Food Innopolis หรือ “เมืองนวัตกรรมอาหาร” ปักหมุดเต็มตัวที่ขอนแก่น หลังบีโอไอมอบสิทธิพิเศษกระตุ้นผู้ประกอบการลงทุนในอุทยานวิทยาศาสตร์ ขณะที่ภาคเอกชนเล็งตั้ง Khon Kaen Innovation Hub สร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตการเกษตร
จากกระแสข่าว “บอร์ดบีโอไอ” เห็นชอบให้ขยายเครือข่าย food innopolis หรือ เมืองนวัตกรรมอาหาร อีก 7 แห่ง นอกเหนือจากโครงการที่ตั้งอยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนและสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบด้านการเกษตรด้วยการวิจัยและพัฒนาในทั่วทุกภาคของประเทศ และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารของโลก ตลอดจนเป็นการสนับสนุนโครงการเมืองนวัตกรรมอาหารของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
1 ใน 8 เมืองนวัตกรรมอาหารที่ได้รับสิทธิพิเศษครั้งนี้คือ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย ขอนแก่น ซึ่งผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษจากบีโอไอในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล อย่างน้อย 5–10 ปี ตามหลักเกณฑ์พื้นฐานของแต่ละประเภทกิจการแล้ว ยังจะได้รับสิทธิเพิ่มเติมเป็นพิเศษ เช่น การลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปี ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร และยกเว้นอากรขาเข้าอุปกรณ์นำเข้าสำหรับการวิจัยและพัฒนา
สิ่งนี้ตอกย้ำให้ขอนแก่นกลายเป็นศูนย์กลางของการวิจัยนวัตกรรมด้านอาหารและผลผลิตทางการเกษตรที่ชัดเจนยิ่งขึ้น นอกเหนือจากความสนใจของภาคเอกชนอย่างกลุ่มมิตรผลที่มีโครงการปรับปรุงตึกร้างกลางเมืองให้เป็น Khon Kaen Innovation Center ที่อาจเรียกว่าเป็นโครงการ food innopolis ที่ลงทุนโดยภาคเอกชน
ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี และ ผอ.สำนักงานอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงการทำงานที่ผ่านมาจนวันนี้ที่ขอนแก่นกลายเป็นศูนย์กลางการวิจัยนวัตกรรมอาหารในระดับภาคว่า
“ต้องย้อนกลับไปที่อุทยานวิทยาศาสตร์ก่อน ซึ่งเป็นเหมือนนิคมอุตสาหกรรมวิจัยที่ตั้งขึ้นมาในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ทั้งประเทศตอนนี้มีอุทยานวิทยาศาสตร์อยู่ 4 แห่งคือ ที่กรุงเทพฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตรงนี้คือพื้นที่ที่เราต้องการเอกชนมาร่วมทำวิจัยกับมหาวิทยาลัย เข้ามาอยู่ในพื้นที่แล้วก็มาร่วมใช้บริการต่างๆ ใช้เครื่องมือ ใช้นักศึกษา เพื่อพัฒนาสินค้านวัตกรรมผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อที่จะไปสร้างความสามารถทางการแข่งขันในด้านอุตสาหกรรม อันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้น
ชูจุดเด่นด้านเกษตรและอาหาร
ในอุทยานวิทยาศาสตร์เองก็ไม่ได้จำกัดว่า จะต้องเป็นอุตสาหกรรมประเภทไหน แต่ที่สำคัญอันหนึ่งคือ ด้านเกษตรและอาหาร เราบอกว่าประเทศเรามีจุดแข็งด้านเกษตรกรรม เราเป็นผู้ผลิตอาหาร แต่ว่าเกษตรของเรามันยังมีมูลค่าไม่สูง เรายังส่งออกของที่ได้กำไรน้อย มีนวัตกรรมน้อยอยู่ ทั้งที่ทรัพยากรเรามีมากด้านเกษตรและอาหาร ทำยังไงถึงจะทำให้เกษตรกรรมและอาหารของเรามีมูลค่าเพิ่ม แล้วก็เป็น premium product ได้ เหล่านี้ต้องใช้งานวิจัย ก็ต้องพัฒนาเทคโนโลยี พัฒนานวัตกรรม เพราะฉะนั้นเรื่องเกษตรและอาหารจึงเป็นหัวข้อสำคัญอันหนึ่งที่ต้องเข้ามาอยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์
ไทยแลนด์ 4.0 ถึง food innopolis
ภาครัฐเพิ่งจะเกิดเรื่องของ food innopolis ขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อน ท่านนายกฯ ประยุทธ์ ซึ่งก็มีแนวคิดเรื่องไทยแลนด์ 4.0 แล้วก็แตกแขนงมาเน้นนวัตกรรมทางด้านอาหาร ก็เลยเกิด food innopolis ขึ้นมา ครั้งแรกก็เกิดที่กรุงเทพฯ ก่อน แล้วต่อมาก็ต้องขยายไปตามต่างจังหวัด แล้วที่เหมาะสมก็คือพื้นที่ที่มีอุทยานวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว ก็จะมีที่เชียงใหม่ ขอนแก่น และ สงขลา ก็เลยเป็นที่มาว่าขอนแก่นเลยเป็นหนึ่งใน Regional food innopolis และทำให้ขอนแก่นเป็นศูนย์กลางด้านอาหารไปกลายๆ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
แต่จริงๆ อุทยานวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นมาในมหาวิทยาลัยขอนแก่นตั้งแต่ปี 2548 เรามีแนวคิดเรื่องนี้มาตั้งแต่เมื่อ 13 ปีที่แล้ว ที่ต้องการยกระดับอุตสาหกรรมด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และงานวิจัย เราพยามที่จะช่วยภาคอุตสาหกรรมยกระดับเรื่องของเทคโนโลยีขึ้น ก่อนจะมาสอดรับกับแนวคิดของ food innopolis พอดี ถามว่าที่ผ่านมาประสบความสำเร็จไหม เราก็คิดว่าไปได้ดีทีเดียว ผู้ประกอบการเริ่มรู้จักเรามากขึ้นเรื่อยๆ
จากอาหารมาตรฐานสู่นวัตกรรมอาหาร
อุทยานวิทยาศาสตร์ขอนแก่น (KKU science park) มีการทำงานเพื่อยกระดับอาหารในหลายด้าน 1.อาหารที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำยังไงจึงจะมีมาตรฐาน 2.อาหารที่ผลิตโดยกลุ่มโอท็อปหรือวิสาหกิจชุมชนต่างๆ ที่มีอยู่มากมาย มีมาตรฐานหลากหลาย อาจจะยังไม่ปลอดภัย นี่เป็นขั้นแรกที่เราจะต้องทำให้อาหารที่ผลิตทุกวันนี้มีความปลอดภัย ได้มาตรฐาน ได้จีเอ็มพี ได้สุขภาพ อันนี้เป็นสิ่งที่เราทำมาต่อเนื่อง
ส่วนในระดับต่อไปก็คือว่า มันจะต้องคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ทางด้านอาหาร เช่น อาหารโปรตีนจากแมลง หรืออาหารคนป่วย เป็น medical food พวกนี้จะเป็นสิ่งที่เพิ่มมูลค่า ระดับนี้ที่เราต้องเข้าไปช่วย ที่ผ่านมาคือเราทำทั้งสองแบบ ก็ช่วยให้อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือดีขึ้น แต่พอเกิด food innopolis แล้วก็เกิดการสนับสนุนของบีโอไอจริงๆ มันก็เป็นส่วนสำคัญที่จะเร่งให้เติบโตเร็วขึ้น ที่ผ่านมาจะขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการเป็นหลัก ถ้าเขาให้ความสำคัญมันก็จะไปได้เร็ว เพราะเขาไม่มีแรงดึงดูดด้านอื่น แต่ถ้าเกิด food innopolis และได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี มันน่าจะโตได้เร็วยิ่งขึ้น
ประโยชน์ที่ชาวขอนแก่นหรือภาคอีสานจะได้รับ
อันนี้แน่นอนไม่เฉพาะแค่ขอนแก่น อย่างอุทยานวิทยาศาสตร์ ถ้าเราเป็น food innopolis ก็อาจจะมีภาคเอกชนจากกรุงเทพฯ ที่สนใจจะเข้ามาที่อีสาน มาทำวิจัยกับเราเพราะว่าอิสานเรามีทรัพยากรค่อนข้างจะมาก ก็จะเกี่ยวข้องกับนักศึกษาที่จะต้องการบุคลากรในด้านนี้ เกี่ยวข้องกับ supply chain ของพื้นที่ต้องผลิตของสนับสนุนบริษัทที่จะเข้ามาทำวิจัย สำหรับบริษัทที่อยู่ในพื้นที่เองก็สามารถเข้ามายกระดับความสามารถในการแข่งขันของตัวเองด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ กระตุ้นให้เกิดสตาร์ทอัพด้านเกษตรและอาหารมากขึ้น ของพวกนี้จะถูกยกระดับตามกันไปหมดเลย ตั้งแต่ต้นน้ำคือเกษตรกรมาถึงคนที่แปรรูปสร้างผลิตภัณฑ์และนำออกขาย จากเดิมจะทำกันคนละส่วน แต่พอมีการพัฒนานวัตกรรม ต้นน้ำก็ต้องพัฒนาขึ้น กลางน้ำ ท้ายน้ำก็ต้องพัฒนาด้วยเหมือนกัน
บริการตั้งแต่ start up ถึงกลุ่มโอทอป
ที่คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็ได้สร้างโรงงานต้นแบบอาหาร ซึ่งก็ทำงานร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ เราก็อยากจะให้ผู้ประกอบการโอท็อปหรือภาคเอกชนที่ไม่มีเครื่องมือมาใช้โรงงานนี้ในการผลิตอาหาร มันก็ถูกสุขลักษณะกว่า มีเครื่องมือที่ทันสมัยกว่า ปลอดภัยมากกว่าเขาจะได้ทดลองวิธีการผลิตใหม่ๆ และการทำวิจัยกับมหาวิทยาลัย ก็เป็นโรงงานเล็กๆ ก็จะเหมาะกับผู้ผลิตอย่างเช่น กลุ่มแม่บ้าน หรือโอท็อป ที่แต่ละเดือนจะผลิตสินค้าออกมาไม่มากนัก ตอนนี้ก็มีคนให้ความสนใจเข้ามาผลิตกับเรามากขึ้นเรื่อยๆ ก็มีบริการครบวงจรตั้งแต่กระบวนการผลิตจน ถึงการบรรจุหีบห่อแพ็คเกจ
นวัตกรรมอาหารในอนาคต
ก็มีประเภทอาหารที่เราคิดว่าน่าจะเข้าไปส่งเสริมให้มากขึ้น อย่างเช่นกลุ่มอาหารฮาลาล การทำอาหารอีสานให้เป็นฮาลาล อันนี้ก็เป็นโจทย์ที่น่าสนใจ เรายังทำน้อยอยู่ อีกอย่างก็คือเรื่องของ medical food คืออาหารผู้ป่วย เช่นอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน อันนี้ก็จะต้องทำให้มากขึ้น ส่วน functional food หรืออาหารเพื่อสุขภาพ อาหารสำหรับผู้สูงอายุ เช่น ไก่ไร้เก๊าท์ พริกที่มีค่าความเผ็ดสูง แก่นตะวันฯ ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นทำวิจัยมาค่อนข้างมาก แต่ก็ยังต้องศึกษาต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: