X
ผ้าไหม12ฮีต

‘ผ้าไหม12ฮีต’ บทบันทึกวิถีชีวิตชาวอิสาน ผ่านงานทอลายผ้าตามจารีต  

‘ผ้าไหม12ฮีต’ หนึ่งเดียวในอิสาน ผลงานสร้างสรรค์จากบ้านหนองบัว อ.พล จ.ขอนแก่น หมู่บ้านที่ยังคงกลิ่นอายวิถีชีวิตอิสาน และสืบทอดการทอลายผ้าตามงานบุญประจำเดือน 

เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นเรื่องหนึ่งของชาวอิสานคือ การยึดถือ “ฮีต”  คำว่า “ฮีต” มาจากคำว่า จารีต หมายถึงสิ่งที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา  จนกลายเป็นประเพณีที่ดีงาม  ชาวอีสาน เรียกว่า จาฮีต หรือ ฮีต  แต่ละเดือนจะมีจารีตที่ประพฤติปฏิบัติในเดือนนั้น ๆ จนเกิดเป็นคำว่า “ฮีตสิบสอง” หมายถึง วิถีปฏิบัติทั้ง 12 เดือนในหนึ่งปี  ทั้งหมดล้วนเป็นกุศโลบายที่ส่งเสริมให้คนในชุมชนได้ออกมาพบปะสังสรรค์กัน  เพื่อความสนุกสนานและสมัครสมานสามัคคีรักใคร่กัน

แต่ละเดือนจะมี “ฮีต” หรือ ประเพณีที่ชาวอิสานให้ความสำคัญมาก เช่น ฮีตบุญข้าวจี่ในเดือนสาม หรือ ฮีตบุญข้าวประดับดินในเดือนเก้า  แต่ละหมู่บ้านจะกำหนดวันทำบุญประจำเดือน  ในวันนั้นทุกคนจะแต่งกายอย่างประณีต  ด้วยผ้านุ่งผืนที่ดีที่สุดเพื่อเข้าร่วมงาน  ส่วนใหญ่จะนำผ้าไหมออก มานุ่งห่ม  เพราะคนอีสานโบราณถือว่าผ้าไหมเป็นผ้าชั้นสูง  ต้องมีงานบุญงานทานจึงจะนุ่งผ้าไหม จะไม่เอามานุ่งทั่วไป  ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการทอผ้าเป็นลวดลายเฉพาะสำหรับงานบุญประจำเดือนนั้นๆ เรียกว่า “ผ้าไหม 12 ฮีต”

คุณศรีส่องบุณ ตระกูลวงศ์บุญศรี  ลูกหลานชาวบ้านหนองบัว ผู้ค้นคว้าการทอผ้าไหม 12 ฮีต เล่าว่า ชาวบ้านที่นี่ยังมีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม  ที่ใต้ถุนบ้านจะเห็นกี่ทอผ้าตั้งอยู่แทบทุกหลังคาเรือน  ที่นี่เป็นหมู่บ้านที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานขอนแก่น กำลังผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยววิถีชุมชน  สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจต้องการสัมผัสวิถีชีวิตของชาวอิสาน สามารถเข้ามาชมการผลิตผ้าไหมด้วยวิถีธรรมชาติ เข้าร่วมงานบุญประจำเดือนของหมู่บ้าน ชมบ้านร้อยปี และลิ้มลองอาหารอิสานรสเลิศ

“เพราะเราโตมาในหมู่บ้าน  ได้เห็นการใช้ชีวิตแบบพื้นบ้าน ได้เห็นแม่ เห็นย่า เห็นยาย นุ่งซิ่นผ้าไหมไปงานบุญกันเป็นเรื่องปกติ ผู้หญิงในหมู่บ้านจะทอผ้าซิ่นลายนี้ สำหรับนุ่งไปเอาบุญเดือนนี้ หรือถ้าเห็นใครทอผ้าลายนี้ ก็รู้เลยว่า กำลังจะถึงงานบุญอะไร กลายเป็นปฏิทินที่เราเห็นเป็นเรื่องธรรมดา เรื่องนี้ถ้าเล่าให้คนสมัยนี้ฟังอาจไม่เข้าใจ แต่คนสมัยก่อนเขาทอผ้ากันเป็นเรื่องปกติ  เช่นถ้าบอกให้ทอลายดอกแก้ว ทุกคนจะรู้เลยว่าต้องมัดหมี่ยังไง ต้องทอยังไง มันมีมาตรฐานของลายอยู่แล้ว  แต่อาจแตกต่างไปตามฝีมือการทอของแต่ละคน  ที่อาจจะมีดอกเล็ก ดอกใหญ่ หรือใช้สีไม่เหมือนกัน

แต่พอเราโตขึ้นออกมาใช้ชีวิตข้างนอกกลายเป็นว่า ไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้เลย  ไม่มีใครรู้ว่าการทอผ้าเอาบุญแต่ละเดือนเป็นยังไง  ก็อาจเป็นเพราะเขาไม่ได้โตมากับสิ่งเหล่านี้  บางคนออกมาเรียนในเมือง ออกจากหมู่บ้านตั้งแต่เด็ก ไม่ได้ใช้เวลาอยู่กับมันนานพอเหมือนอย่างเรา  เลยเป็นสิ่งที่ทำให้เราอยากเก็บรวบรวมเรื่องนี้เอาไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวของเราเอง”

ดังนั้นผ้าไหม 12 ฮีต จึงมีความสัมพันธ์กับทั้งสภาพดินฟ้าอากาศ วัฒนธรรมประเพณี ศาสนา อาชีพ พืชพรรณ และความเชื่อของคนอิสาน  ประกอบด้วย

  1. มกราคม – เดือนอ้าย (เดือนเจียง) “บุญเข้ากรรม”

ถือเป็นกิจกรรมของสงฆ์ เมื่อถึงเดือนอ้าย  พระสงฆ์จะต้องเข้ากรรม เป็นพิธีที่เรียกว่า “เข้าปริวาสกรรม” โดยให้พระภิกษุผู้ต้องอาบัติ (กระทำผิดเล็กๆ น้อยๆ ที่สามารถปลงอาบัติได้) ได้สารภาพต่อหน้าคณะสงฆ์ เพื่อเป็นการฝึกจิต สำนึกถึงความบกพร่องของตนเอง และมุ่งประพฤติตนให้ถูกต้องตามพระวินัย  พุทธศาสนิกชนจะเตรียมหาข้าวของเครื่องอุปโภคบริโภคไปถวายพระ ซึ่งถือว่าจะได้บุญมากกว่าการทำบุญตักบาตรทั่วไป

ผ้าไหมจะมัดเป็นลายข้าวหลามตัด  เพราะในช่วงนี้ชาวบ้านจะถวายข้าวหลามแด่พระสงฆ์  ซึ่งเป็นข้าวหลามที่ทำจากข้าวที่เพิ่งเก็บเกี่ยวใหม่ๆ  เนื่องจากกรรมวิธีในการทำข้าวหลามสมัยก่อนยุ่งยากมาก  กว่าจะได้ข้าวหลามไปถวายพระ  ต้องเข้าป่าไปตัดลำไม้ไผ่ในป่า  ซิ่นที่ใส่ถูกมัดเป็นลายหมี่บอกเล่ากรรมวิธีซับซ้อน   ลายหมี่ดั้งเดิมจะเป็นลายที่มี รายละเอียดซับซ้อนมาก

  1. กุมภาพันธ์ – เดือนยี่ “บุญคูณลาน”

จะทำช่วงหลังเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว  ในพิธีนี้จะนิมนต์พระสงฆ์ไปเทศน์ที่ลานนวดข้าว  มีการทำบุญตักบาตรเลี้ยงพระ ประพรมน้ำมนต์แก่ชาวบ้าน ลานนวดข้าว ที่นา ต้นข้าว  เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่การเกษตร ทำให้ข้าวในนาอุดมสมบูรณ์  เมื่อเสร็จพิธีทำบุญคูณลานแล้ว  ชาวบ้านจะขนข้าวใส่ยุ้ง  และทำพิธีบายศรีสู่ขวัญพระแม่โพสพ เพื่อขอให้พระแม่โพสพบันดาลให้มีผลผลิตข้าวมากๆ อีกในปีหน้า

ผ้าไหมจะมัดเป็นลายขันหมากเบ็งน้อย (พานบายศรี) ซึ่งเป็นสิ่งที่ใช้ในงานบูชา หรือพิธีมงคลทั้งหลายของชาวอีสาน

  1. มีนาคม – เดือนสาม “บุญข้าวจี่”

เป็นช่วงปลายหน้าหนาว  มีตำนานเกี่ยวกับนางสุชาดาซึ่งเป็นชายาของพระอินทร์ เป็นผู้ไม่ค่อยได้บำเพ็ญกุศลทำบุญ  ต่อมาได้เกิดมาเป็นนางนกกระยางขาว  พระอินทร์จึงทรงมาโปรด  พร้อมสั่งสอนให้บำเพ็ญกุศลเพื่อจะได้กลับไปเสวยสุข  เวลาไปทำบุญที่วัด พระมักจะเทศน์เรื่องนางสุชาดาให้ญาติโยมฟังถือเป็นนิทานประจำฮีต  ที่สอนให้ชาวบ้านรู้จักทำบุญทำทาน อย่าได้ตระหนี่ เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวในนาแล้ว  ได้ข้าวใหม่ให้รู้จักแบ่งปันกัน

ชาวบ้านจึงทอผ้าไหมเป็นลายนกกระยางขาว  ใช้สวมใส่ไปทำบุญประจำฮีตนี้สืบต่อกันมา

  1. เมษายน – เดือนสี่ “บุญผะเหวด”

บุญผะเหวดหรือบุญมหาชาติ เป็นงานบุญเดือนสี่ ถือเป็นบุญใหญ่  ต้องใช้เครื่องบูชาชั้นสูง ชาวบ้านจะเตรียมเครื่องถวายพร้อมขันหมากเบ็ง (พานบายศรี) ขนาดใหญ่กว่า  และมีจำนวนมากกว่าบุญเดือนยี่ (บุญคูณลาน ขันหมากเบ็งน้อย)

ลายผ้าไหมจะเป็นภาพขันหมากเบ็ง  แต่ลวดลายจะซับซ้อนกว่าแบบบุญเดือนยี่ มัดหมี่ยากกว่า การทอใช้ตะกรอมากกว่า

  1. พฤษภาคม – เดือนห้า “บุญสงกรานต์”

เป็นการทำบุญวันขึ้นปีใหม่ของไทยแต่โบราณ  จะมีพิธีสรงน้ำพระพุทธรูป สรงน้ำขอพรจาก พระสงฆ์ ผู้เฒ่าผู้แก่ พ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่   ชาวบ้านจะทำบุญตักบาตรก่อพระเจดีย์ทราย และเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน

ใช้ผ้าไหมลายขาเปีย  มีความหมายคล้ายๆ กับ การไขว้  การเกี่ยวพัน หมายถึงความผูกพันของชาวบ้าน  เมื่อถึงเดือน 5 ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนให้กลับมารวมกัน  ผูกพันกันเหมือนลายขาเปียผูกฝั่น  คือด้ายพันผูกแขน

  1. มิถุนายน – บุญเดือนหก “บุญบั้งไฟ”

บุญบั้งไฟจะจัดก่อนฤดูทำนา ด้วยความเชื่อว่า เป็นการขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้าในนาอุดมสมบูรณ์  ก่อนการจุดบั้งไฟจะมีการแต่งขันเอ้ (ขันห้าบูชาแถน) ในพานบูชาของคนอีสานจะมีดอกไม้ชนิดหนึ่ง คือดอกทองพันชั่ง สีขาวๆ คนอีสานโบราณเรียกว่า ดอกแก้ว ตามความเชื่อของคนอีสาน  ดอกไม้ที่เตรียมมาสำหรับถวายพระ  ที่ใส่เข้ามาในพานจะเรียกรวมว่า ดอกแก้วทั้งหมด

ลายซิ่นฮีตนี้จะถูกมัดเป็นลายดอกแก้ว หรือ ดอกทองพันชั่ง  ไหมจะผูกเป็นลายนี้  สีที่ใช้มักจะเป็นสีเขียว  ซึ่งแสดงถึงฤดูกาลช่วงฤดูฝนที่พืชพรรณกำลังงอกงาม

  1. กรกฎาคม – เดือนเจ็ด “บุญซำฮะ”

บุญเบิกบ้าน  บุญแตกบ้าน หรือบุญซำฮะ เป็นงานบุญในช่วงเดือน 7 เป็นเดือนที่เริ่มเข้าหน้าฝน ถือเป็นช่วงเริ่มต้นการทำนา คำว่า ซำฮะ เป็นภาษาอีสานแปลตรงตัวว่า ชำระ เอาสิ่งไม่ดีออกไปก่อนที่จะเริ่มต้นทำสิ่งดีๆ  การทำบุญซำฮะนี้ชาวบ้านจะพากันเก็บกวาดบ้านเรือนให้เรียบร้อย เป็นการทำความสะอาดครั้งใหญ่ในรอบปี

ลักษณะลายหมี่เป็นลายฟันเลื่อย ตามความฮีตเก่าว่า  ใช้เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ลงไร่ ลงนา ถางป่า ตัดดงให้โล่ง ให้เกลี้ยง เพื่อให้นาได้ผลผลิตดี  ไม่มีต้นไม้หรือวัชพืชบดบังต้นข้าวในไร่นา

  1. สิงหาคม – เดือนแปด “บุญเข้าพรรษา”

เป็นช่วงที่พระภิกษุสามเณรต้องอยู่ประจำวัดตลอด 3 เดือน เนื่องจากช่วงนี้เป็นฤดูแห่งการทำเกษตรจึงห้ามพระภิกษุสามเณรออกเดินทาง  เพราะไม่ต้องการให้ไปเหยียบย่ำพืชผลที่ชาวบ้านเพาะปลูกไว้  ชาวบ้านจะหล่อเทียนใหญ่ถวายเป็นพุทธบูชาและจะเก็บไว้ตลอดพรรษา

ช่วงนี้จะใช้ซิ่นที่เรียกว่า ซิ่นเอาบุญ ชื่อลายหมากหญ้าหยุม  ความดั้งเดิมของลายนี้  กล่าว ถึงสตรีที่แฟนหนุ่มบวชเป็นพระ  จะต้องจำพรรษาในวัดถึง 3 เดือน เธอต้องไร่ทำนาทำนา ทั้งยังต้องส่งปิ่นโตอาหารให้พระ (อาจจะเป็นญาติพี่น้องผู้ชายในบ้านหรือแฟนหนุ่มที่บวชอยู่ที่วัด) ต้องเดินลัดเลาะไปตามคันนา มีโคลนกระเด็นใส่ มีหญ้าเจ้าชู้เกาะชายผ้าซิ่นเต็มไปหมด ลวดลายผ้าจะออกมาเป็นลายดอกดวงเล็กๆ และนิยมย้อมด้วยสีธรรมชาติเป็นสีออกคล้ำๆ เหมือนสีโคลน

  1. กันยายน – เดือนเก้า “บุญข้าวประดับดิน”

เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้ว  ชาวบ้านจะทำข้าวปลาอาหารคาวหวาน และข้าวต้มมัด พร้อมหมากพลูที่ห่อใส่ใบตองแล้วนำไปวางตามโคนต้นไม้ในบริเวณวัดและรอบๆ บ้าน(ที่เรียกว่า ข้าวประดับดินคงเป็น เพราะเอาห่อข้าวและเครื่องเคียงไปวางไว้บนดิน) เพื่อให้ญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้วหรือผีบ้านผีเรือนมากิน  เพราะเชื่อว่าในเดือนเก้านี้  ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วจะได้รับการปลดปล่อยให้ออกมาท่องเที่ยวได้  จากนั้นจะมีการทำบุญตักบาตร สมาทานศีล ฟังเทศน์  และกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลแด่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

ใช้ผ้าซิ่นลายเครือกาหลง  เป็นการมัดลายจากธรรมชาติป่าอีสานสมัยโบราณ  เนื่องจากเดือน 9 เป็นเดือนที่ฝนตกชุก ป่าไม้ใบหนา จนแม้แต่อีกายังบินหลงรัง ลายผ้าจะมัดเป็นลายละเอียดซับซ้อนมากเหมือนเครือไม้ในป่าโบราณ

  1. ตุลาคม – เดือนสิบ “บุญข้าวสาก”

เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย โดยจะทำสลากให้พระจับ เพื่อที่จะได้ถวายของตามสลากนั้น เป็นการทำบุญที่ต่อเนื่องจากพิธีบุญข้าวประดับดินในเดือน 9 เพราะถือว่าเป็นการส่งเปรตหรือผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ที่ได้ออกมาท่องเที่ยวให้กลับสู่แดนของตน  ในเดือน 10 นี้ ชาวบ้านจะนำข้าวปลาอาหารไปทำบุญที่วัดในตอนเช้า โดยนำห่อข้าวสาก (เหมือนกับห่อข้าวประดับดิน) ไปวางไว้บริเวณวัดเพื่อให้ญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้วมารับอาหารและผลบุญที่อุทิศให้ จากนั้นชาวบ้านจะนำข้าวสากที่พระสวดเสร็จแล้ว กลับไปที่บ้าน  ไปวางไว้ตามทุ่งนาและรอบบ้าน เพื่อให้ผีบ้าน  ผีเรือน เจ้าที่เจ้าทาง หรือผีที่ไร้ญาติมารับส่วนบุญ

ลายผ้าจะผูกเป็นลายสายก่องข้าว  เป็นลายหมี่ที่ผูกขึ้นมาให้คิดถึงญาติพี่น้องที่ล่วงลับว่า ถ้าไม่ไปทำบุญ ญาติที่ตายไปจะไม่ได้กินข้าวเป็นผีอดอยาก หิ้วตะกร้า สะพายก่องข้าวมายืนร้องไห้  เพราะลูกหลานไม่ทำบุญอุทิศไปให้

  1. พฤศจิกายน – เดือนสิบเอ็ด “บุญออกพรรษา”

ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หลังพระภิกษุสามเณรได้เข้าพรรษาเป็นเวลาถึง 3 เดือน ในวันที่ครบกำหนด พระภิกษุสามเณรจะมาชุมนุมกันอย่างพร้อมเพรียงที่วัด  ชาวบ้านจะมาร่วมกันทำบุญ ตักบาตรถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์  รับศีล และถวายผ้าจำนำพรรษา  ตอนค่ำจะมีการจุดประทีปโคมไฟในบริเวณวัดและหน้าบ้าน  บางท้องถิ่นจะมีการถวายปราสาทผึ้ง หรือไหลเรือไฟในตอนค่ำ  เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา

ลายผ้าซิ่นที่ใช้ในงานบุญเดือนสิบเอ็ด มีลักษณะลายคดโค้งงอเหมือนน้ำตาเทียนที่เกาะอยู่กับต้นเทียนพรรษาที่ถูกจุดใช้มาตลอดช่วงเข้าพรรษาเป็นระยะเวลา 3 เดือน

  1. ธันวาคม – เดือนสิบสอง “บุญกฐิน”

เป็นการถวายผ้าจีวรแด่พระสงฆ์ซึ่งจำพรรษาแล้ว เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 นิยมถวายผ้าไตรจีวรพร้อมเครื่องอัฐบริขารและเครื่องไทยทาน นอกจากนี้อาจมีการทำบุญจุลกฐิน ซึ่งเป็นการทำผ้าไตรจีวรจากปุยฝ้ายแล้วนำไปทอให้เสร็จเป็นผืน ภายใน 24 ชั่วโมงนับตั้งแต่เริ่มลงมือทำ  เพราะมีความเชื่อว่าจะได้บุญมาก  ชาวอีสานถือว่าบุญกฐินเป็นบุญสำคัญที่สุด  เป็นบุญใหญ่ได้อานิสงส์แผ่ไปทุกภพภูมิ

บุญเดือนนี้นิยมใช้ผ้าซิ่นลายโซ่ตาข่าย หรือในภาษาอิสานเรียกว่า ดาง  ในความหมายว่า ผลบุญแผ่กระจายไปเป็นสายตามการอุทิศไปถึง

ผู้สนใจสามารถเข้าชม “ผ้าไหม 12 ฮีต” ได้ที่  “พิพิธภัณฑ์ชีวิตเป็นเรื่องสุนทรีย์ คุ้มพักพล”  บ้านหนองบัว ตำบลโสกนกเต็น อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น  โทรศัพท์  089-4342555

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ทีมข่าว77ขอนแก่น

ทีมข่าว77ขอนแก่น

ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดขอนแก่น