แวดวงงานวิจัยมีความเคลื่อนไหวอีกครั้ง เมื่อศูนย์นวัตกรรมแห่งความยั่งยืนและสังคม สังกัดวิทยาลัยนานาชาติมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับคณะเทคโนโลยี คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อุทยานวิทยาศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการวิจัย “Circular X Creative Economy – แบบจำลองธุรกิจสำหรับเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อการจัดการเศษเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมแปรรูปมะม่วง และเศษเหลือทิ้งทางการเกษตรอื่น ๆ ในจังหวัดขอนแก่น”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิริมนพร ทิพสิงห์ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า โครงการวิจัย “Circular X Creative Economy เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์หรือบริการเดิมปรับปรุงคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้นกว่าเดิม ให้เป็นนวัตกรรมยั่งยืน ภายใต้แนวคิด เทคโนโลยีใหม่ๆ รักษาความสมดุล รักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งในเชิงวิถีมนุษย์และเชิงพาณิชย์ นวัตกรรมนี้นอกจากจะกระตุ้นสภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ยังใช้ทรัพยากรบางอย่างที่น้อยลง ลดการส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุดและยั่งยืนที่สุด คาดว่า โครงการนี้จะเป็นตัวชี้วัดถึงศักยภาพของบุคลากรวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเตรียมความพร้อมในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่กำลังจะเข้ามาและให้เป็นผลประโยชน์แก่ส่วนรวมอย่างแท้จริง
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ซวิศ เกตุแก้ว รองคณบดีฝ่ายกลยุทธ์ วิจัย และการต่างประเทศ และผู้อำนวยการโครงการฯ กล่าวว่าโครงการนี้เกิดขึ้นเนื่องจากพบว่า ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น มีปัญหาขยะจากผลผลิตการเกษตรจำนวนมาก ทีมคณะวิจัยได้ให้ความสนใจกับมะม่วง ซึ่ง จ.ขอนแก่น มีแหล่งผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออกที่ อ.บ้านแฮด จึงได้นำมาศึกษาหาทางเพิ่มมูลค่าการส่งออก สร้างการตระหนักรู้แก่สังคมเกี่ยวกับการบริหารจัดการเศษเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมมะม่วงแปรรูป บนพื้นฐานความคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน การเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม และเพื่อพัฒนานวัตกรรมการใช้ประโยซน์จากเศษเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมมะม่วงแปรรูป เกิดเป็นโครงการวิจัยย่อย 5 โครงการ ประกอบด้วย 1.คลาวด์แพลตฟอร์ม แบบบูรณาการเพื่อการจัดการส่วนเหลือทิ้งจากการผลิตมะม่วงแปรรูป และการจัดการความรู้เครือข่ายทางธุรกิจ 2.นวัตกรรมบัตเตอร์จากเมล็ดมะม่วง 3.นวัตกรรมกระดาษจากเปลือกมะม่วง 4.นวัตกรรมหนังมังสวิรัติจากเนื้อมะม่วง 5.นวัตกรรมหัตถกรรมจากเศษเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมแปรรูปมะม่วง และข้อสุดท้ายเพื่อนำเสนอโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนในห่วงโซ่อุปทานการผลิตมะม่วงแปรรูปแก่ชุมชนที่ร่วมโครงการ และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการผลิตนวัตกรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มจากเศษมะม่วงเหลือทิ้ง
พร้อมทั้งนำไปสู่การปฏิบัติจริงอย่างเป็นรูปธรรม และหลังจากนี้ยังมีโครงการวิจัยจัดการเศษเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมพืชเกษตรชนิดอื่นๆ อีกด้วย
สำหรับโครงการนี้มีบริษัทที่จะร่วมทุนจำนวน 2 บริษัท คือ 1) บริษัทประกอบธุรกิจอาหารแปรรูปจากมะม่วงภายใต้แบรนด์ “เลดี้ศกุนตลา” และ 2) บริษัทประกอบธุรกิจหัตกรรมส่งออกภายใต้แบรนต์ “สัมผัสแกเลอรี่” โดยเลดี้ศกุนตลายินยอมรับเทคโนโลยีที่ 1 ถึง 4 ส่วนสัมผัสแกเลอรี่ยินยอมรับเทคโนโลยีที่ 5 ผู้ก่อตั้งสัมผัสแกเลอรี่เป็นที่รู้จักในฐานะนักออกแบบผลิตภัณฑ์ผู้เป็นสะพานเชื่อมระหว่างงานหัตถกรรมกับงานอุตสาหกรรม และมีตลาดส่งออกนยุโรปที่อยู่ตัวแล้วเพื่อรองรับนวัตกรรมหัตถกรรม ช่องทางการตลาดจึงถือเป็นข้อได้เปรียบอย่างมาก
สำหรับโครงการวิจัยนี้ หลังจากจบโครงการผู้ประกอบการจะได้รับการบ่มเพาะผ่านโครงการ Business Incubationโดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร่วมกับศูนย์นวัตกรรมและสังคมแห่งความยั่งยืน ดำเนินการภายใต้วิทยาลัยนานาชาติ เป็นเวลา 1 ปี เพื่อเรียนรู้ระบบบริหารจัดการโมเดลธุรกิจแบบออนไลน์ที่สร้างขึ้น หลังจบจากโครงการ Business Incubation ศูนย์นวัตกรรมและสังคมแห่งความยั่งยืน ยังคงร่วมบริหารจัดการธุรกิจกับบริษัทเลดี้ตกุลตลาต่อไปในลักษณะหุ้นส่วน โดยศูนย์นวัตกรรมและสังคมแห่งความยั่งยืน สามารถจัดหาบุคลากร ทางด้านบริหารธุรกิจและดิจิทัล (นักวิจัย และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาประจำศูนย์) เพื่อบริหารระบบไอที และห่วงโซ่อุปทานการของธุรกิจ การที่ศูนย์นวัตกรรมและสังคมแห่งความยั่งยืน มีส่วนร่วมดูแลธุรกิจยังสามารถต่อยอดให้เกิดโมเดลการศึกษาแบบ Education Sandbox ที่นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นจะเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลธุรกิจและเรียนรู้บทเรียนชีวิตจริงในการทำธุรกิจตีจิทัลไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้โมเดลธุรกิจนี้เติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: