ขอนแก่น – หนึ่งเดียวในอิสาน โรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ “ศูนย์ล้อไม้” จากฝีมือมนุษย์ล้อ ใช้ร่างกายส่วนที่เหลือสร้างงานคุณภาพ จนกลายเป็นต้นแบบอาชีพสำหรับผู้พิการ
ทุกวันนี้ใครที่จะเดินทางผ่านไปเที่ยวชมเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น หากมีเวลาสักนิด ลองแวะเข้าไปชมโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่ไม่เหมือนใคร ตั้งอยู่ที่ บ.ทรัพย์สมบูรณ์ ต.ทุ่งโป่ง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น แรงงานที่นี่ล้วนแต่เป็นผู้พิการที่ทำงานทุกอย่างบนรถวีลแชร์ ในชื่อของ “ศูนย์ล้อไม้เฟอร์นิเจอร์” พวกเขาผลิตผลงานคุณภาพทั้งชุดโต๊ะ เก้าอี้ กล่องใส่ของ ชั้นวาง และอื่นๆ อีกหลากหลาย
เกษราภรณ์ หลวงจันทร์ วัย 47 ปี แม่งานคนสำคัญของกลุ่มล้อไม้ เล่าให้ฟังถึงที่มาของโรงงานแห่งนี้ว่า ตนเป็นคน บ.ทุ่งโป่ง อ.อุบลรัตน์ แต่ไปทำงานที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เรียบจบ กระทั่งเกิดจุดพลิกผันเมื่อปี 2541 อายุเพียง 27 ปี ประสบอุบัติเหตุรถชน จนทำให้พิการเดินไม่ได้ ขณะนั้นยังทำงานเป็นหัวหน้าแผนกที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ที่กรุงเทพฯ ต้องนอนติดเตียงอยู่ 3 ปี ด้วยความหมดอาลัยตายอยาก
ข่าวน่าสนใจ:
- คืบหน้า! เจ้าของร้านหื่น คุกคามทางเพศพนักงาน ขอมีเซ็กซ์ ส่งภาพโป๊-ของลับ ให้ประจำ ด้านเจ้าของร้านปิดปากเงียบ
- ขอนแก่นเข้มต่อเนื่อง!!เปิดปฏิบัติการกวาดล้างยาเสพติด รวบคู่รักนักค้ายา หลังฝ่ายชายเพิ่งพ้นโทษจากเรือนจำ
- ขอนแก่น พร้อมจัด " Khonkaen Countdown 2025 Rise Beyond" ขอนแก่น พุ่งทะยานสู่อนาคต อย่างยิ่งใหญ่ คาดเงินสะพัด 50 ล้านบาท
วันหนึ่งเธอได้เห็นโฆษณาสุรายี่ห้อหนึ่งซึ่งมีข้อความกินใจที่พูดถึงเหล้าครึ่งขวดว่า “ไม่ได้เหลือแค่ครึ่งเดียว แต่มันยังเหลือเหล้าอีกตั้งครึ่งขวด” ประโยคสั้นๆ นี้ กลายเป็นจุดเปลี่ยนให้คิดถึงตัวเองว่า ตนยังมีส่วนที่เคลื่อนไหวได้อีกตั้งครึ่งตัว และกลายเป็นจุดที่ทำให้ลุกขึ้นมาปฎิวัติตัวเอง ด้วยการนำเงินเก็บที่มี รวมกลุ่มกับเพื่อนๆ จำหน่ายครีมทำให้ผิวขาวและกระเป๋าแบรนด์เนม โดยตนรับผิดชอบทำบัญชีรายรับรายจ่าย ทำไปได้ 7 ปี เพื่อนชวนไปลงทุนส่งไม้ยาง พาราให้โรงงานที่ภาคใต้ ก็ทำกันอยู่ 5 ปี จนมีเงินเก็บก้อนหนึ่ง อยากไปไหนก็ไป ใช้เงินตัวเองดูแลตัวเอง ตอนนั้นชีวิตมีความสุข สภาพจิตใจก็ดีขึ้น
กระทั่งเมื่อ 6 ปีที่แล้ว มีโครงการที่นักกายภาพของ รพ.อุบลรัตน์ ออกเยี่ยมชุมชน ได้พบคนหนึ่งชื่อ หมอมุ่ย เขามาเยี่ยมบ่อยๆจนเกิดความคุ้นเคยกัน “เขาก็ชวนไปเข้ากลุ่มที่โรงพยาบาล วันนั้นมีคนมาประชุม 60 คน เราก็แปลกใจมากว่า ในชุมชนเรามีคนพิการเยอะมาก เราก็ตื่นตาตื่นใจว่า มีคนเป็นแบบเดียวกับเราเยอะ บางคนก็สภาพดีกว่าเรา บางคนก็แย่กว่า ทาง รพ.เขาก็สนับสนุนให้คนพิการมารวมกลุ่มทำกิจกรรมด้วยกัน เราก็ดีใจว่าเรามีเพื่อน แต่พอครั้งที่สองไปประชุมมากันแค่ 30 กว่าคน หายไปเกือบครึ่ง แต่พอครั้งที่สามไปเหลืออยู่ไม่ถึง 10 คน
เราก็คิดว่า ถ้าครั้งหน้ามาคงเหลือแค่เรากับหมอ เพราะคนพิการอย่างเราถ้าจะออกจากบ้าน ต้องใช้ถึง 2 คน คนหนึ่งขับรถ อีกคนช่วยอุ้ม บางคนก็เหมารถมา แล้วมาแค่มาฟังหมอพูด แล้วกลับ มันไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม เราก็เลยเสนอกับทาง รพ.ว่า จะทำกลุ่มออมทรัพย์คนพิการ เพราะตอนปี 45 ที่เราลุกขึ้นมาปฏิวัติตัวเอง ไม่จับเจ่าอยู่บนเตียง เพื่อนบ้านเขาก็คงเห็นว่า เราดูแลตัวเองได้ เคยทำงานเป็นหัวหน้ามาก่อน ตอนนั้นเลยได้เข้าไปช่วยชุมชนเป็นคณะกรรมการกองทุนเงินล้านในหมู่บ้าน คณะ กรรมการออมทรัพย์ของชุมชน ทำมาตั้งแต่ปี 45 จนถึงปัจจุบัน ก็เลยเสนอเขาทำกองทุนออมทรัพย์คนพิการขึ้นมา เพื่อให้คนพิการออกจากบ้านมาทำอะไรที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ เลยตั้งชื่อว่า กองทุนออมทรัพย์คนพิการเพื่อการผลิต อ.อุบลรัตน์
เริ่มทำปี 55 สมาชิก 17 คน ปัจจุบันมี สมาชิก 234 คน รับเฉพาะคนพิการเท่านั้น ตอนนี้มีเงินหมุนเวียนกว่า 6 แสนบาท เพราะเราต้องการให้คนพิการเข้าถึงแหล่งเงิน มีเงินใช้จ่าย พอเราทำกลุ่มออมทรัพย์แล้ว ก็มามองว่า คนพิการบางคนก็นอนติดเตียง ไม่ทำอะไร เรากับนักกายภาพก็คิดว่า เราอยากจะฟื้นฟูให้เขาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่ใช่นอนเฉยๆ ติดสบาย เราก็เริ่มที่กลุ่มวีลแชร์ก่อน เอามาฟื้นฟูให้เขาเข้าห้องน้ำเองได้ ทำสะอาดรับภาระการขับถ่ายตัวเองได้ จากนั้นหัดให้เขาทำกับข้าวกินเอง ซักเสื้อผ้าเอง แต่บอกเลยว่า แต่ละคนกว่าจะออกมาได้ ต้องทั้งด่าทั้งเข็น กระตุ้นให้เขาลุกขึ้นมาทำ ใช้เวลามาก บางคน 2 เดือน 3 เดือนเข้าคอร์สฝึกเลย เรามีที่ฝึกให้
ทีนี้พอจบคอร์ส มันก็มีโจทย์ต่อว่า แล้วจะให้เขาทำอะไรต่อ จะกลับไปนอนติดเตียงเหมือนเดิมหรือไง มันก็ไม่ใช่ เราก็เลยหาอาชีพให้เขาทำ ตอนแรกให้ขายดอกไม้ก่อน มันขายดีนะ แต่เราพบว่า คนซื้อเขาช่วยซื้อเราเพราะความสงสาร ความเห็นใจ แบบว่า “กรุณามาร์เก็ตติ้ง” ถ้าซื้อเพราะความสงสาร เขาซื้อครั้งเดียว เรามองว่ามันไม่ยั่งยืน บังเอิญเราไปเจอเพื่อนเขาทำกระจกพ่นทราย เลยชวนเขามาสอนให้คนพิการ แล้วก็เริ่มด้วยน้องที่พิการ 4-5 คนมาช่วยกันแกะกระจก เริ่มทำกันที่หลังบ้าน พอทำเสร็จเราจะเอาไปตั้งโชว์ที่ไหน เราก็คิดถึงแกลลอรี ต้องมีที่ให้เราโชว์งานได้
ตอนนั้น อ.อุบลรัตน์ ได้งบ CSR จากบริษัทโอสถสภาฯ ปีละ 1 ล้านบาท เราขอเงินเขามา 1 แสนบาท บวกกับเงินเก็บของเรามาสร้างห้องแสดงผลงานน้องๆ เราต้องลงเงินไปก่อนอย่าไปรอภาครัฐ ถ้าเขาไม่เห็นงานที่เป็นรูปธรรมก่อนแล้ว เขาไม่ช่วยเราหรอก พอเราเริ่มทำขึ้นมา ก็มีน้องที่นั่งวีลแชร์คนหนึ่งมาบอกว่า ก่อนที่เขาจะพิการเขาเคยเป็นช่างเฟอร์นิเจอร์มาก่อน อีกคนก็บอกว่า ก่อนหน้านั้นตัวเองก็เคยเป็นช่างเชื่อม ค่อยๆ มาทีละคน เราก็หาเงินมาซื้ออุปกรณ์ให้เขา ตอนที่เริ่มทำก็ประมาณปี 2555 เริ่มด้วยคนพิการที่มาอยู่กับเรา 5 คน ก็เริ่มด้วยงานแกะกระจกก่อน มีเงินบ้างไม่มีบ้าง
พูดได้ว่า เราทำตรงนี้ ทำกันเอง เราไม่ได้งบประมาณจากรัฐเลยสักบาท จนกระทั่งได้รู้จักกับมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม เขาก็ชื่นชมว่า งานแกะกระจกของราน่าสนใจ มีความแปลก เขาเลยทำเรื่องการจ้างงานคนพิการ มาตรา 35 ตอนนั้นมีคนพิการที่อยู่กับเรา 8 คน เราก็ทำเรื่องเสนอเขาไป ตอนนั้นจะได้สิทธิ์คนละ 109,500 บาทต่อปี เราขอไป 8 สิทธิ์ แต่เขาตอบกลับมาว่าเขาจะให้เรา 17 สิทธิ์ เป็นเงินเกือบ 2 ล้านบาท เพราะเขามองว่า งานของเราสามารถโตต่อไปได้ ตอนนั้นเราก็อยากได้เครื่องมือทำงาน อยากได้โรงงานเพื่อทำงาน คุ้มแดด คุ้มฝน เราก็เอามาสร้างโรงเรือนหมดไป 570,000 บาท ตอน เม.ย. 2560 ได้โรงเรือนที่ทำงานใหม่ ก็สร้างบนที่ดินที่บ้านตัวเอง ซื้อเครื่องมือทำเฟอร์นิเจอร์อีก 3 แสนบาท ก็ค่อยๆ กลายมาเป็นโรงงานเฟอร์นิเจอร์ เราก็เรียกตัวเองว่า “กลุ่มล้อไม้” หมายถึงคนพิการนั่งวีลแชร์ที่ทำงานเฟอร์นิเจอร์ไม้” เกษราภรณ์ กล่าว
ตอนนี้มีคนพิการที่อยู่กับเธอทั้งหมด 13 คน จะกินนอนและทำงานกันที่นี่ โดยมีเธอช่วยออกแบบงาน หาตลาด และประชาสัมพันธ์ทางสื่อโซเชียลมีเดีย รายได้จากผลงานที่จำหน่ายทุกชิ้นจะได้รับการจัดสรรให้แก่ผู้ทำงาน และแบ่งไว้เป็นทุนในการผลิตงานต่อไป ขณะนี้กำลังก่อสร้างโชว์รูมผลงาน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะของกลุ่มล้อไม้ แต่จะเป็นที่แสดงและจำหน่ายผลงานของคนพิการใน อ.อุบลรัตน์ และจะต่อยอดให้เป็นแลนด์มาร์คของ อ.อุบลรัตน์ ในอนาคตอีกด้วย
นอกจากนี้ทางกลุ่มยังขยายงานด้วยการจัดตั้งสหกรณ์ร้านค้าขึ้นมาเมื่อ 3 ปีที่แล้ว โดยเป็นที่จำหน่ายสินค้าที่จำเป็นสำหรับผู้พิการในราคาย่อมเยา เช่น แพมเพิส และของใช้ในชีวิตประจำวันต่างๆ โดยมีเงินปันผลคืนให้สมาชิกทุกปี และยังมีผลิตภัณฑ์ไข่เค็มวางจำหน่ายในชื่อของ “ไข่ ข้าง เขื่อน” เนื่องจากตัวเธอชอบรับประทานไข่เค็มกับข้าวต้ม ประกอบกับไข่เค็มที่เธอทำด้วยสูตรเฉพาะ ใครได้ชิมก็ติดใจ จึงเป็นแรงกระตุ้นให้ทางกลุ่มผลิตไข่เค็มออกจำหน่าย และสร้างแบรนด์เป็นของตัวเองให้ลูกค้าจดจำได้ จึงเป็นที่มาของ “ไข่ ข้าง เขื่อน” หรือชื่อย่อคือ ขขข. โดยมีความหมายถึง ไข่เค็มจากฟาร์มออแกนิกส์ที่อยู่ข้างเขื่อนอุบลรัตน์ โดยกลุ่มล้อไม้ได้รับงบประมาณสนับสนุนในการเลี้ยงเป็ดเพื่ออาชีพ ขณะนี้มีเป็ดที่เลี้ยงไว้ในฟาร์ม จำนวน 600 ตัว ส่วนหนึ่งเพื่อใช้เป็นอาหาร จำหน่ายเป็นไข่สด และเอามาแปรรูปเป็นไข่เค็มจำหน่าย และถือเป็นของดีอีกอย่างหนึ่งของ อ.อุบลรัตน์ ที่ผู้มาเยือนทุกท่านจะพลาดไม่ได้
แม้ทุกวันนี้ยังคงต้องนั่งรถเข็นและเปลี่ยนแพมเพิส ทุก 4 ชั่วโมง แต่เกษราภรณ์ก็มองว่า นี่ไม่ใช่อุปสรรคในการทำงาน เธอยังคงทำงาน สามารถขับรถไปไหนมาไหนได้เช่นคนปกติทั่วไป เมื่อมองย้อนกลับไปเธอเองยังแปลกใจว่า มาถึงจุดนี้ได้ยังไง เพราะทุกงานเธอรับหน้าที่เป็นแม่งาน ทั้งกลุ่มออมทรัพย์ สหกรณ์ร้านค้า โรงงานเฟอร์นิเจอร์ ผลิตภัณฑ์ไข่เค็ม รวมถึงโชว์รูมผลงานผู้พิการที่จะมีทั้งร้านอาหารและร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผู้พิการที่กำลังจะเปิดในอนาคตอันใกล้นี้ ไม่น่าเชื่อว่า ผู้หญิงคนนี้ทำงานทุกอย่างบนรถเข็น ด้วยร่างกายที่ยังเหลืออยู่เพียงครึ่งเดียว เธอยอมรับว่า แต่ละวันทำงานเยอะมาก จนต้องจ้างผู้ช่วยส่วนตัว แต่ก็มีความสุขมาก แม้ว่าจะต้องใช้เงินเก็บไปจนเกือบหมด แต่ขอให้ได้ทำงานที่เธอรัก ได้อยู่กับน้องๆ ที่เธอดูแล ได้เห็นพวกเขาก้าวผ่านความพิการสามารถพึ่งตัวเองได้ เธอยืนยันอย่างหนักแน่นว่า “เกษจะทำให้เป็นระบบ ให้มันยั่งยืน ถึงเกษจะตายไป ระบบก็ยังพาทุกคนให้อยู่รอดได้”
เมื่อถามถึงแผนงานในปีหน้า เธอตอบว่า มีโครงการจะทำที่พักสำหรับผู้พิการ เพราะจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ผ่านมา เวลาไปประชุมหรือไปเที่ยวในที่ต่างๆ จะพบปัญหาเรื่องสภาพที่พักที่ไม่เอื้อต่อผู้พิการ เช่น ไม่มีทางลาด ไม่มีราวจับ เธอจึงอยากจะทำสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับผู้พิการ ลักษณะคล้ายโฮมสเตย์ โดยจะจัดสร้างในพื้นที่นา 10 ไร่ ของครอบครัวเธอเอง เพราะทุกวันนี้มีเครือข่ายมากขึ้น มีคนเข้ามาดูงานจำนวนมาก รวมทั้งผู้พิการเอง แต่หาที่พักที่เหมาะสมได้ยาก รวมทั้งสามารถให้บริการแก่คนทั่วไปหรือผู้สูงอายุได้เช่นกัน โดยสถานที่แห่งนี้จะรับผู้พิการมาทำงานด้วย ทั้งที่แผนกต้อนรับ ทำกับข้าว เสิร์ฟอาหาร ทำสวน ฯ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รองนายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการลดความเหลื่อมล้ำ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: