วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 09.00 น. มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด จัดงานแถลงข่าวพิธีลงนามการถ่ายทอดทรัพย์สินทางปัญญาผลิตภัณฑ์ “โจ๊กที่มีส่วนผสมสารสกัดใบหม่อนและผักแพว” โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด พร้อมผู้บริหารทั้งสองฝ่ายร่วมลงนามในพิธี ณ ห้องประชุมสารสิน ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความมุ่งมั่นผลักดันผลงานวิจัยที่ดีและมีคุณภาพไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เพื่อยกระดับสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีผลการวิจัยรองรับ โดยใช้วัตถุดิบในประเทศ และช่วยลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งที่น่าภาคภูมิใจคือ ผลงานนี้ใช้ใบหม่อนและผักแพวเป็นวัตถุดิบ ซึ่งเป็นพืชที่มีแหล่งเพาะปลูกมากในท้องถิ่นของภาคอีสาน ถือเป็นความตั้งใจอย่างยิ่งของทีมนักวิจัยที่อยากจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับใบหม่อนและผักแพว
สำหรับผลงานทรัพย์สินทางปัญญา เรื่อง “โจ๊กที่มีส่วนผสมสารสกัดใบหม่อนและผักแพว” นั้น ทีมนักวิจัย นำโดย ศ.ดร.จินตนาภรณ์ วัฒนธร รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสมรรถนะมนุษย์และการเสริมสร้างสุขภาพ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งใจพัฒนาสูตรขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุซึ่งมักจะมีปัญหาเรื่องความจำและมีปัญหาเรื่องระบบกระดูก นอกจากนั้น ยังช่วยให้สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรในรูปแบบผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพซึ่งมีมูลค่าสูงได้ เช่นเดียวกับผู้บริหาร บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ซึ่งมีวิสัยทัศน์ในการเป็นบริษัทชั้นนำด้านชีววิทยาศาสตร์ในภูมิภาคที่มีวิทยาศาสตร์อันเป็นเลิศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ก็มีความมุ่งมั่นขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ทางด้าน Life Science และสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น คือ มหาวิทยาลัยวิจัยและพัฒนาชั้นนำระดับโลก (A World-Leading Research and Development University) โดยหนึ่งในเป้าหมายคือ การวิจัย พัฒนาและการนำไปใช้ประโยชน์ จึงทำให้เกิดความร่วมมือและนำไปสู่การ Matching ผลงานวิจัยและธุรกิจในครั้งนี้
ข่าวน่าสนใจ:
- ชาวกันตัง ไม่ทน! จ่อแจ้ง 157 หากตรวจรับงานมิชอบ โครงการปรับภูมิทัศน์ริมท่าน้ำกันตัง-เกาะเนรมิต 73.7 ล้าน…
- เครื่องบินตกครบ 3 เดือนกับความกระจ่างที่ยังไม่ปรากฏ คนพื้นที่ยังหวาดหวั่นคาใจ
- ททท.แถลงข่าวกิจกรรม Event Marketing ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงกีฬา “แข่งขันวิ่งเทรลไตรบูรพาซีรีย์ 4 สนาม 3 จังหวัดภาคตะวันออก
- ตำรวจสมุทรปราการ ขานรับนโยบาย ผบ.ตร.บูรณาการกำลังทุกภาคส่วน กวดขันจับกุมแก๊งวัยรุ่นต่างด้าว
ศ.ดร.จินตนาภรณ์ วัฒนธร รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสมรรถนะมนุษย์และการเสริมสร้างสุขภาพ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า เมื่อเราอายุมากขึ้น หรือ เข้าสู่วัยทอง สมดุลของการสร้างกระดูก และ การสลายกระดูก จะลดลงไป ทำให้มีการสลายกระดูกมากกว่าการสร้างกระดูก เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาให้ตรงจุด จะต้องไปแก้ไขที่ตัวต้นตอ ซึ่งเราพบว่าผักพื้นเมือง เช่น ผักแพว ใบหม่อนมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง โดยเฉพาะ สารฟีนอลิก และ ฟลาโวนอยด์ รวมทั้งมีปริมาณแคลเซียมสูง
นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพหรือสารสำคัญต่างๆจำเป็นต้องมีความปลอดภัยต้องมีประสิทธิภาพสูงสุด การที่เราจะทำให้มีประสิทธิภาพสูงสุดก็ต้องคุมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งต้นน้ำของเรา คือ Raw material หมายถึง วัตถุดิบ ต้องมีการคุมการปนเปื้อน ต้องเก็บในส่วนที่ดีที่สุด จึงต้องไปคุมในเรื่อง Good Agricultural Practices หลังนั้นก็ไปเตรียมสารสกัด In Vitro คือ การทดลองในหลอดแก้ว เพื่อมาดูลักษณะของสารสำคัญ ยิ่งไปกว่านั้นสิ่งที่เราทำมากกว่าคนอื่น คือ ทำฤทธิ์ชีวภาพ หมายถึง เลือกตรวจสอบฤทธิ์ชีวภาพที่เกี่ยวข้องกับพยาธิสภาพของโรคที่สนใจ อย่างเช่น กว่าที่จะได้สารสกัดใบหม่อนก็ต้องทำ solvent ต่างๆ หมายถึงตัวทำละลายๆต่างๆตัวไหนดีที่สุดก็เลือกตัวนั้นมา
อย่างเช่น ผักแพว ก็จะเลือกอันที่ดีที่สุดพอได้ตัวที่ดีที่สุดก็นำมาผสมกันในอัตราส่วนต่างๆ และก็เลือกอัตราส่วนที่ดีที่สุด เมื่อได้อัตราส่วนที่ดีที่สุด เราจะต้องนำไปจำลองในสภาวะที่ใช้จริง จึงนำไปทดสอบในสัตว์ทดลองแล้วมันมีศักยภาพ เราก็จะนำมาทดลองในอาสาสมัครวัยทอง ซึ่งพบว่าอาสาสมัครวัยทองมีความจำขณะทำงานดีขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นเราพบว่าหนูหรือว่าสัตว์ทดลอง มีความหนาของกระดูกเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันหลังจากที่อาสาสมัครบริโภคไปแล้วทำให้เซลล์ ที่ทำหน้าที่สร้างกระดูกมีเพิ่มขึ้น และเซลล์ที่ทำหน้าที่เป็นตัวสลายกระดูกลดลง เพราะฉะนั้นมันจึงสอดคล้องกับการทดลองที่เราพบในสัตว์ทดลอง
ต่อจากนั้นเราจึงทำเป็นสาร functional ingredients หรือ สารสกัดทางธรรมชาติจากพืชและสัตว์ ที่นิยมนำมาใช้ในกลุ่มยา อาหารเสริมและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ และเราก็ลองมาทำใน prototype product แบบจำลองเพื่อเก็บ Feedback ก่อนการสร้าง Product จริง เอาสารตัวนี้มาผสมในโจ๊กสุขภาพและเราก็พบว่ามันดีขึ้น นำเอามาทำในเครื่องดื่มก็ดีขึ้น เพราะฉะนั้นเห็นได้ว่าสาร functional ingredients ที่เราทำนี้เอาไปเพิ่มมูลค่าของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มได้
ดร. บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด กล่าวว่า นอกเหนือจากการดำเนินธุรกิจด้านยา ด้านวัสดุอุปกรณ์และเทคโนโลยีทางการแพทย์แล้ว ในการดำเนินธุรกิจด้านโภชนเภสัชและโภชนาการ อินโนบิก (เอเซีย) มีวัตถุประสงค์ให้ผู้บริโภคได้รับอาหารที่ดี มีคุณภาพ มีโภชนาการดี สามารถป้องกันโรคต่างๆที่มาพร้อมกับการดำเนินชีวิตตามวถีสมัยใหม่ได้ โดยมีกลยุทธ์การดำเนินงานร่วมกับพันธมิตร ผู้เชี่ยวชาญ และสนับสนุนงานวิจัยที่มีศักยภาพให้สามารถก้าวไปสู่ระดับเชิงพาณิชย์ ได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศได้ เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านโภชนาการแก่คนไทย
“โจ๊กที่มีส่วนผสมสารสกัดใบหม่อนและผักแพว” เป็นหนึ่งในงานวิจัยคุณภาพโดยนักวิจัยไทย ที่นำพืชผักพื้นบ้านของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย มาเป็นวัตถุดิบหลัก คือใบหม่อนและผักแพวที่มีคุณประโยชน์ เสริมสร้างความแข็งแรงของระบบต่างๆในร่างกาย ซึ่งเป็นระบบสำคัญที่มักแสดงความผิดปรกติในกลุ่มผู้สูงอายุ สอดคล้องกับแนวโน้มของสังคมไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยวางแผนการจำหน่ายช่วงแรกในรูปแบบซอง ตั้งเป้าออกสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ในไตรมาสที่ 4 ปี 2566 นี้ เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับคนไทย โดยเฉพาะผู้สูงวัย ได้รับประทานอาหารที่สะดวกและมีประโยชน์ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบในท้องถิ่น ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน โดยมีแผนที่ต่อยอดสารสกัดใบหม่อนและผักแพวเป็นสินค้าประเภทอื่นๆอีกในอนาคต
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: