ขอนแก่น – มหาวิทยาลัยขอนแก่นวิจัยต่อยอดแผ่นรังไหมจากเดิมป้องกันกระสุนปืนสั้น มาสู่เกราะรังไหมรับแรงกระสุนปืนขนาด 5.56 มม. และอาวุธหนักทางทหารได้สำเร็จ
วันนี้ (31 ส.ค.63) ณ ห้องรับรองพิเศษ ศาลาช่อกาลพฤกษ์ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในงานแถลงข่าว มข.พบสื่อมวลชน เรื่อง “งานวิจัยแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนเอ็ม 16” ซึ่งเป็นผลงาน วิจัยของ ผศ.พนมกร ขวาของ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย ขอนแก่น และ อ. สุธา ลอยเดือนฉาย
โดยงานวิจัยแผ่นรังไหมรับแรงนี้ได้รับการพัฒนาต่อยอดจากแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนสั้น อาทิ กระสุนขนาด 9 มิลลิเมตร 11 มิลลิเมตร เดิมที่ประสบความสำเร็จไปแล้ว ก้าวมาอีกขั้นสู่แผ่นรังไหมสามารถรับกระสุนปืนที่แรงและมีขนาดใหญ่ขึ้นเท่ากับ 5.56 มิลลิเมตร ซึ่งใช้ในอาวุธปืน M16 อาวุธที่ใช้ทางทหารได้สำเร็จ พร้อมได้รับการจดสิทธิบัตรเป็นทรัพย์สินทางปัญญาเรียบร้อยแล้ว
ข่าวน่าสนใจ:
- ขอนแก่น จัดงานสุดยอดมหกรรมเทศกาลอาหาร “ขอนแก่นแซ่บเวอร์ Soft power foodThailand”พบการแสดงศิลปวัฒนธรรมอีสาน และศิลปินชื่อดังระหว่างวันที่ 25-29…
- ขอนแก่นพร้อมเป็นเจ้าภาพ จัดการแข่งขันกีฬานักเรียนนักศึกษาแห่งชาติครั้งที่ 44 "ขอนแก่นเกมส์ "22 – 30 มกราคม 2568
- ผู้ช่วย ผบ.ตร.ปล่อยแถวระดมกวาดล้างอาชญากรรม ห้วงก่อนวันคริสต์มาสและเทศกาลปีใหม่ 2568
โดยผลิตออกมาเป็น 2 รุ่น ได้แก่ รุ่นน้ำหนักประมาณ 2 กิโลกรัม และ รุ่นน้ำหนักประมาณ 1.6 กิโลกรัม จุดเด่นของงานวิจัยนี้ เมื่อเทียบกับแผ่นเหล็กหนาขนาด 9 มิลลิเมตร ที่บุคลากรทางทหารตำรวจใช้ในเสื้อเกราะกันกระสุนทั่วไป พบว่า มีน้ำหนักเบากว่า 2-3 เท่า และยังมีคุณสมบัติเด่น คือ การหยุดจับกระสุนไม่ให้เกิดการแฉลบ เนื่องจากแผ่นโลหะทำให้กระสุนเกิดการแฉลบซึ่งอาจไปโดนอวัยวะอื่น หรือผู้ที่อยู่ข้างเคียงเป็นอันตรายได้
และเมื่อเปรียบเทียบกับเกราะอ่อนกันกระสุนที่ทำจากเคฟลาร์ พบว่า แผ่นรังไหมสามารถป้องกันอาวุธมีคม เช่น มีด ซึ่งไม่สามารถแทงทะลุแผ่นรังไหมได้ แต่สามารถแทงทะลุเกราะอ่อนได้ ขณะที่ต้นทุนการผลิตเกราะรังไหมชนิดนี้มีราคาต่ำกว่าของต่างประเทศเกือบครึ่งหนึ่ง
ผศ.ดร.พนมกร กล่าวว่า กระบวนการผลิตแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนขนาด 5.56 มม. จะมีกระบวนผลิตแตกต่างจากแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนสั้น โดยใช้รังไหมที่มีความยืดหยุ่น น้ำหนักเบา ต้านทานแรงกระแทกได้ดี แต่เพิ่มวัสดุที่สามารถรับและกระจายแรงเข้าไป พร้อมทั้งพัฒนาปรับปรุงน้ำยาชนิดพิเศษเพื่อให้วัสดุต่าง ๆ ยึดเกาะกันอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ได้แผ่นรังไหมที่สามารถรับแรงกระสุนปืนขนาด 5.56 มม. หรือกระสุนปืน M16 ได้ แตกต่างจากแผ่นรังไหมเดิมที่รับได้เฉพาะแรงกระสุนปืนสั้นเท่านั้น แม้จะนำมาซ้อนกันถึง 4 แผ่น แต่กระสุนปืนขนาด 5.56 มม. ก็สามารถทะลุได้
- “วิศวจุฬาฯ” ประดิษฐ์เสื้อเกราะกันกระสุน ช่วยลดการนำเข้าจาก ตปท.
- รับศพทหารกล้าเสียชีวิตเหตุไม่สงบชายแดนใต้ กลับบ้านเกิดที่อุบลราชธานี
ตอนนี้แผ่นรังไหมรับแรงมี 2 แบบ คือ แผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนสั้น ซึ่งมี 3 รุ่น ได้แก่ รุ่นน้ำหนัก 0.9 0.75 และ 0.55 กิโลกรัม และแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนขนาด 5.56 มิลลิเมตร ซึ่งมี 2 รุ่น ได้แก่ รุ่นน้ำหนัก 2 และ 1.6 กิโลกรัม เพื่อให้สามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ อาทิ ทหาร ตำรวจ ตำรวจตระเวนชายเดน หรือเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เสี่ยงชายแดนภาคใต้ โดยสามารถติดต่อได้ที่ ผศ. พนมกร ขวาของ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: