อุทยานวิทยาศาสตร์ขอนแก่นเปิดบ้านต้อนรับผู้ประกอบการตั้งแต่ start up ถึงธุรกิจขนาดใหญ่เข้าร่วมทำวิจัย พัฒนาสร้าง “ธุรกิจนวัตกรรม” ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0
จากนโยบายของภาครัฐในการจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ในภูมิภาค เพื่อเป็นกลยุทธ์ในการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปเหนี่ยวนำให้เกิดการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของชุมชน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงได้ริเริ่มโครงการจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อปี พ.ศ.2548 ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น
โดยมอบหมายให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. เป็นแกนนำร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัย 4 แห่ง คือมหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ หรือ science park
อุทยานวิทยาศาสตร์ อาจเรียกว่าเป็นนิคมอุตสาหกรรมวิจัย เพราะเป็นพื้นที่สำหรับเอกชน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ วิสาหกิจชุมชน SME โอทอป หรือ start up สามารถเข้ามาใช้พื้นที่และทำวิจัยร่วมกับนักวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่นและเครือข่าย เพื่อพัฒนาและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ของตน
หน้าที่ของอุทยานฯ จะเข้าไปส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนบ่มเพาะผู้ประกอบการและเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงเป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ ภาคการศึกษา และ ชุมชนท้องถิ่น โดยนำองค์ความรู้ทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยมาช่วยในการพัฒนาขีดความ สามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจ หรือสร้างให้เกิด “ธุรกิจนวัตกรรม”
ทั้งนี้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ต้องการให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีให้มากขึ้น เพื่อให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศสูงขึ้น และยังส่งผลให้เกิดการจ้างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ให้คึกคักขึ้นด้วยเช่นกัน
ปัจจุบันอุทยานวิทยาศาสตร์ได้สร้างอาคารหลังใหม่แล้วเสร็จ ด้วยรูปทรงที่สวยงามและได้รับการออกแบบให้สามารถลดการใช้พลังงาน (greenbuilding) ด้วยงบประมาณจากกระทรวงวิทยาศาสตร์กว่า 400 ล้านบาท ตัวอาคารตั้งอยู่บนพื้นที่ 35 ไร่ บนถนนกัลปพฤกษ์ภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ระยะทางเพียง 3 กิโลเมตรจากตัวเมือง และ 6 กิโลเมตรจากสนามบินขอนแก่น โดยจะมีพิธีเปิดในวันที่ 12 กันยายนที่จะถึงนี้ ภายในอาคารมีพื้นที่ใช้สอยกว่า 18,000 ตร.ม. แบ่งเป็นพื้นที่ให้บริการ
ห้องประชุม ประกอบด้วย Auditorium ขนาด 250 ที่นั่ง, Conference room ขนาด 20 ที่นั่ง, Break out group room 4 ห้อง
ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ มีทั้ง Dry Laboratory และ Wet Laboratory รวม 17 ห้อง Service Space 27 ห้อง และ Co-working space 1 ห้อง
ผู้ที่ต้องการทำวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนสามารถเข้าไปใช้พื้นที่ของอุทยานฯ ได้ เช่น นักศึกษาจบใหม่ที่อยากมีธุรกิจทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต้องการนวัตกรรม ต้องการองค์ความรู้ใหม่ ก็สามารถไปขอใช้บริการ โดยมีค่าบริการแตกต่างกันไปประเภทของบริการที่ผู้ประกอบการต้องการ
สิทธิประโยชน์ที่ให้บริการ
– สิทธิในการรับพิจารณาเข้าร่วมโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ตามเกณฑ์ของอุทยานวิทยาศาสตร์
– สามารถเข้าถึงทรัพยากรด้านวิจัยและพัฒนา อันได้แก่ นักวิจัย ผลงานวิจัย พื้นที่วิจัย ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
– เพิ่มโอกาสในการพัฒนาธุรกิจให้มีความเข้มแข็งด้านการวิจัยและพัฒนาในระยะยาว
– เพิ่มโอกาสในการพัฒนาสู่ความร่วมมือทางมหาวิทยาลัยและภาครัฐ
– ระบบรักษาความปลอดภัยที่ได้มาตรฐาน สามารถเข้า-ออกได้ 24 ชม. พร้อมทั้งสิ่งความอำนวยความสะดวกครบครัน อาทิ Free Hi-Speed WiFi กล้องวงจรปิดทั้งภายในและภายนอก พื้นที่จอดรถที่สามารถรองรับได้ถึง 600 คัน
ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า กลุ่มเป้าหมายของ อุทยานฯ แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่ม start up หรือกลุ่มที่เริ่มทำธุรกิจ และอีกกลุ่มคือผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจอยู่แล้วตั้งแต่กลุ่มโอทอป SME ธุรกิจขนาดกลางไปถึงขนาดใหญ่ ก็สามารถเข้ามาใช้บริการของอุทยานเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน แต่ทุกคนต้องทำวิจัยทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกษตร อาหาร โลจิสติกส์ โรบอท ดิจิตัล ฯ ในปีแรกคาดว่าจะมีผู้ประกอบการ และกลุ่ม start up เข้าใช้บริการประมาณ 30% หลังจากนั้นคาดว่าภายใน 3 ปีจะมีผู้เข้าใช้บริการเต็มพื้นที่ให้บริการ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ขอนแก่นเดินหน้า Food Innopolis หวังเป็นศูนย์กลางวิจัยอาหารระดับภาค
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: