นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานการประชุมคณะทำงานกำหนดนโยบายด้านการคมนาคมเพื่อสนับสนุนการบูรณาการการเชื่อมโยงระหว่างไทย ลาว และจีน ครั้งที่ 1/2565 ผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์
ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงโครงข่ายทางรถไฟระหว่างสามประเทศ เพื่อรองรับการเดินทางและขนส่งที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้าโลก โดยเฉพาะการที่ประเทศไทยมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่สามารถเป็นประตูเชื่อมโยงภูมิภาคอื่นกับเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคและอาเซียนเพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยพร้อมสู่การเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในอนาคตจึงได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดการจัดทำนโยบายด้านการคมนาคมเพื่อสนับสนุนการบูรณาการการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
โดยกระทรวงคมนาคม ภายใต้การบริหารของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการดำเนินการเชื่อมต่อโครงข่ายด้านโลจิสติกส์ระหว่างสามประเทศ เนื่องจากโครงการเชื่อมโยงโครงข่ายทางรถไฟ ไทย ลาว และจีน ระบบการขนส่งทางรางเป็นรูปแบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่าทั้งในมิติด้านต้นทุนทั้งด้านเวลา และค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าผ่านรถไฟจากไทยไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่จะส่วนเสริมสร้างการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานกำหนดนโยบายด้านการคมนาคมเพื่อสนับสนุนการบูรณาการการเชื่อมโยงระหว่างไทย ลาว และจีนเพื่อตอบสนองต่อนโยบายการเชื่อมต่อโครงข่ายระหว่างสามประเทศที่จำเป็นจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนและประเทศเป็นสำคัญ
ซึ่งในการประชุมในวันนี้มีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน อาทิ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรม และหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคมเข้าร่วมประชุม โดยที่ประชุมได้มีมติเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อรองรับการขนส่งข้ามแม่น้ำโขงเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าระหว่างไทย – ลาว – จีน ด้วยรถไฟขนาดทาง 1 เมตร ให้สามารถเชื่อมโยงทั้งภายในและภายนอกที่จะช่วยขยายความครอบคลุมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจออกไปให้ได้ประโยชน์ในทุกมิติ และได้มอบหมายให้ดำเนินการ ดังนี้
1. มอบหมายการรถไฟแห่งประเทศไทยเร่งรัดการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมศุลกากร สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ฯลฯ ก่อนพิจารณาหารือร่วมกับฝ่าย สปป.ลาว เพื่อพิจารณาการกำหนดจุดตรวจร่วม (Common Control Area : CCA) การปรับปรุงความตกลงเดินรถไฟร่วม เช่น
การพิจารณาเพิ่มสถานีระหว่างประเทศ (International Station) รวมถึงพิจารณาจัดการประชุมคณะทำงานร่วมไตรภาคีด้านรถไฟระหว่างไทย – ลาว – จีน ทั้งในระดับคณะทำงานด้านเทคนิค และธุรกิจ และการประชุมไตรภาคีเพื่อหารือแนวทางการเชื่อมโยงรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน (ระดับอธิบดี) โดยเร็วต่อไป
2. มอบหมายกรมทางหลวงเร่งรัดการศึกษาแนวทางการก่อสร้างสะพานแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ก่อนนำผลการศึกษาหารือร่วมกับฝ่าย สปป.ลาว โดยเร็วต่อไป ทั้งนี้ให้กรมทางหลวงพิจารณานำประเด็นการเปิดใช้สะพานมิตรภาพแห่งเดิมหลังจาก เวลา 22.00 น. หารือในการประชุมคณะกรรมาธิการบริหารและบำรุงรักษาสะพานมิตรภาพ (หนองคาย-เวียงจันทน์) ครั้งต่อไป
3. มอบหมายกรมการขนส่งทางบก พิจารณาปรับปรุงความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางถนนระหว่างไทย – ลาวตามที่ฝ่าย สปป.ลาว เสนอ โดยให้คำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนและประเทศเป็นสำคัญ
4. มอบหมายสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมการขนส่งทางบก สถาบันการบินพลเรือน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดเตรียมข้อมูลการฝึกอบรมในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทั้งเรื่องถนน ทางราง โลจิสติกส์ และการบินพลเรือน ตามข้อร้องขอของฝ่ายลาวต่อไป
5. มอบหมายการรถไฟแห่งประเทศไทยเร่งรัดแก้ไขปัญหาการดำเนินการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยาโดยเร็วต่อไป
6. มอบหมายให้พิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างไทย ลาว จีน มาเลเซีย และสิงคโปร์ เพื่อหารือแนวทางการในบูรณาการการขนส่งร่วมกันในอนาคตที่จะนำมาซึ่งผลประโยชน์สูงสุดของการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ต่อไป
7. มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเร่งรัดการแก้ไขแบบก่อสร้างทางรถไฟทางคู่บริเวณสี่แยกบ้านจั่น อำเภอเมืองอุดรธานีโดยเร็ว เพื่อบรรเทาข้อกังวลของประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคมเร่งรัด และติดตามการดำเนินการอย่างใกล้ชิดต่อไป
8. มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) การดำเนินการสนับสนุนการบูรณาการการเชื่อมโยงระหว่างไทย ลาว และจีน ให้มีความชัดเจนโดยเร็ว เพื่อประโยชน์สูงสุดในการดำเนินการให้เกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน
ทั้งนี้ ในประเด็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม โดยเฉพาะการพัฒนาโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างศักยภาพและแสวงหาโอกาสใหม่ทางการค้า การลงทุน ที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้อนุมัติให้กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา มาตั้งแต่ปี 2560 โดยในการดำเนินโครงการดังกล่าวประเทศไทยจะเป็นผู้ลงทุนโครงการ 100% โดยฝ่ายไทยจะเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง งานโยธา โดยฝ่ายจีนจะดำเนินการออกแบบ ควบคุมงาน และติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล
เมื่อเปรียบเทียบโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน และโครงการรถไฟลาว – จีน จะพบว่ารถไฟลาว – จีน เป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างฝ่ายลาวกับจีน โดยฝ่ายลาวลงทุนร้อยละ 30 ฝ่ายจีนลงทุนร้อยละ 70 โดยเป็นการออกแบบพร้อมก่อสร้าง (Design Build) ใช้รางขนาด 1.435 เมตร เป็นทางเดี่ยว โดยใช้รถไฟ EMU รุ่น CR 200 ด้วยความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในขณะที่รถไฟไทย – จีน เป็นรถไฟความเร็วสูงที่มีการใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างที่แตกต่างจากรถไฟลาว – จีน โดยก่อสร้างเป็นทางคู่ตลอดเส้นทาง โดยใช้รถรุ่น CR300 สามารถรองรับความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ฝ่ายไทยเป็นผู้ลงทุนโครงการทั้งหมด 179,412.21 ล้านบาท ระยะทาง 253 กิโลเมตร ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถกำหนดยุทธศาสตร์ เช่น มีอิสระในการกำหนดแผนในการเดินรถ (Operation) ไม่เสียสิทธิ์การใช้พื้นที่ข้างทาง สามารถกำหนดให้พนักงานขับรถไฟและพนักงานในศูนย์ซ่อมบำรุงทั้งหมดเป็นชาวไทยได้ตั้งแต่วันแรกที่เปิดให้บริการเดินรถ ซึ่งถือเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่ประเทศ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลไทยที่มุ่งมั่นจะดำเนินโครงการที่ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจและการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านระบบรางในระยะยาวที่ยั่งยืน และเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ที่จะสนับสนุนการขยายตัวของเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจโดยรอบเส้นทางที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทาง ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงาน การท่องเที่ยวและนำมาสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
ข่าวน่าสนใจ:
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: