X
ปลากะพงน้ำกร่อย

รู้จัก “เมืองเพีย” แหล่งผลิตปลากะพงแห่งใหญ่ในอีสาน

ขอนแก่น- กลุ่มประมงแปลงใหญ่ ต.เมืองเพีย อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น  พลิกผืนดินเค็มมาเป็นแหล่งผลิตปลากะพงและกุ้งขาว  สร้างแหล่งอาหารและรายได้เข้าหมู่บ้านปีละหลายล้านบาท

 

 

ร้อยตรี สมพงษ์ ไชยสง วัย 65 ปี  เจ้าของพงษ์เจริญฟาร์ม บ.หนองนางขวัญ ต.เมืองเพีย อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น  ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกการเลี้ยงปลาที่นี่เป็นคนแรกเล่าให้ฟังว่า หลังลาออกจากราชการทหารในปี 2544  ได้นำเงินเก็บมาซื้อที่ดินที่บ้านหนองนางขวัญเพราะเห็นมีคลองส่งน้ำจากแก่งละว้าไหลผ่าน  แม้จะถูกค่อนขอดว่า เป็นคนบ้าที่มาซื้อที่ดินเค็ม

ในช่วงแรก ร.ต.สมพงษ์ เริ่มทำเกษตรผสมผสานควบคู่ไปกับการเลี้ยงปลานิล  เริ่มต้น 5 บ่อ ในพื้นที่ 10 ไร่ ก่อนจะขยายเป็น 15 บ่อ ในพื้นที่ 40 ไร่ ในปัจจุบัน แต่เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้มีปัญหาดินเค็ม  ร.ต.สมพงษ์ จึงได้คิดหาพันธุ์ปลาที่สามารถเติบโตในพื้นที่ได้  ก่อนจะมาลงตัวที่ “ปลากะพง” และ “กุ้งขาวแวนาไม” ซึ่งสามารถเติบโตได้ดีในน้ำกร่อย

 

 

“ที่เลี้ยงไว้ในฟาร์มตอนนี้ก็มีปลานิล ปลาตะเพียน ที่คนอิสานเราชอบกิน และที่เพิ่มมาก็มีปลากะพงขาว กุ้งขาว  ตอนนี้ก็เริ่มมีตลาดรองรับ คนก็รู้จัก ก็ว่าจะเลี้ยงเพิ่มขึ้น  เพราะตอนนี้เราเลี้ยงแบบพออยู่พอกิน ยังไม่ทำแบบเป็นธุรกิจส่งออกอะไรแบบนั้น  จุดเด่นของปลาเราคือ เป็นปลาน้ำกร่อย มันจะไม่มีกลิ่นสาบโคลน  เพราะปลากะพงจริงๆ แล้วมันเป็นปลาสามน้ำ เลี้ยงได้ทั้งน้ำเค็ม น้ำกร่อย น้ำจืด  ถ้าจะเลี้ยงในสภาพน้ำแบบไหนก็ต้องบอกคนขายพันธุ์ปลาไว้  แล้วเขาจะปรับสภาพลูกปลาให้เรา  ปลากะพงเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย แข็งแรง โตเร็ว เลี้ยง 6-7 เดือนก็ได้กิโลกว่า”

 

 

ที่นี่จะจำหน่ายปลากะพงทั้งแบบตัวเล็กขนาดกิโลกว่า ราคากิโลกรัมละ 200 บาท  และขนาดใหญ่  4 กก.ขึ้นไป ราคา 250 บาท/กก. ซึ่งปลารุ่นใหญ่นี้จะต้องใช้เวลาเลี้ยงไม่น้อยกว่า 2 ปี

“เรามีข้อได้เปรียบคือ ปลาของเราสดกว่า รสชาติหวาน เพราะถ้าสั่งจากภาคกลางเขาก็จะใส่ในถังน้ำแข็งมา เนื้อปลาจะเริ่มยุ่ยแล้ว  ลูกค้าที่มาสั่งที่เราเขาก็ชอบตัวใหญ่ๆ นะเพราะยิ่งตัวโต เนื้อจะยิ่งแน่น  กุ้งก็เหมือนกัน เราเลี้ยงกุ้งแวนาไมเป็นหลัก สด เนื้อแน่น หวาน  กุ้งก้ามกรามก็เลี้ยงในน้ำกร่อยได้ แต่สมาชิกเราไม่ค่อยนิยมเพราะมันโตช้าต้องเลี้ยง 8 เดือนขึ้นไป แต่กุ้งขาวนี่เลี้ยง 3 เดือนก็จับขายได้ ปีหนึ่งก็เลี้ยงได้ 3-4 รอบก็พอ  แต่เว้นช่วงหน้าฝนเพราะฝนตกบ่อย กุ้งปรับตัวไม่ทัน จะน็อคน้ำ”

 

 

ต่อมาเมื่อมีผู้เลี้ยงปลาในหมู่บ้านมากขึ้นจึงได้มีการจัดตั้ง “กลุ่มผู้เลี้ยงปลาบ้านหนองนางขวัญ” เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2556  มีสมาชิกแรกเริ่ม 20 คน  ก่อนจะกลายเป็น 30 คนในปัจจุบัน  โดย ร.ต.สมพงษ์ เป็นประธานกลุ่มฯ  ทั้งนี้ทางกลุ่มฯ ได้รับคำแนะนำจากสำนักงานประมง อ.บ้านไผ่   สำนักงานประมง จ.ขอนแก่น   ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดขอนแก่น   ภาควิชาประมง คณะเกษตรศาสตร์ ม.ขอนแก่น  ในเรื่องการใช้เทคโนโลยี ชีวภาพในการเลี้ยงปลา การทำปุ๋ยชีวภาพ การทำอาหารปลาแบบพื้นบ้านเพื่อลดต้นทุนการผลิต เช่น ใช้มันสำปะหลังหมักยีสต์มาเป็นอาหารปลา สามารถลดต้นทุนค่าอาหารปลาลงได้ถึง 10 เท่า  และใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงทำฟาร์ม โดยไม่ใช้ยาและสารเคมี

 

 

ปัจจุบันกลุ่มผู้เลี้ยงปลาบ้านหนองนางขวัญได้เข้าร่วมโครงการประมงแปลงใหญ่ของภาครัฐ  ด้วยจำนวนสมาชิก 30 ราย พื้นที่ทำประมงกว่า 300 ไร่  ถือเป็นกลุ่มประมงแปลงใหญ่กลุ่มแรกและกลุ่มเดียวของ จ.ขอนแก่น  และกลายเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงปลาที่สำคัญในจังหวัด

“กลุ่มเราก็มีปัญหาเรื่องแหล่งเงินทุนที่จะมาช่วย  ก็พอดีได้เข้าร่วมโครงการประมงแปลงใหญ่ของภาครัฐ  เขาก็เลยจะให้เรากู้เงินมาขยายงานในกลุ่มของเรา  ถ้าได้เงินมา เราก็จะเอามาขยายงาน ผลิตปลาตามที่ตลาดต้องการ  เพราะมีห้างร้าน โรงแรม ที่มาติดต่อให้เราส่งปลากะพงให้  แต่เรายังผลิตไม่ได้มากพอ เพราะแรกๆ สมาชิกเขาก็ยังไม่กล้า  แต่เมื่อเห็นมีตลาด ใครก็เข้ามาติดต่อ สมาชิกเขาก็เริ่มอยากจะเลี้ยงกันมากขึ้น  รวมถึงกุ้งด้วย”

 

 

นายฉลอมชัย เปล่งชัย ประมง อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า “ทางเราได้เข้ามาให้คำแนะนำตั้งแต่การเตรียมบ่อ การปล่อยปลา การให้อาหาร การทำอาหารปลาโดยใช้วัตถุดิบพื้นบ้านเพื่อลดต้นทุน  ส่วนเรื่องประมงแปลงใหญ่  ข้อดีคือ เราสามารถมารวมตัวกันเพื่อร่วมกันผลิต  ไม่ใช่ต่างคนต่างคิดต่างคนต่างขาย  อีกอย่างคือ มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินกู้  โดยเฉพาะกู้เงินจาก ธกส.

ขณะนี้ทางกลุ่มที่นี่ก็ได้รับอนุมัติแล้ว 10 ล้านบาท เพื่อให้เกษตรกรนำไปปรับปรุงบ่อ  ซึ่งที่นี่ก็เป็นประมงแปลงใหญ่ที่เดียวในขอนแก่นโดยเฉพาะเรื่องปลานิล  ความสำเร็จของที่นี่ก็มาจากหลายสาเหตุ อันแรกคือเรื่องคน ได้ผู้นำที่ดี คนมีความเข้าใจและขยันขันแข็ง  และเกี่ยวกับสภาพพื้นที่ด้วย  จากเดิมที่ปลูกข้าวไม่ได้ก็เลยหันมาขุดบ่อเลี้ยงปลา  หลายคนก็สามารถลืมตาอ้าปากได้”

 

จากพื้นที่รอบบึงแก่งละว้าใน อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ซึ่งมีปัญหาดินเค็มจนทำการเพาะปลูกพืชได้ยาก  เมื่อได้รับการคิดใหม่ทำใหม่  ก็ได้กลายเป็นแหล่งเลี้ยงปลาเศรษฐกิจที่สำคัญ ทั้งปลานิล ปลาตะเพียน ปลากะพงขาว ปลามรกต ปลาทับทิม และ กุ้งน้ำกร่อย  โดยเฉพาะปลากะพงซึ่งเป็นปลารสชาดอร่อย ราคาแพง เป็นที่นิยมของตลาด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ทีมข่าว77ขอนแก่น

ทีมข่าว77ขอนแก่น

ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดขอนแก่น