ขอนแก่นเริ่มนับหนึ่งโครงการท่าเรือบก อ.น้ำพอง แล้วเสร็จในปี 2568 คาดมีตู้คอนเทนเนอร์ขึ้นลงไม่น้อยกว่าปีละ 1 ล้านตู้ ส่งผลให้ขอนแก่นเป็นฮับกระจายสินค้า
บ่ายวันนี้ที่สถานีรถไฟโนนพยอม ต.ม่วงหวาน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายศุภชัย ลีเขาสูง นายอำเภอน้ำพอง นายทรงศักดิ์ ทองไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ลงดูสภาพพื้นที่ที่จะมีการก่อสร้างโครงการท่าเรือบก ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ตัดสินใจที่จะก่อสร้างในพื้นที่ภาคอีสานพร้อมกันทั้งสองแห่งคือ ที่จังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดขอนแก่น โดยจะเริ่มการก่อสร้างในปี 2565 แล้วเสร็จในปี 2568
ข่าวน่าสนใจ:
โดยที่จังหวัดขอนแก่นและภาคเอกชนได้ร่วมกันสนับสนุนโครงการท่าเรือบกให้เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยพิจารณาพื้นที่บริเวณตำบลม่วงหวาน อำเภอน้ำพอง เป็นจุดที่เหมาะสมห่างจากตัวเมืองขอนแก่นไปตามถนนมิตรภาพเพียง 36 กิโลเมตร ปัจจุบันมีผู้ประกอบการภาคเอกชนได้มีการขนส่งสินค้าผ่านตู้สินค้าที่บริเวณสถานีรถไฟโนนพยอมไปยังท่าเรือแหลมฉบังกันอยู่แล้ว ทั้งนี้ที่ผ่านมาการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้เคยศึกษาการจัดตั้งท่าเรือบกที่จังหวัดขอนแก่นว่ามีความเหมาะสม เพราะพิจารณาเห็นว่ามีศักยภาพของการเป็นศูนย์กลางของภาคอิสาน ตลอดจนภูมิภาคอินโดจีน
ด้านผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า “โดยที่จังหวัดขอนแก่นได้ร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อให้การก่อสร้างท่าเรือบกเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และให้สมประโยชน์ในฐานะที่เป็นเจ้าของพื้นที่ด้วย ซึ่งต้องขอขอบคุณสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น หอการค้าจังหวัดขอนแก่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการรถไฟฯ ที่ให้การสนับสนุน ขณะนี้จังหวัดขอนแก่นได้ตั้งคณะกรรมการในระดับจังหวัดเพื่อที่จะเตรียมการ แม้ว่าจะมีกำหนดเวลาชัดเจนในการที่จะสร้างท่าเรือบกในปี 2565 ก็ตาม แต่หากว่าเราเตรียมตัวให้พร้อม มีการสื่อสารกับพี่น้องประชาชนถึงผลดีหรือประโยชน์ที่จะได้ เพราะตนเชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ให้กับจังหวัดขอนแก่น และภาคอีสานเป็นอย่างยิ่ง
ซึ่งในส่วนของพื้นที่โดยเฉพาะอำเภอน้ำพองก็พร้อมจะขับเคลื่อนในพื้นที่ในการที่จะขอตั้งคณะอนุกรรมการในระดับพื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่โครงการ ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ที่ดี เพราะบริเวณสถานีรถไฟโนนพยอมจะเป็นสถานที่วางตู้คอนเทนเนอร์ของท่าเรือบก และจะเป็นจุดที่นำขึ้นตู้ ตรงนี้จะเป็นจุดที่สำคัญ และจะเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญ ภาคอุตสาหกรรมเองก็จะลดรายจ่ายเรื่องการขนส่ง และยังมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรถบรรทุก ซับเทอร์มินอล โลจิสติกส์
ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็จะต้องมีการวางแผนว่าจะให้บริการประชาชน สร้างบ้านเรือน สร้างที่พักอาศัย ทางโรงพยาบาลเองก็ต้องเตรียมความพร้อมในการให้การรักษาพยาบาลเนื่องจากผู้คนมาอยู่จำนวนมาก ทางไฟฟ้า ประปา ก็ต้องมาวางแผนในอนาคต เพราะว่าการสร้างบ้านสร้างเมืองไม่ได้สร้างได้ภายในวันเดียว เรามีเวลาในการเตรียม ดังนั้นเราจะต้องให้พร้อมเพื่อลดปัญหาของผู้ที่จะได้รับผลกระทบระหว่างการก่อสร้าง
ขอย้ำว่าเราได้ตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดแล้วเพื่อทำการขับเคลื่อน และจะมอบให้ทางอนุกรรมการระดับอำเภอเข้ามาพูดคุยกันว่า จะให้ระดับจังหวัดได้ทำการขับเคลื่อนอย่างไรบ้าง วางแผนในการก่อสร้างในแต่ละส่วนๆ เป็นอย่างไร เช่นถนนมิตรภาพจะต้องขยายหรือไม่ ถนนซอยที่จะเข้ามายังสถานีจะต้องขยายหรือไม่ อย่างไร จะต้องมีจุดยูเทิร์นเกือกม้าอย่างไร ที่พักสำหรับพนักงานต่าง ๆ จะต้องมีการเตรียมพื้นที่ หรือจะต้องปรับในเรื่องผังเมืองก็ต้องทำกัน” นายสมศักดิ์ กล่าว
ด้านนายทรงศักดิ์ ทองไทย ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ขอนแก่น กล่าวว่า “เราจะใช้พื้นที่เฟสแรกก่อนประมาณ 1,000 ไร่ ทั้งหมดใช้ประมาณ 1,800 ไร่ เพราะของเราไม่ใช่ท่าเรือบกขนาดเล็ก แต่จะเป็นท่าเรือบกขนาดกลางถึงใหญ่ คาดว่าจะมีตู้คอนเทนเนอร์ที่จะมาขึ้นลงประมาณ 1,000,000 ตู้ต่อปี ที่อื่นมีประมาณ 200,000 ตู้ต่อปี เพราะฉะนั้นเราต้องเตรียมพื้นที่ไว้รองรับ รวมถึงเครื่องจักรที่ต้องเตรียมออกแบบสำหรับอนาคตด้วย เพราะจะมีสินค้าทางการเกษตรเยอะมาก ไม่นับรวมอุตสาหกรรมที่เรากำลังส่งเสริมให้มีในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นระบบราง หรืออุตสาหกรรมการบิน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่มีมลภาวะ ไม่ใช่น้ำปริมาณมากๆ แต่ใช้เทคโนโลยี นอกจากนั้นท่าเรือบกแห่งนี้ก็จะรองรับสินแร่จากลาวด้วยนะครับ จากท่านาแล้งที่จะส่งไปออสเตรเลียก็ต้องผ่านพิธีการที่เรา ก็จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ของเรา
โดยพื้นที่จังหวัดขอนแก่นเราเองมีศักยภาพ เรามีแหล่งน้ำคือเขื่อนอุบลรัตน์ ลำน้ำพอง เรามีโรงไฟฟ้า ขนาด 700 เมกะวัตต์ และจะมีการลงทุนให้เป็นโรงไฟฟ้าแบบใหม่ล่าสุด ประสิทธิภาพสูง ก็ถือเป็นความมั่นคงของพื้นที่ เรายังมีแก็สธรรมชาติ ก็ถือเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมกับการลงทุน สำหรับพื้นที่ตำบลโนนพะยอมถือว่าเหมาะสม เพราะไม่มีชุมชนขนาดใหญ่ตั้งอยู่ อยู่ไม่ไกลจากถนนมิตรภาพ ไม่มีปัญหาน้ำท่วม นอกจากนั้นยังมีพื้นที่โดยรอบอีกนับหมื่นไร่ที่เอื้ออำนวยต่อท่าเรือบก เพราะเมื่อมีท่าเรือบกแล้วก็จะต้องมีบริษัทโลจิสติกส์ที่จะต้องมาจัดตั้งศูนย์บรรจุตู้ที่นี่ บริษัทเดินเรือก็ต้องมา ก็ยังส่งเสริมให้มีการลงทุนในพื้นที่ได้อีกมากครับ จากที่คาดการณ์ไว้เมื่อมีท่าเรือบกคาดว่าจะมีการสร้างงานในพื้นที่ได้ไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นอัตรา เป็นอุตสาหกรรมสีเขียว มลภาวะจะน้อยมาก ขอนแก่นเราไม่มีนิคมอุตสาหกรรม แต่เราจะมีเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ ซึ่งจะควบคุมดูแลอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาในพื้นที่ไม่ให้เกิดการสร้างมลพิษ” นายทรงศักดิ์ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สนข.ชี้ ท่าเรือบก โคราช-ขอนแก่น สร้างแน่ทั้ง 2 จังหวัด
- พ่อเมืองโคราช!!มั่นใจสู่ในหลักเกณฑ์ตัดสิน ในโครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทพัฒนาท่าเรือบก(Dry Port)
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: