ขอนแก่น – รู้จักพระเณรแห่งวัดป่ามัญจาคีรีที่ช่วยกันดูแลกล้วยไม้ป่าให้ผู้คนชื่นชม เจ้าอาวาสยอมรับกล้วยไม้ลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง ทั้งปัญหาความแห้งแล้งและลักขโมย
เมื่อก้าวย่างเข้ามาในบริเวณวัดป่ามัญจาคีรี อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น เราจะได้กลิ่นหอมของดอกกล้วยไม้ช้างกระ ที่ฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณ ที่นี่ได้รับการยกย่องให้เป็นอุทยานกล้วยไม้ช้างกระเพียงแห่งเดียวในประเทศ ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของ อ.มัญจาคีรี และมีการจัดงานประจำปีของอำเภอเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
จากการสำรวจของอาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเมื่อปี 2546 พบว่า มีต้นไม้ที่กล้วยไม้ช้างกระเกาะเจริญพันธุ์ มีทั้งต้นมะขามและต้นไม้อื่นๆ จำนวน 230 ต้น มีต้นกล้วยไม้ 4,179 ต้น เป็นกล้วยไม้ช้างกระ 4,164 ต้น และกล้วยไม้ชนิดอื่น 15 ต้น แต่ปัจจุบันกล้วยไม้ที่นี่กำลังเผชิญภาวะคุกคามอย่างน่าเป็นห่วง หมายเลขแสดงจำนวนกล้วยไม้ที่ติดอยู่ตามต้นไม้ทั่วบริเวณวัด หลายจุดเหลือเพียงซากกล้วยไม้ที่ค้างอยู่บนต้นเท่านั้น
พระครูกันตะสีลานุยุทธ เจ้าอาวาสวัดป่ามัญจาคีรี วัย 63 พรรษา ซึ่งมาจำวัดที่วัดแห่งนี้ตั้งแต่ปี 2522 เล่าว่า กล้วยไม้ที่นี่มีอยู่เป็นร้อยปีแล้ว ตั้งแต่มาจำวัดที่นี่ก็ได้เห็นกล้วยไม้เหล่านี้ทั่วบริเวณวัด “แต่ตอนนี้กล้วยไม้ในวัดก็มีจำนวนลดลงไปเกือบร้อยละ 50 จาก 4,000 ต้น ตอนนี้ก็มีไม่ถึงแล้ว เพราะถูกขโมยไปมาก ส่วนที่เหลือก็จะเป็นต้นที่อยู่ใกล้กุฏิพระ ก็ใกล้ หูใกล้ตา ดูแลง่าย ก็เคยมี เจ้าหน้าที่ตำรวจมาอยู่เวรที่นี่ ชาวบ้านด้วย แต่ก็รักษาไม่ไหวเหมือนกันเพราะมักจะหายช่วงกลางคืน ช่วงที่กล้วยไม้ใกล้จะออกดอก แต่เดี๋ยวนี้การขโมยก็ห่างไปหน่อย เพราะมันหมดไปมากแล้ว จะเหลือเฉพาะส่วนที่มีพระอยู่”
นอกจากปัญหาการลักขโมย กล้วยไม้ที่นี่ยังต้องพบปัญหาความแห้งแล้งที่ส่งผลให้กล้วยไม้เหี่ยวเฉา ล้มตายไปมาก แต่ละวันพระและเณรในวัดจะมีหน้าที่ช่วยกันรดน้ำดูแลกล้วยไม้ “ถ้าไม่รดมันจะเฉา ใบเหลือง ถ้าใบไม้ไม่ร่วงก็ไม่มีปัญหา ใบไม้มันจะคลุมแสงแดดไว้ เพราะถ้าแดดส่องถึงกล้วยไม้ก็แห้งตาย เราต้องรดน้ำให้โคนมันชุ่มไว้ตลอด ตอนเช้าครั้งหนึ่ง กลางวันก็พ่นน้ำอีกที กว่าจะเสร็จก็ค่ำ เพราะมันหลายต้น โดยเฉพาะทุกวันนี้ที่อากาศร้อนมาก ไม่เฉพาะในหน้าร้อนที่อากาศร้อนจัด ก็ทำให้มันตายเยอะ” เจ้าอาวาสวัดป่ามัญจาคีรี กล่าว
ทั้งหมดนี้คือทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังความงามที่ออกดอกให้นักท่องเที่ยวชื่นชม หากเป็นไปได้ทางวัดก็อยากให้มีการจัดทำระบบพ่นน้ำสร้างความชุ่มชื้น และวางมาตรการป้องกันการลักขโมย เพื่อให้ความงดงามนี้คงอยู่คู่อำเภอมัญจาคีรีไปตลอดกาล
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: