ขอนแก่น – ผอ.รพ.จิตเวชฯ ยอมรับชาวขอนแก่นเครียดสูงขึ้น จากผลกระทบปัญหาโควิด เตรียมทำแผนเผชิญเหตุเฝ้าระวังปัญหาฆ่าตัวตาย วอนคนในสังคมช่วยดูแลคนใกล้ชิด
วันนี้ (1 พ.ค.63) ที่ห้องประชุมชั้น 3 โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเป็นประธานแถลงข่าวเรื่อง กรมสุขภาพจิต ห่วงใยเฝ้าระวังปัญหาการฆ่าตัวตาย ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เนื่องจากปัจจุบันจะพบเห็นข่าวคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จทางสื่อมวลชนบ่อยครั้ง
ผอ.รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กล่าวว่า สถิติการฆ่าตัวตายสำเร็จของคนไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2562 มีจำนวน 4,418 คน คิดเป็นอัตรา 6.64 ต่อประชากร 1 แสนคน ขณะที่ปีก่อนๆ จะอยู่ที่อัตรา 6.0 ต่อประชากร 1 แสนคน ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่องสำหรับในช่วง 1-2 เดือนนี้ ยังไม่สามารถรวบรวมตัวเลขได้ แต่ทางกรมสุขภาพจิตได้ประเมินว่า ช่วงเวลานี้เป็นสถานการณ์ที่ท้าทายมากที่สุด แม้จะยังไม่สามารถเปรียบเทียบกับวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ซึ่งช่วงนั้นมีอัตราฆ่าตัวตาย 8.59 ต่อประชากร 1 แสนคนซึ่งถือว่าสูงมากเช่นกัน
สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ สถานการณ์โควิดจะทำให้เกิดเหตุการณ์ฆ่าตัวตายเร็วกว่าที่คาด เนื่องเพราะมีผลกระทบกับคนทั่วไปทุกระดับ จากเดิมที่คาดว่าอาจเห็นผลกระทบในช่วง 24 เดือนหลังเกิดการระบาดของโรค แต่อาจเกิดได้เร็วกว่านั้น ทางกรมสุขภาพจิตได้จัดทำแผนเผชิญเหตุ จะเน้นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงลำดับต้นๆ เช่น ผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่างๆ ผู้ที่ใช้สารเสพติด ผู้พิการ บุคลากรทางสาธารณสุขที่เผชิญความเครียดมากๆ ผู้ที่เผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม
โดยจะใช้มาตรการ เช่น จำกัดการดื่มสุรา ด้วยมาตรการทางสังคมโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การใช้กลไกบ้าน วัด โรงเรียน โดยเฉพาะ อสม.ดูแลปูพรมแบบเคาะประตูบ้าน การจัดตั้ง “ศูนย์คลายทุกข์วิถีพุทธ” ในวัดต่างๆ ทั้ง 18 อำเภอของ จ.ขอนแก่น การเตรียมช่องทางให้คำปรึกษาในระดับ รพ.สต. และแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 หรือ (043) 247151 แอพพลิเคชั่นไลน์ “คุยกัน” Line ID :@JVKKHelpLine จะมีผู้เชี่ยวชาญรับฟังปัญหาและให้คำแนะนำ
สำหรับสายด่วนของโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ (043) 247151 ช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ระบาดของไวรัสโควิด พบว่า แต่ละวันมีผู้โทรมาไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะโทรมาปรึกษาเกี่ยวกับการบริการของ รพ. แต่ตั้งแต่เดือน มี.ค.ถึงปัจจุบันพบว่าจะมีผู้ที่โทรมาจำนวนมากขึ้นอย่างชัดเจน จากสถิติเดือน ก.พ.มีผู้โทรมาประมาณ 10 สายต่อวัน เดือน มี.ค.เพิ่มขึ้นเป็น 30-50 สายต่อวัน และเดือน เม.ย.เฉลี่ยอยู่ที่ 50 สายต่อวัน ส่วนใหญ่จะโทรมาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับปัญหาที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด เช่น รายได้ลดลง ไม่มีงานทำ เดินทางไปหาญาติพี่น้องไม่ได้
สำหรับประชาชนทั่วไปควรช่วยกันดูแลผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเรา ไม่ว่าจะเป็นอยู่ในชุมชนเดียวกัน คนในครอบครัว หรืออยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน ถ้าหากมีสัญญาณว่า เกิดอาการเครียด มีการพยายามฆ่าตัวตาย ก็ขอให้ช่วยกันดูแลให้คำแนะนำกับบุคคลนั้น ให้เขาได้รู้จัก ได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญซึ่งคอยให้คำแนะนำเขาอยู่ซึ่งจะช่วยป้องกันปัญหาฆ่าตัวตายได้ รวมถึงสื่อมวลชนก็ควรนำเสนอเนื้อหาที่ไม่กระตุ้นให้เกิดการฆ่าตัวตาย โดยสมาคมสะมาริตันได้นำเสนอหลักการ 9 ข้อ ในการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติแก่สื่อมวลชนทุกคน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ขอนแก่นจัดตั้งศูนย์คลายทุกข์วิถีพุทธ ให้พระเป็นผู้ดูแลจิตใจชุมชน
- เครียดพาทั้งบ้านถูกกักตัว ใช้ไฟฟ้าช็อตฆ่าตัวตาย
- พมจ.อุบลฯ รุดช่วยเหลือ หนุ่มพิการสิ้นหวังเงินเยียวยาโควิด กระโดดน้ำฆ่าตัวตาย
- สิ้นหวังเงินเยียวยาโควิด ทำหนุ่มพิการรับจ้างแบกกระสอบข้าวพยายามฆ่าตัวตาย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: