วันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน 2566 ณ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มตีมีดม่วงหวาน อาจารย์ปริญ นาชัยสิทธิ์ รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตขอนแก่น มอบ อาจารย์บุญกิจ อุ่นพิกุล ผู้ช่วยอธิการบดี เป็นประธานเปิดโครงการการพัฒนาเครื่องปรับผิวเรียบโลหะ เพื่อเพิ่มศักยภาพและลดต้นทุนการผลิตมีดม่วงหวาน โดยมี นายสมภพ แก้วขาว ประธานวิสาหกิจชุมชน กลุ่มตีมีดม่วงหวาน กล่าวต้อนรับและแสดงความขอบคุณ พร้อมทั้งมอบของที่ระลึกแด่คณะผู้บริหาร มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น และ นายวิทยา สุวรรณสุข ผู้อำนวยการหน่วยปฏิบัติการเครือข่าย อว. ระดับภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และคณะ โดยอาจารย์ปริญญวัตร ทินบุตร กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของโครงการฯ
ความเป็นมาของโครงการฯ นี้ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สป.อว.) โดยกองส่งเสริมและประสาน เพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจและสังคมแบบบูรณาการ (ภาครัฐ – มหาวิทยาลัย – ชุมชน) และการผลักดันนโยบายการพัฒนาประเทศด้วย BCG ได้รับการจัดสรรงบประมาณโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน ภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก เพื่อพัฒนาและยกระดับสินค้าชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้มีคุณภาพและได้รับมาตรฐาน เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์หรือลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้และต่อยอดเชิงพาณิชย์
มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ได้รับจัดสรรงบประมาณ เพื่อพัฒนาและออกแบบเครื่องจักรภายใต้โครงการ การพัฒนาเครื่องปรับผิวเรียบโลหะ เพื่อเพิ่มศักยภาพและลดต้นทุนการผลิตมีดม่วงหวาน วิสาหกิจชุมชน กลุ่มตีมีดม่วงหวาน มีคณาจารย์นักวิจัย ประกอบด้วย อาจารย์ปริญญวัตร ทินบุตร อาจารย์ ดร.มานพ ดอนหมื่น คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม และ อาจารย์ ดร.ภูริพัส แสนพงษ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาโครงการฯ
อีกทั้งคณาจารย์นักวิจัย ได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลเชิงลึกและผลักดันให้มีดม่วงหวานได้รับ มผช. 82/2564 ประเภทมีดเหล็กกล้า ชนิดใช้ในการเกษตรสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี และกลุ่มวิสาหกิจมีความต้องการเครื่องปรับผิวเรียบโลหะเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิต คณาจารย์นักวิจัยจึงพัฒนาเครื่องปรับผิวเรียบโลหะ โดยมีลักษณะของตัวเครื่องใช้งานง่าย สะดวก ลดระยะเวลาการตีมีด ซึ่งโดยปกติจะใช้การตะไบและหินเพื่อปรับผิวเรียบโลหะ และใช้ทักษะฝีมือช่างตีมีดที่เชี่ยวชาญ การพัฒนาเครื่องนับว่าเป็นความสำเร็จที่นำเทคโนโลยีลงสู่ชุมชนและใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมได้ผลสำเร็จ ถือเป็นอีกความภาคภูมิใจของ มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: