ขอนแก่น – เทศบาลนครขอนแก่นเข้มพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม 30 แห่ง ลดระดับน้ำในบึงเป็นแก้มลิงรับน้ำ ขุดลอกทางระบายน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และระบบเตือนภัย
ที่บริเวณอาคารป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เทศบาลนครขอนแก่น นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการวางมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและวาตภัยในพื้นที่เขตเทศบาลนครขอนแก่น ซึ่งจากการพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่า ฤดูฝนของประเทศไทยปีนี้เริ่มต้นประมาณปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม 2563
ซึ่งปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศในช่วงฤดูฝนปีนี้จะมากกว่าปีที่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน ซึ่งเป็นเดือนที่มีฝนตกชุกหนาแน่นที่สุด และมีโอกาสสูงที่จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบน อันจะส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ และอาจก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งได้ในบางแห่ง
ดังนั้น เทศบาลนครขอนแก่น จึงได้วางแผนเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและวาตภัยในพื้นที่เขตเทศบาลนครขอนแก่น โดยแบ่งสถานการณ์ออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับสถานการณ์สีเหลือง (ปริมาณฝน <30 มม./วัน) ระดับสถานการณ์สีส้ม (ปริมาณฝน 30-60 มม./วัน) และ ระดับสถานการณ์สีแดง (ปริมาณฝน > 60 มม./วัน)
โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง จำนวน 15 โซน 30 พื้นที่ ดังนี้
-โซนที่ 1 สวัสดี-สามเหลี่ยม ได้แก่ บริเวณซอยสวัสดี ,ถนนมิตรภาพช่วงด้านหน้าสถานีตำรวจทางหลวงถึงปากซอยอดุลยาราม ,หมู่บ้านพิมานศิลป์ (ชุมชนหนองแวงตราชู 1, ชุมชนหนองแวงตราชู 3)
-โซนที่ 2 หลังศูนย์-จอมพล ได้แก่ ถนนหลังศูนย์ราชการ ซอย 14 ,ถนนกสิกรทุ่งสร้าง ,ถนนจอมพล ,ถนนราษฎร์คนึง ซอย 9 (ชุมชนหลังศูนย์ราชการ 1 ,ชุมชนหลังศูนย์ราชการ 2 ,ชุมชนดอนหญ้านาง 2)
-โซนที่ 3 ทุ่งสร้าง-หนองใหญ่ ได้แก่ หมู่บ้านทุ่งเศรษฐี ,ชุมชนหนองใหญ่ 4 (ชุมชนทุ่งเศรษฐี ,ชุมชนหนองใหญ่ 1 ,ชุมชนหนองใหญ่ 4 ,ชุมชนธนาคร)
-โซนที่ 4 ศรีจันทร์-ศรีฐาน ได้แก่ บึงหนองบอน ,บริเวณรอบศาลหลักเมือง ,ชุมชนศรีฐาน (ชุมชนศรีฐาน 1 ,ชุมชนศรีฐาน 3 ,ชุมชนศรีฐาน 4 ,ชุมชนศรีจันทร์)
-โซนที่ 5 ประตูเมือง-บ้านกอก ได้แก่ ถนนบ้านกอก ,ถนนมิตรภาพบริเวณด้านหน้าโค้วยู่ฮะ ,หมู่บ้านบุญสม (ชุมชนเทคโนภาค ,ชุมชนหนองวัดพัฒนา)
-โชนที่ 6 แยกเจริญศรี ได้แก่ ถนนเหล่านาดีตัดทางรถไฟ ,ซอยเหล่านาดี 12 (ชุมชนเหล่านาดี 12)
-โซนที่ 7 สนามกีฬา-การเคหะ ได้แก่ ซอยเมตตา ,ชุมชนการเคหะ (ชุมชนหนองแวงเมืองเก่า 2 ,ชุมชนการเคหะ)
-โซนที่ 8 บึงแก่นนคร ได้แก่ ถนนรอบบึงแก่นนคร ,ถนนศรีธาตุประชาสรรค์ (ชุมชนบ้านตูมชุม ,ชนหนองแวงเมืองเก่า 3 ,ชุมชนพระนครศรีบริรักษ์ ,ชุมชนโนนทัน 1
-โซนที่ 9 โนนทัน-อนามัย ได้แก่ ซอยน้ำทิพย์ 1-2 ,ซอยอนามัย (ชุมชนโนนทัน 4 ,ชุมชนโนนทัน 6)
-โซนที่ 10 ในเมือง ได้แก่ ถนนหน้าเมืองช่วงห้างแฟรี่พลาซ่า ,ถนนเฉลิมพระเกียรติช่วงร้านส้มตำอินเทอร์เน็ต (ชุมชนโนนหนองวัด 3)
-โซนที่ 11 คุ้มหนองคู ได้แก่ ถนนรอบเมืองบริเวณด้านหลังอาชีวะขอนแก่น ,คุ้มหนองคู (ชุมชนคุ้มหนองคู)
-โซนที่ 12 ชลประทาน-โนนทัน 7 ได้แก่ ชุมชนบ้านพักชลประทาน ,ชุมชนโนนทัน 7)
-โซนที่ 13 ชุมชนโพธิบัลลังก์ทอง (ชุมชนโพธิบัลลังก์ทอง ,ชุมชนหนองใหญ่ 2 ,ชุมชนหนองใหญ่ 3)
-โซนที่ 14 แยกโรงพยาบาลกรุงเทพ ได้แก่ ถนนกัลปพฤกษ์ (ชุมชนสามเหลี่ยม 1)
-โซนที่ 15 แยกอุโมงค์สามเหลี่ยม ถนนมิตรภาพบริเวณด้านหน้า บจก.รวมทวีฯ (ชุมชนศรีฐาน 2 ,ชุมชนมิตรภาพ)
โดยเทศบาลนครขอนแก่นได้เตรียมมาตรการรับมือเพื่อป้องกันปัญหา ดังนี้
1.การจัดตั้งศูนย์อำนวยการปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและวาตภัย เทศบาลนครขอนแก่น War Room ที่บริเวณอาคารป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เทศบาลนครขอนแก่น
2.การบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น จังหวัดขอนแก่น เทศบาลนครขอนแก่น สำนักงานชลประทานที่ 6 ขอนแก่น โครงการชลประทานขอนแก่น ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดขอนแก่น อำเภอเมืองขอนแก่น มณฑลทหารบกที่ 23 กรมทรัพยากรน้ำภาค 4 ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นต้น
3.การเตรียมการบริหารจัดการแหล่งน้ำในพื้นที่
3.1 ทำหนังสือแจ้งให้เทศบาลตำบลบ้านเป็ด ลดระดับน้ำในบึงหนองโคตรลง เพื่อเป็นแก้มลิงกักเก็บน้ำ เพื่อชะลอน้ำใหลเข้าสู่เขตเมืองเร็วเกินไป ช่วงต้นเดือนมีนาคมของทุกปี
3.2 ทำหนังสือแจ้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น ลดระดับน้ำในหนองเอียดลง เพื่อเป็นแก้มลิงกักเก็บน้ำ ไม่ให้น้ำไหลเข้าสู่เขตเมืองเร็วเกินไป ช่วงต้นเดือนมีนาคมของทุกปี
3.3 รักษาระดับน้ำในบึงแก่นครให้ระดับสูงไม่เกิน 0.50 เมตรจากระดับบันไดลงบึงขั้นสุดท้าย เพื่อเป็นแก้มลิง ช่วงต้นเดือนเมษายนของทุกปี
3.4 ตรวจสอบบานประตูน้ำทุกบานให้อยู่ในสภาพดีพร้อมใช้งานได้ ช่วงต้นเดือนเมษายนของทุกปี
3.5 ขุดลอกทางรับน้ำและแก้มลิงบริเวณบึงทุ่งสร้าง
4.การเตรียมการก่อนเข้าสู่ฤดูฝน ไม่ว่าจะเป็นการขุดลอกผักตบชวาตามแหล่งน้ำหรือคลองน้ำ ,การวางท่อระบายน้ำ การขุดลอกท่อระบายน้ำ ตลอดจนการติดตั้งระบบเตือนภัยน้ำท่วม กล้องวงจรปิด CCTV
5.การติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 8 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง พร้อมจัดกำลังเจ้าหน้าที่ประจำจุด เพื่อเฝ้าระวังในพื้นที่จุดเสี่ยง ตลอด 24 ชั่วโมง และการเตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำ ขนาด 3 นิ้ว ประจำสถานีดับเพลิงทั้ง 4 แห่งๆ ละ 2 เครื่อง นอกจากนั้นได้เตรียมความพร้อมเลื่อยโซ่ยนต์ จำนวน 17 เครื่อง เพื่อประจำการกรณีเหตุวาตภัย
6.การวางแผนปฏิบัติการเก็บขยะออกจากบริเวณปากท่อ / ตะแกงฝาท่อ เตรียมการและแก้ไขปัญหาในภาวะน้ำท่วมในพื้นที่เสี่ยง โดยมีหน่วยกวาดถนน หน่วยรถเก็บค่าขยะภาคกลางคืน และหน่วยเฉพาะกิจ ชุมชนทั้ง 4 เขต ออกปฏิบัติการสลับหมุนเปลี่ยนการทำงาน ตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนั้นเทศบาลนครขอนแก่นยังได้เตรียมแผนเพื่อรองรับการเยียวยาประชาชนเมื่อเกิดสาธารณภัย ตลอด 24 ชั่วโมง ได้แก่ การประสานงานเต้นท์ ที่พัก อาหาร ถุงยังชีพ วัสดุอุปโภค บริโภค ชุดเครื่องนอน การลงพื้นที่สำรวจและตรวจสอบความเสียหายบ้านพักอาศัยของประชาชน การสงเคราะห์ช่วยเหลือค่าวัสดุซ่อมแซมบ้านพักอาศัยที่ประสบภัยเท่าที่จ่ายจริง หลังละไม่เกิน 20,000 บาท แต่หากมีกรณีค่าวัสดุซ่อมแซมตั้งแต่ 20,000 บาทนั้น เทศบาลจะดำเนินการประสานงานส่งให้กับอำเภอเมืองขอนแก่นและจังหวัดขอนแก่น เพื่อพิจารณาให้การช่วยเหลือเพิ่มเติมอีก แต่โดยรวมแล้วการช่วยเหลือในแต่ละหลังคาเรือน ต้องไม่เกิน 33,000 บาท
- สส. จับมือ อบจ. อบต. และชลประทาน ลุยกำจัดผักตบชวา วัชพืช คลองระพีพัฒน์ เตรียมรับน้ำช่วงฤดูฝนนี้
- เลย แล้งหนัก ระบบประปาขาดน้ำ โรงพยาบาลขาดน้ำ น้ำธรรมชาติหมด แห้ง
- เลย แล้งหนัก น้ำประปาแห้ง ขาด ต้องสูบน้ำโขงขึ้นมาเติม ทำประปาอำเภอปากชม
ท้ายสุดนี้ เทศบาลนครขอนแก่น ขอประชาสัมพันธ์ไปยังพี่น้องประชาชนในเขตเทศบาล รณรงค์สร้างจิตสำนึกและให้ความร่วมมือไม่ทิ้งขยะในที่สาธารณะหรือแหล่งน้ำต่างๆ เพื่อป้องกันปัญหาขยะอุดตัน กีดขวางทางน้ำไหล และเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถประสานงานขอรับกระสอบทรายกั้นน้ำ (ไม่เกิน 30 กระสอบต่อหลังคาเรือน หรือขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ที่ออกไปตรวจสอบ) โดยแจ้งรายละเอียดของที่พักอาศัยพร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน (ต้องมีที่อยู่ในเขตเทศบาลนครขอนแก่นเท่านั้น) ยื่นได้ที่ฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เทศบาลนครขอนแก่น (ตรงข้ามศาลหลักเมือง) ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 26 พฤษภาคม 2563 มีประชาชนมารับกระสอบทรายกั้นน้ำ 23 ครัวเรือน จำนวน 535 กระสอบ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: