุ้นปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศ
งานนี้เป็นผลงานวิจัยของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เจริญชัย ฤทธิรุทธ จากสาขาวิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตขอนแก่น ด้วยความเชี่ยวชาญในด้านวัสดุศาสตร์ และมีความสนใจในการคิดค้นวัสดุใหม่ๆ เมื่อมีการรณรงค์ให้มีการใช้ประโยชน์จากยางพาราในรูปแบบต่างๆ จึงกลายเป็นโจทย์ให้คิดค้นหาวิธีใช้ประโยชน์จากยางพาราให้มากขึ้น ด้วยการทดลองนำมาใช้เป็นวัสดุทำถนน โดยการเติมน้ำยางลงในปูนซีเมนต์ แต่กลับล้มเหลวด้วยความไม่ตั้งใจจึงทดลองเติมน้ำยางพาราลงในเถ้าวัสดุเหลือทิ้งที่พบเห็นจำนวนมาก เช่น เถ้าจากโรงงานผลิตไฟฟ้า เถ้าจากโรงงานอาหารสัตว์ หรือเถ้าจากผลิตผลการเกษตร กลับพบว่าได้ผลดีมาก กลายเป็นวัสดุชนิดใหม่ทันที
ข่าวน่าสนใจ:
- นายอำเภอกระนวน จ.ขอนแก่น นำทีมฝ่ายปกครองบุกจับแก็งยาบ้า ขยายผลยึดยาบ้า 600 เม็ด
- ขอนแก่น เอาจริงลุยปราบปรามผู้ค้ายาเสพติด ในพื้นที่อำเภอเมืองขอนแก่น ได้ผู้ต้องหา 4 ราย หลังชาวบ้านแจ้งเบาะแส
- ขอนแก่นจัดงานแถลงข่าว เทศกาลสุดออนซอนแห่งปี! “PlaraMorlum” Isan to the World ระหว่างวันที่ 26-29 ธันวาคม 2567 ณ ขอนแก่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์
“ตอนแรกก็พยายามคิดว่า ทำยังไงเราจะใช้ยางพาราให้มากขึ้น ก็ลองเติมลงในปูนซีเมนต์ แต่ก็ไม่ได้ผล เพราะในวัสดุปูนซีเมนต์ปกติประจุไม่เหมือนกัน ทำให้เมื่อเติมน้ำยางพาราลงไปจะเกาะกันเป็นก้อน แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นเถ้าจากวัสดุเหลือทิ้ง พวก biomass ต่างๆ กลับให้ผลที่ดี นั่นเพราะประจุของวัสดุเถ้าที่เราใช้มันใกล้เคียงกัน เมื่อเติมน้ำยางลงไปจะกระจายไปทั่วคอนกรีต กลายเป็นเนื้อเดียวกัน” ผศ.เจริญชัย กล่าว
เมื่อสามารถคิดค้นวัสดุชนิดใหม่ได้แล้วก็ต้องลองไปทดสอบประสิทธิภาพกัน ทางคณะผู้วิจัยได้ทดลองนำไปทำถนนเพื่อใช้งานจริง ในพื้นที่ตำบลพระลับ อำเภอเมืองขอนแก่น โดยเทเป็นถนนขนาดกว้าง 4 เมตร ยาว 8 เมตร หนา 15 เซ็นติเมตร ผลการทดลองพบข้อมูลที่น่าตื่นเต้นว่า วัสดุชนิดใหม่นี้มีคุณสมบัติไม่แตกต่างจากคอนกรีตทั่วไป แต่ใช้เวลาเซ็ตตัวน้อยมาก เพียง 30 นาทีก็แข็งพอให้รถวิ่งผ่านได้ ยิ่งเมื่อเวลาผ่านไปในสภาพอากาศร้อนจัด เนื้อวัสดุก็ยิ่งแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ขณะที่ต้นทุนการผลิตเท่ากับคอนกรีตทั่วไป
ผศ.เจริญชัย กล่าวว่า “ประเด็นที่จะใช้คือ เมื่อไรที่มันมีการซ่อมเกิดขึ้น มันต้องปิดการจราจร เราก็ต้องพยายามทำให้คอนกรีตแข็งแรงให้เร็วที่สุด เพราะฉะนั้นปูนที่นำมาใช้ก็จะต้องเป็นปูนชนิดพิเศษสำหรับงานซ่อมผมเคยไปถามผู้ประกอบการที่เขาทำเกี่ยวกับวัสดุซ่อม เขาบอกว่า เขาเคยนำเข้าวัสดุซ่อมขนาด 1 ตร.ม. หนา 1 มิลลิเมตร เขาขายกันที่ 1,500 บาท แต่ถนนที่ผมทดลองเทหนา 150 มม. แต่มีราคาเท่ากับคอนกรีตทั่วไป ก็เลยคิดว่าเป็นจุดเด่นในด้านที่ว่าเป็นวัสดุซ่อมที่ใช้เวลาแห้งน้อยมาก และราคาถูกกว่า
เพราะวัสดุที่เรานำมาใช้ มันคือของเหลือทิ้ง 100% จากการกระบวนการผลิตไฟฟ้า หรือการผลิตอาหารสัตว์บ้าง หรือกระบวนการทางการเกษตร เพราะฉะนั้นวัสดุที่เป็นเถ้าเหลือทิ้งเหล่านี้ เราสามารถเอามาใช้ได้ทั้งหมด เพิ่มมูลค่า และลดปัญหาในการทิ้งวัสดุเหล่านี้ เพราะปีหนึ่งๆ ประเทศ ไทยจะมีเศษเหลือทิ้งเหล่านี้ไม่น้อยกว่า 10-20 ล้านตัน เฉพาะในภาคอิสานที่เรากำลังสนใจคือนำเถ้าที่เหลือทิ้งจากการผลิตอาหารสัตว์มาใช้ เพราะแต่ละวันจะมีเถ้าเหลือทิ้งประมาณ 500 กก.ต่อโรงงานหนึ่งโรง นอกจากนั้นก็มีเถ้าของโรงงานกระดาษ และเถ้าของโรงงานน้ำตาล”
นอกจากใช้เป็นวัสดุซ่อมแซม วัสดุใหม่นี้สามารถนำไปใช้ทำอะไรได้อีกบ้าง เจ้าของงานวิจัย กล่าวว่า สามารถเอาไปใช้ทำถนนและผลิตไม้หมอนรถไฟ ซึ่งปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีการขยายเส้นทางทางรางขึ้นมากมาย ทั้งรถไฟและรถไฟฟ้า หากเราคำนวณดีๆ จะพบว่า ความต้องการใช้ไม้หมอนรถไฟจะสูงถึงสิบล้านแท่ง ซึ่งเป็นปริมาณมหาศาล
แต่เมื่อถามถึงต้นทุนการผลิต พบว่า สิ่งที่คิดค้นได้ขณะนี้มีราคาเท่ากับคอนกรีตทั่วไป แต่ยังเป็นราคาในห้องวิจัย ซึ่งหากมีการผลิตเชิงพาณิชย์คาดว่า ราคาของวัสดุชนิดนี้จะถูกกว่าคอนกรีตทั่วไปร้อยละ 10-20 แต่หัวใจสำคัญของงานนี้คือ การใช้วัสดุเหลือทิ้งทั้งหมด แทนที่จะมีค่าใช้จ่ายในการขนวัสดุเหล่านี้ไปทิ้ง ก็นำมาต่อยอดเป็นวัสดุทดแทนปูนซีเมนต์ได้ ลดปริมาณคาร์บอนเครดิตของประเทศลงได้มาก “เพราะการผลิตปูนซีเมนต์ 1 ตัน จะผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1 ตันเหมือนกันในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน แต่การผลิตวัสดุของเราเป็น 0 ในด้านสิ่งแวดล้อมวัสดุของเราจะตอบโจทย์ได้ดีกว่าปูนซีเมนต์แน่นอน ตอนนี้เรากำลังคุยกับทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดว่ามีความเป็นไปได้เพียงไรหากจะผลิตมาใช้งานในจังหวัดเราเองก่อน” ผศ.เจริญชัย กล่าว
ยิ่งไปกว่านั้นจากการวิจัย พบว่า ในการนำไปทำถนน หากเติมน้ำยางพาราลงไปร้อยละ 1 จะสามารถเพิ่มคุณสมบัติของเนื้อวัสดุได้ดีขึ้น “ทุกปีประเทศเราจะใช้ปูนซีเมนต์ประมาณ 50-60 ล้านตัน หากเราใช้ยางพาราร่วมด้วยเพียง 1% เราก็จะใช้น้ำยางพารา 5-6 แสนตันต่อปี ตอนนี้เราพบว่า ยางพาราที่เราผสมกับตัวถนนคอนกรีต เราใช้เพียง 1% มันจะเพิ่มคุณสมบัติทางกล กำลังรับแรงอัด การขัดสี ความยืดหยุ่น ได้ดีขึ้น เหมาะสมสำหรับการทำถนน หากถนน 1 กิโลเมตร กว้าง 6 เมตร เราจะใช้ยางพาราประมาณ 2.2 ตัน เพราะฉะนั้นหากใช้กับถนนหนึ่งเส้นทางจะมีการใช้น้ำยางพาราในปริมาณมหาศาล”
นอกจากนั้นในวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา ทีมผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว.ได้เดินทางมาติดตามความก้าวหน้าของงานวิจัยชินนี้ โดยพบว่ามีความโดดเด่นน่าสนใจ และสามารถผลักดันให้เกิดการผลิตเพื่อการใช้งานจริงต่อไป
นางณพรัตน์ วิชิตชลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง การยางแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิของ สกว.กล่าวว่า “ที่ผ่านมา มีคนเอาน้ำยางพาราไปผสมในซีเมนต์แต่ไม่ได้เอามาทำถนน เอาไปทำอิฐมวลเบา ใช้เป็นวัสดุซ่อม ฉาบ โดยผสมลงในซีเมนต์ แต่สำหรับงานนี้ถือเป็นงานแรกที่ไม่ใช้ซีเมนต์ แต่ใช้เถ้าลอยแทน
ประเทศเราใช้ยางพาราปีละประมาณ 500,000-600,000 ตัน แต่ผลิตได้ปีละประมาณ 4 ล้านตัน เป็นอันดับ 1 ของโลก 80% ส่งขายในรูปยางแผ่นหรือน้ำยางข้นไปต่างประเทศ สำหรับงานวิจัยนี่ก็ถือว่า จะช่วยส่งเสริมให้มีการใช้ยางพารามากขึ้น ใช้เถ้าลอยแทนซีเมนต์ และเอายางเข้าไปช่วยเสริม ก็สามารถเอาไปใช้ได้ทั้งส่วนที่ซ่อมแซมและส่วนที่ทำถนนจริงๆ แต่ทาง สกว.เราก็ต้องการผลักดันว่า ถ้าจะทำถนนยางพาราก็ต้องทำให้ถึงขั้นที่มีมาตรฐาน เพราะถนนเป็นเรื่องของความปลอดภัย ก็คงต้องทำต่อเนื่องในงานวิจัยขั้นต่อไป
อีกอย่างสิ่งที่ทาง สกว. ต้องการเน้นในฐานะผู้ให้ทุนสำหรับงานวิจัยนี้คือ เป็นงานที่รักษาสิ่งแวดล้อม ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้มาก เพราะฉะนั้นถ้าสามารถใช้วัสดุนี้ก็จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม เพิ่มปริมาณการใช้ยางพารา และช่วยทำให้ถนนแข็งแรง ทนทานขึ้น ได้ประโยชน์หลายด้าน”
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: