26 ก.ย. 66 ที่อาคารกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ รพ.ขอนแก่น นพ.ปิติ จันทร์เมฆา หัวหน้ากลุ่มงาน อาชีวเวชกรรม โรงพยาบาลขอนแก่นนำพาเจ้าหน้าที่จากบริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนค์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนชัลแตนท์ จำกัด เข้าทำการตรวจวัดค่ามลพิษและกลิ่นรบกวน จากอาคารกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ ระหว่างวันที่ 25 – 26 กันยายน 2566 ในช่วงเวลา 08.30 – 16.30 น. ซึ่งเป็นการตรวจวัดค่ามลพิษและกลิ่นรบกวน ทั้งในอาคารกำจัดขยะติดเชื้อและอาคารที่พักผู้ป่วย ที่อยู่ตรงข้ามกับอาคารกำจัดขยะติดเชื้อ และที่พักข้าราชการ (แฟลตกระดังงา) ที่อยู่ด้านหลังอาคารกำจัดขยะติดเชื้อ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น
นพ.ปิติ จันทร์เมฆา หัวหน้ากลุ่มงาน อาชีวเวชกรรม โรงพยาบาลขอนแก่น กล่าวว่า การที่ รพ.ขอนแก่น ให้บริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนค์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนชัลแตนท์ จำกัด เข้าทำการตรวจวัดค่ามลพิษและกลิ่นรบกวน จากอาคารกำจัดมูลฝอยติดเชื้อนั้น เนื่องจากมีการร้องเรียนเรื่องกลิ่นรบกวนจากผู้ที่พักในแฟลตกระดังงา โดยมีความวิตกกังวลว่าจะก่อให้เกิดเชื้อมะเร็ง ส่งผลต่อสุขภาพ รพ.ขอนแก่น ให้บริษัทฯที่เป็นกลาง เข้ามาวัดค่าของกลิ่นรบกวน ว่ามีค่าได้มาตรฐานหรือเกินค่าที่กำหนดหรือไม่ ทั้งสารอินทรีย์ระเหยง่ายหรือฝุ่นละออง หรือแม้แต่พวกก๊าซละลายใดๆที่อาจจะเกินมาตรฐาน และถ้ามีค่าเกิน รพ.ขอนแก่นก็ยินดีที่จะแก้ไข ซึ่งการให้บริษัท เข้ามาตรวจวัดในครั้งนี้ โรงพยาบาลขอนแก่น ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังเทศบาลนครขอนแก่นให้ทราบว่า รพ.ขอนแก่น ได้ว่าจ้างบริษัทฯ มาตรวจวัดค่ามลพิษต่างๆ และเทศบาลนครขอนแก่นได้อนุญาต เดินเครื่องได้ เพราะตามปกติจะเดินเครื่องกำจัดขยะ 7 ครั้งต่อ 1 วัน โดยขออนุญาตเดินเครื่องเต็มระบบ คือ 7 รอบต่อวัน ส่วนผลการตรวจวัดค่ามลพิษต่างๆ ที่ปล่อยออกทางอากาศ ทางโรงพยาบาลขอนแก่น จะทำการชี้แจง เมื่อทางบริษัทฯแจ้งผลมาให้ทราบ
ด้านนายอภิวิชญ์ ท่วงที นักวิชาการสิ่งแวดล้อม บริษัท UAE กล่าวว่า การตรวจวัดค่ามลพิษ จากอาคารกำจัดมูลฝอยติดเชื้อนั้น ไม่เกิน 2-3 วัน จะรู้ผล ส่วนผลของการวัดค่าจะมีความแม่นยำ สร้างความเชื่อมั่นได้แน่นอน เพราะบริษัทได้รับมาตรฐาน ISO ของแลป การตรวจสอบจะเป็นการเก็บฝุ่นมาเป็นตัวอย่างในกล่องไฟที่อยู่ด้านนอก ที่เก็บเป็นตัวอย่างทุก 24 ชั่วโมง ส่งเข้าแลป เพื่อวิเคราะห์ผล ตรวจอัตราการไหล เก็บความชื้น และทำให้สามารถวิเคราะห์อัตราการระบายของกล่อง ระบายออกมากี่เมตรต่อชั่วโมง จะใช้ตัวอัตราการระบาย เทียบกับ 24 ชั่วโมง.
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: