นักวิชาการผังเมืองเสนอใช้ 2 สถานี เอื้อประโยชน์ทั้งเมือง รถ และคน
หลังการต่อสู้ในชั้นศาลประมาณนาน 2 ปี ในที่สุดศาลปกครองมีคำพิพากษาให้ย้าย บขส.ขอนแก่น 1 ที่ถนนประชาสโมสร ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น ไปอยู่ที่ บขส. 3 ถนนมิตรภาพ บ้านกุดกว้าง ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ห่างจากตัวเมืองขอนแก่นไปประมาณ 9 กิโลเมตร โดยศาลพิจารณาเห็นว่า เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ที่จะช่วยลดปัญหาการจราจร ลดมลพิษในเขตตัวเมือง และ การพัฒนาระบบการจราจร จังหวัดขอนแก่นจึงมีมติให้ย้ายรถยนต์โดยสารทุกชนิดออกจาก บขส.ขอนแก่น แห่งที่ 1 ไปยัง บขส.ขอนแก่นแห่งที่ 3 โดยเด็ดขาด ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมเป็นต้นมา ซึ่งเรื่องนี้ได้สร้างความเดือดร้อนความเดือดร้อนแก่ทั้งผู้ประกอบการค้าที่อยู่บริเวณ บขส.1 และผู้โดยสารจำนวนมาก ที่ผ่านมากลุ่มผู้ประกอบการได้เสนอให้จังหวัดขอนแก่นใช้ บขส.ทั้ง 2 แห่ง โดยที่สถานี บขส.1 ขอให้มีรถโดยสารสายสั้น วิ่งให้ บริการระหว่างอำเภอ และบริการระหว่างจังหวัด เข้ามาจอดที่นี่ เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการใช้บริการ ช่วยลดเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทางลงได้มาก แต่ข้อเรียกร้องดังกล่าวก็ไม่เป็นผล
ข่าวน่าสนใจ:
- ขอนแก่นจัดงานแถลงข่าว เทศกาลสุดออนซอนแห่งปี! “PlaraMorlum” Isan to the World ระหว่างวันที่ 26-29 ธันวาคม 2567 ณ ขอนแก่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์
- นายอำเภอกระนวน จ.ขอนแก่น นำทีมฝ่ายปกครองบุกจับแก็งยาบ้า ขยายผลยึดยาบ้า 600 เม็ด
- ขอนแก่น เอาจริงลุยปราบปรามผู้ค้ายาเสพติด ในพื้นที่อำเภอเมืองขอนแก่น ได้ผู้ต้องหา 4 ราย หลังชาวบ้านแจ้งเบาะแส
รศ.ดร. รวี หาญเผชิญ ประธานหลักสูตร การวางแผนภาคและเมืองดุษฎีบัณฑิต คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้แสดงข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยได้เสนอผลกระทบและทางออกกรณีการย้ายสถานี บขส.1 ไปรวมกับสถานี บขส.3 ดังนี้
5 เหตุผลที่ควรชะลอการย้ายสถานี บขส. 1 ออกนอกเมือง
- ไม่ได้แก้ปัญหาจราจรติดขัดที่แท้จริงและยั่งยืน ไม่ได้เป็นการพัฒนาเมืองที่แท้จริง เพราะปัญหาการจราจรติดขัดในเมืองขอนแก่นมาจากหลายประการ ปัญหาสำคัญที่สุดคือ ปริมาณผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัวสูงขึ้นมาก พื้นผิวถนนเท่าเดิม เมืองยังไม่มีความพร้อมเรื่องการจัดระบบขนส่งมวลชนที่ดีพอ การไม่รักษากฎระเบียบจราจร และการขยายตัวของพื้นที่ชานเมือง ผังเมืองขาดประสิทธิภาพ เหล่านี้ล้วนเป็นเหตุผลหลักของปัญหารถติดในเมืองขอนแก่น ขณะที่สถานี บขส.1 มีส่วนในการทำให้รถติดในบางเวลาและเฉพาะจุดเท่านั้น ซึ่งสามารถแก้ปัญหา ดังกล่าวได้โดยไม่ต้องย้ายตัวสถานีออกจากเขตเมือง เช่น การจัดระเบียบเส้นทางการไหลเวียนของรถ จังหวะเวลาของรถเข้า-ออก จุดจอดรถ หรือการจำกัดขนาดรถใหญ่บางประเภท ดังนั้น สถานี บขส. 1 จึงไม่ควรถูกมองเป็นตัวการ หรือผู้ร้ายในการสร้างปัญหารถติด
- สร้างปัญหาใหม่ ทำให้รถติดขัดมากขึ้นในเขตเมืองชั้นใน เป็นการเพิ่มปริมาณรถบัสขนาดใหญ่บนถนน ศรีจันทร์ และถนนสายรองอื่นๆ ในเมืองโดยเฉพาะจากอำเภอรอบนอก จังหวัดต่างๆ และสายตะวันออก จะพุ่งตรงผ่านกลางเมืองทันที ย่อมเป็นการลดผิวการจราจรในเมืองที่มีปัญหารถหนาแน่นอยู่เดิม อีกทั้งถ้ารถบัสระหว่างจังหวัดอื่นๆ ทุกทิศทางถูกบังคับให้ไปรับ-ส่งผู้โดยสารที่สถานีขนส่งแห่งที่ 3 ซึ่งตั้งอยู่ห่างเมืองออกไป 9 กิโลเมตร ปัญหาใหม่ที่ตามมาคือ ผู้โดยสารจะขอลงหรือขึ้นระหว่างทาง ถนนสายหลักเมื่อรถแล่นผ่านในเขตเมืองชั้นใน ย่อมส่งผลต่อผิวจราจรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะเกิดความโกลาหล ด้านการจราจรในพื้นที่กลางเมืองขึ้นอีกหลายเท่าตัว โดยเฉพาะถนนศรีจันทร์ สี่แยกถนนชาตะผดุง สี่แยกถนนชีท่าขอน สี่แยกถนนหลังเมือง หน้าเมือง ศาลหลักเมือง
- สร้างปัญหาผังเมือง เป็นตัวการขยายตัวแบบไร้ทิศทาง เกิดการกระจัดกระจายออกสู่ชานเมือง ก่อให้เกิดความต้องการการเดินทางที่ไม่จำเป็น สูญเสียพลังงาน ปัญหาโลกร้อนและอื่นๆ ความไม่พร้อมของสถานีขนส่งแห่งที่ 3 ที่ตั้งอยู่ห่างไกลในเขตชานเมือง ล้อมรอบด้วยพื้นที่เกษตรกรรมและขาดสิ่งอำนวยความสะดวกประชาชน สภาพ แวดล้อมที่เปลี่ยว ความไม่ปลอดภัย ไม่มีการบริการรถสาธารณะเชื่อมต่อเข้าสู่เขตเมือง
- สร้างภาระด้านค่าขนส่ง ในการต่อรถโดยสารให้กับผู้โดยสาร(ชาวบ้านหรือประชาชนทั่วไป) นักเรียนนักศึกษา และผู้มีรายได้น้อย เพราะผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้ปานกลาง จนถึง รายได้น้อย เดินทางจากพื้นที่จังหวัดและอำเภอรอบนอกเข้ามาประกอบอาชีพ เรียนหนังสือ เป็นลูกจ้างห้างร้าน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป แต่หากต้องย้ายสถานีขนส่งออกไป 9 กิโลเมตร จะเสียค่าเดินทางต่อรถเพิ่มอีกหลายทอด เป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มหลายเท่าตัว ย่อมส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของผู้ใช้บริการรถสาธารณะอย่างชัดเจน
- เสียเวลาในการเดินทางเพิ่ม เป็นการสร้างปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม ในการมาติดต่อ กิจธุระ ราชการ จับจ่าย และเรียนหนังสือ เสียเวลาในการเดินทางต่อรถเพิ่มขึ้นระหว่าง โรงเรียน ศูนย์ราชการ ตลาด ที่ทำงานในเมือง ไปยังสถานี บขส. ใหม่ ราว 45 นาทีต่อเที่ยว ย่อมส่งผลกระทบต่อรูปแบบการดำรงชีวิตให้กับชาวบ้าน นักเรียนนักศึกษา และผู้มีรายได้น้อยอย่างชัดเจน
5 เหตุผลที่เมืองขอนแก่นควรมีสถานี บขส. 2 แห่ง และข้อเสนอการพัฒนาเมือง
- เมืองสองสถานี สามารถช่วยพัฒนาเมืองไปพร้อมๆ กัน เปิดโอกาสให้การพัฒนาสถานี บขส.3 นอกเมือง ทำหน้าที่รับส่งผู้โดยสารระหว่างจังหวัดขอนแก่นและภาคอื่นๆ หรือรถโดยสารขนาดใหญ่ระหว่างจังหวัดอื่นๆ ในภาคกับจังหวัดขอนแก่น ควบคู่กับการพัฒนาสถานี บขส.1 ให้รับส่งเป็นสถานีเปลี่ยนถ่ายการเดินทางในเมืองระหว่างจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดหรืออำเภอในกลุ่มจังหวัด
- ปรับปรุง ฟื้นฟูพื้นที่โดยรอบสถานี บขส.1 เป็นให้ Transit oriented development ให้เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทางที่สวยงาม และเป็นตลาดย่านการค้าใหม่ในเมืองควบคู่กัน ตามเกณฑ์การพัฒนาเมือง Smart Growth TOD Compact City เป็นการฟื้นฟูย่านกลางเมืองให้กลับมามีชีวิตชีวา เพิ่มพื้นที่เศรษฐกิจเมือง
- พัฒนาสถานี บขส. 1 ควบคู่กับการพัฒนาระบบเส้นทางรถเมล์ในเมือง เป็นโอกาสในการพัฒนาทั้งที่ตั้งสถานีขนส่ง บขส. 1 และเปิดเส้นทางระบบขนส่งสาธารณะขนาดเล็กที่หลากหลาย เช่น รถสองแถว รถเมล์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการประชาชนในเขตเมืองเดิมไปยังหลายทิศทางมากกว่าเดิม
- พัฒนาสถานี บขส.1 กับการพัฒนาสถานีขนาดเล็กใหม่ๆ จตุรทิศ ที่ครอบคลุมทั้งเขตชานเมืองและ เขตชุมชนเมือง ให้สถานีขนส่ง บขส. 1 เป็นสถานีแม่ข่ายที่เชื่อมต่อไปสู่การพัฒนาสถานี ท่ารถระดับชุมชน ขนส่งขนาดเล็กในเมืองอื่นๆ ของระบบขนส่งสาธารณะขนาดเล็กในเมือง
- พัฒนาสถานี บขส.1 ควบคู่กับการปรับปรุงประสิทธิภาพการเดินรถสองแถว รถเมล์ รถเมล์เล็กให้ตรงเวลา ปลอดภัย และสร้างทางเลือกใหม่ๆ ในการเดินทาง
นอกจากนี้ยังต้องพัฒนาสภาพแวดล้อมเมืองขอนแก่นให้เอื้อต่อการนั่งรถขนส่งสาธารณะและลดการใช้รถส่วนตัว สร้างและฟื้นฟูพื้นที่ใจกลางเมือง ให้น่าอยู่ และมีชีวิตชีวา
โดยสรุปจะเห็นได้ว่าประเด็นดังกล่าวยังต้องการข้อมูลและการศึกษาให้รอบด้านก่อนการดำเนินโครงการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่คนเมืองขอนแก่น โดยเฉพาะกลุ่มประชาชน ชาวบ้านผู้มีรายได้ปานกลางและน้อยที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง และยังเป็นการร่วมกันพัฒนาเมืองขอนแก่น รองรับการเติบโต พร้อมจะก้าวสู่การเป็นเมืองใหญ่ที่ดีมีคุณภาพ สมดุล และยั่งยืนในอนาคต
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: