วันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2565 เวลา 09.00 น. ณ วัดศรีสว่างโนนทัน จังหวัดขอนแก่น นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น มอบหมายให้ นายมนตรี สิงหปุณณภัทร รองนายกเทศมนตรี เป็นประธานในพิธีประเพณีกวนข้าวทิพย์ ซึ่งมี นางสาวจรินทร์ญา สุทาวัน หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ ประธานชุมชนโนนทัน 1-9 และพี่น้องชุมชนโนนทัน 1-9 ร่วมในพิธี โดยมี พระปลัดแสงสุรีย์ ญาณเมธี เจ้าอาวาสวัดศรีสว่างโนนทัน เป็นประธานฝ่ายสงฆ์
จากความเชื่อในครั้งพุทธกาลที่นางสุชาดาปรุงข้าวมธุปายาสถวายพระพุทธองค์ ก่อนจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถือกันว่าข้าวมธุปายาสเป็นของทิพย์ของวิเศษ เมื่อทำขึ้นจึงเรียกว่า ข้าวทิพย์ หรือ “ข้าวมธุปายาส” เป็นอาหารวิเศษใช้สำหรับถวายเทวดา ทั้งยังมีความเชื่อที่ว่า หากผู้ใดได้บริโภคข้าวทิพย์แล้ว จะประสบโชคลาภต่างๆ นานา ปราศจากโรคาพยาธิ ภัยพิบัติ ประสบสิ่งที่เป็นมงคล และมีกำลังวังชาแข็งแรง ซึ่งชาวบ้านจะพร้อมใจกันทำในเทศกาลออกพรรษา ถวายพระสงฆ์เพื่อเป็นการสักการบูชา ถ้าใครได้รับประทานจะเป็นสิริมงคลกับตนเอง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ในการกวนข้าวทิพย์ต้องอาศัยแรงศรัทธา แรงใจ ความสามัคคีพร้อมเพรียงกัน จึงจะสำเร็จลงได้ มูลเหตุที่ทำในวันออกพรรษา เพื่อถวายเป็นเครื่องสักการะบูชาและรับเสด็จพระพุทธองค์ที่เสด็จจากจำพรรษาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ประเพณีการกวนข้าวทิพย์เป็นพิธีกรรมของศาสนาพราหมณ์ที่สอดแทรกเข้ามาในพิธีกรรมของพระพุทธศาสนา ซึ่งถือเป็นพระราชพิธีที่กระทำกันในเดือนสิบ มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีและได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ ๑ และมาเลิกราไปในรัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓ และมาได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งในรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา แต่ปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่นิยมจัดกันในเดือน ๖ เครื่องกวนข้าวทิพย์นั้นทำจากสิ่งต่างๆ ที่มนุษย์ใช้รับประทานหลากหลายชนิด จนเรียกได้ว่าทำมาจากอาหาร ๑๐๘ อย่าง เช่น น้ำนมข้าว ข้าวสาลี ข้าวตอก ข้าวเม่าสาคู เผือก มัน นม เนย น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ธัญพืชคั่วสุกชนิดต่างๆ เช่น ถั่ว งา ลูกเดือย เมล็ดแตง เมล็ดบัว ผลไม้สด ผลไม้แห้ง เช่น มะพร้าว มะม่วง กล้วย ทุเรียน ละมุด ลำไย ส้ม ขนุน เป็นต้น นำมาบดผสมในน้ำกะทิกรองเอาแต่น้ำ แล้วนำมากวนบนไฟอ่อนๆ เรียกการกวนนี้ว่า“ประเพณีกวนข้าวทิพย์
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
ข่าวน่าสนใจ:
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: