ขอนแก่น – กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพมอบเงินญาติเหยื่อคดีอาชญากรรม ลูกชายคดีเหยื่อสมคิด เข้ารับเงินชดเชย 1 แสนบาท ยอมรับยังทำใจไม่ได้
เช้าวันนี้ (20 ม.ค.63) ว่าที่ร้อยตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดงานพิธีมอบเงินเยียวยาเหยื่ออาชญากรรมตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 และการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อวิพากษ์ร่างรายงานประเทศตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) โดยมีนางสาวเอมอร เสียงใหญ่ รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และ นายปานทอง สระคูพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ร่วมในพิธี
การจัดงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพบปะและรับฟังปัญหาต่างๆ ของประชาชนที่ตกเป็นผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา และรณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ตระหนักและเห็นความสำคัญเกี่ยวกับบทบาทภารกิจกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยเหลือผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่นโยบายกระจายอำนาจการพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญาและชี้แนะช่องทางการให้ความช่วยเหลือผ่านสำนักงานยุติธรรมจังหวัด ทั้ง 76 จังหวัด รวมถึงรวบรวมข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นต่อร่างรายงานประเทศตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
โอกาสนี้กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้มอบเงินเยียวยาให้แก่ผู้เสียหายในคดีอาญาตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559 ในเขตพื้นที่จังหวัดขอนแก่น จำนวน 20 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,171,066 บาท
เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “วันนี้มีการจัดสัมมนาเชิงวิชาการร่วมกับการมอบเงินเยียวยาแก่ผู้เสียหายในคดีอาญา ซึ่งหนึ่งในผู้เสียหายที่เข้ารับเงินทดแทนตามพรบ.กองทุนทดแทนตรงนี้ ก็คือเหยื่อในคดีนายสมคิด พุ่มพวง ที่เป็นฆาตกรต่อเนื่อง ซึ่งตามกฎหมายประชาชนคนใดก็ตามที่ได้รับผลกระทบในคดีอาญานะครับ หรือต้องการความช่วยเหลือจากทางกรมคุ้มครองสิทธิ์นะครับ ก็สามารถที่จะมาติดต่อที่จังหวัดได้นะครับ
เช่นกรณีของเหยื่อสมคิด ฆาตกรต่อเนื่องนะครับ ต้องถือว่าทางผู้ตายเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบและข้อกฎหมายในส่วนของ พรบ.ทดแทน วันนี้ทางญาติก็จะได้รับเงินเยียวยาไปจำนวนทั้งสิ้น 100,000 บาทนะครับโดยมีคณะกรรมการพิจารณาใน 2 ส่วน คือเรื่องของเงินเยียวยาช่วยเหลือในเรื่องของค่าทำศพ นะครับจำนวนทั้งสิ้น 20,000 บาทและการเสียชีวิตได้อีก 80,000 บาทนะครับ
บังเอิญว่าทางบุตรของผู้ตายบรรลุนิติภาวะเป็นที่เรียบร้อยแล้วนะครับก็เลยไม่ได้รับในส่วนที่เกี่ยวข้องกับค่าอุปการะเลี้ยงดู ซึ่งถ้าหากว่าเป็นจำเลยในคดีอาญาอื่นนะครับอาจจะได้รับในส่วนของค่าอุปการะตรงนี้เพิ่มเติม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นมาตรฐานเดียวกันนะครับ เพราะจะมีความแตกต่างในเรื่องของคดีความทั้งหลายทั้งปวง ทางคณะกรรมการจะพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วก็ให้สิทธิ์แก่พี่น้องประชาชนอย่างสูงสุด
ยกตัวอย่างเช่นคดีน้องลัลลาเบลที่เสียชีวิต ตอนแรกพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาเป็นเรื่องของการอนาจาร ตรงนั้นก็อาจจะได้รับเงินแค่บางส่วน แต่ต่อมาทางพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาเพิ่มเติมในเรื่องของการกระทำแล้วมีการเสียชีวิตเกิดขึ้น ก็ทำให้ได้รับสิทธิ์ของเงินกองทุนตรงนี้เพิ่มมากขึ้นนะครับ นี่เป็นตัวอย่างที่จะได้เห็นเรื่องของกระบวนการทางกฎหมายที่ทางกระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิ์ฯ มีพระราชบัญญัติตัวนี้นะครับ
ก็ขอฝากบอกว่า หากใครที่ได้รับผลกระทบนะครับให้เร่งติดต่อเข้ามาที่กระทรวงยุติธรรมหรือ “ศูนย์ยุติธรรมสร้างสุข” ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ เพื่อจะได้รับสิทธิ์ตรงนี้เพราะเป็นงบประมาณที่ทางรัฐบาลให้ความสำคัญมากๆ นะครับ จำนวนเงินสูงสุดที่เคยมอบถ้าหากว่ามีการเสียชีวิตนะครับ ที่เคยมอบประมาณ 140,000 บาท เพราะเป็นเรื่องของกระบวนการเช่นการตายอย่างทรมานนะครับ ยกตัวอย่างเช่นคดีฆ่ายัดถัง คือเขายังไม่เสียชีวิตแต่ไปยัดไว้ในถังนะครับ เป็นลักษณะเข้าข่ายการทรมาน จะต่างกับกรณีของสมคิด พุ่มพวงที่เป็นการฆ่าและเสียชีวิตแบบทั่วไป ตรงนี้ก็จะมีการพิจารณาที่แตกต่างกันครับ”
ด้านนายจักรกฤษ เชือกพรม บุตรชายนางรัศมี มุลิจันทร์ เหยื่อที่ถูกนายสมคิด พุ่มพวง ฆาตกรรมจนเสียชีวิตเหตุเกิดที่ อ.กระนวน จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา กล่าวว่า เงินที่ได้รับนี้ก็สามารถเข้ามาช่วยเหลือครอบครัวได้ เพราะจะนำเงินที่ได้รับไปใช้ในการจัดการศพและหนี้สินที่ยังค้างของแม่ สำหรับคดีที่เกิดขึ้นก็ยังพูดไม่ออก ได้แต่ทำใจเพราะแม่ก็เสียชีวิตไปแล้ว ส่วนตนขณะนี้ประกอบอาชีพนวดและค้าขายอาหารทะเลแห้งอยู่ที่ อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี ส่วนพี่ชายก็ทำงานอยู่คนละแห่ง ที่ผ่านมา นานๆ ก็จะกลับบ้านไปเยี่ยมแม่สักครั้งที่ อ.กระนวน
ต่อจากนั้นเป็นการวิพากษ์ตั้งรายงานประเทศตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งนอกจากกระบวนการจัดทำรายงานประเทศจะเป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการทบทวนสถานการณ์ภายในประเทศที่เกี่ยวกับสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมแล้ว ยังเป็นโอกาสในการเผยแพร่ให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบถึงหลักการและสาระสำคัญของกติกาฯ กระบวนการจัดทำรายงานประเทศฯ พัฒนาการ ข้อห่วงกังวล ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสหประชาชาติที่มีต่อประเทศไทย เพื่อทุกหน่วยงานจะได้นำไปปรับใช้ หรือปรับปรุงการดำเนินงานต่อไปได้
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการประชุมฯ ได้ร่วมกันให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่อร่างรายงานประเทศฯ ตลอดจนข้อมูล พัฒนาการ ปัญหา อุปสรรค และข้อท้าทายในการดำเนินงาน ภายใต้กรอบกติกาฯ เพื่อกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม จะได้นำข้อมูลดังกล่าวไปประกอบการจัดทำรายงานประเทศฯ ให้มีความสมบูรณ์ สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และบริบทสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศไทยต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- คุ้มกันเข้ม !! ตำรวจกระนวนนำตัว “คิด เดอะริปเปอร์” ทำแผนเช้านี้
- สมคิด พุ่มพวง ฆ่าแล้วหนีใจเย็น แวะซุ่มจอดรถในโรงพยาบาล พื้นที่มหาสารคาม
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: