วันศุกร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2565 เวลา 17.00 น. ณ ตลาดสีเขียวขอนแก่น บึงแก่นนคร นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชนเพื่อสำรวจข้อมูลแนวทางการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์โฮงมูนมัง โดยมี รองนายกเทศมนตรี (นายมนตรี สิงหปุณณภัทร , ดร.อรอนงค์ แสวงการ) เลขานุการนายก (นายธนกฤษ ลิ้มติยะกุล , นายณัฐกร ศรีนวกุล , นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเรือง) นายเดชา เปรมฤดีเลิศ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ , นายวรินทร์ เอกบุรินทร์ สมาชิกสภาเทศบาล , นายมานพ ช่องตะคุ ผอ.สำนักศึกษา , นายศรัณย์ เปานาเรียง ผอ.ส่วนส่งเสริมการศึกษา , นางวทัญญุตา ธวัชโชติ ผอ.ส่วนสังคมสงเคราะห์ และพนักงานเทศบาลที่เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่ด้วย ซึ่งเป็นการสำรวจทัศนคติของชาวขอนแก่นเกี่ยวกับการใช้พื้นที่สาธารณะและการพัฒนาปรับปรุงพิพิธภัณฑ์โฮงมูนมัง โดยสภาพัฒนาเมือง นำโดย นายศุภกร ศิริสุนทร กรรมการผู้จัดการ บริษัทพร็อพเพอร์-ทีพาร์ทเนอร์ จำกัด
สืบเนื่องจาก โฮงมูนมัง จังหวัดขอนแก่น เป็นพิพิธภัณฑ์เมืองที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2546 เป็นสถานที่ที่รวบรวมเรื่องราวประวัติศาสตร์ของเมืองขอนแก่น นำมาจัดแสดงในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ โดยเวลาเกือบ 20 ปี สภาพของพิพิธกัณฑ์ สิ่งจัดแสดง รวมถึงเนื้อหาก็ได้เสื่อมลงตามเวลา นอกจากนี้การพัฒนาเมืองขอนแก่นและพื้นที่รอบบึงแก่นนครได้มีความเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีตอย่างมาก เทศบาลนครขอนแก่นจึงเห็นควรให้มีการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์โฮงมูนมัง เมืองขอนแก่นขึ้นมาใหม่ เพื่อให้มีความทันสมัย รวมถึงสามารถเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับประชาชนและนักท่องเที่ยวในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม วิถีชีวิตของประชาชน รวมไปถึงบริบทของเมืองขอนแก่นในปัจจุบันและอนาคต โดยต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชนรวมไปถึงสอดคล้องกับทิศทางและแนวโน้มของอนาคตด้วย
ซึ่งแนวทางการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์โฮงมูนมัง จะเป็นการสำรวจข้อมูลและทำกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชน มีการลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากการสำรวจเชิงปริมาณโดยใช้แบบสอบถามถามคนในชุมชนต่างๆ สัมภาษณ์จากผู้ให้คำตอบโดยตรง (Face to face interview) โดยมีพนักงานสัมภาษณ์ลงพื้นที่ร่วมกับสภาพัฒนาเมือง สภาเด็กและเยาวชน หรือตัวแทนของเทศบาลนครขอนแก่น โดยจะสำรวจในประกอบด้วยประเด็นดังนี้ 1. ชีวิตและความเป็นอยู่ รวมถึงความต้องการต่างๆ ทั่วไป 2. พฤติกรรมการใช้พื้นที่สาธารณะ และบึงแก่นนคร 3. ความเห็นต่อการพัฒนาโฮงมูนมัง และสิ่งที่อยากเห็น 4. มุมมองต่อการพัฒนาขอนแก่นในปัจจุบันและอนาคต
การสำรวจข้อมูลดังกล่าวเพื่อสอบถามทัศนคติของประชาชนในจังหวัดขอนแก่น เกี่ยวกับการใช้พื้นที่สาธารณะและกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาพื้นที่สาธารณะประเภทต่างๆ ในเมืองขอนแก่น รวมถึงพิพิธภัณฑ์โฮงมูนมัง เพื่อให้ทราบถึงความต้องการของประชาชน ว่าต้องการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด สร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน สร้างความภาคภูมิใจให้แก่คนขอนแก่น ตลอดจนสามารถนำไปปรับใช้กับงานและโครงการอื่นๆ ต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ข่าวน่าสนใจ:
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: