ขอนแก่น – ชื่อชวนหลอน “โสกผีดิบ” ใน อ.พล จ.ขอนแก่น สถานที่ฝังบรรพบุรุษของหมู่บ้าน สวยงาม แปลกตาด้วยภูมิประเทศหินทรายอายุกว่า 65 ล้านปีที่ถูกกัดเซาะ เตรียมผลักดันเป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไป
“โสกผีดิบ” ตั้งอยู่ในพื้นที่ทางตอนเหนือของบ้านหนองบัว ต.โสกนกเต็น อ.พล จ.ขอนแก่น อยู่ในบริเวณ “ป่าโคกคึม” เขตป่าสาธารณะ มีพื้นที่โสกประมาณ 10 ไร่ ห่างจากตัวอำเภอพลประมาณ 13 กิโลเมตร ลักษณะเป็นป่าหินที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มีความสวยงามด้วยลักษณะภูมิประเทศที่เป็นหินทรายที่ถูกกัดเซาะด้วยลมและฝน จนมีรูปร่างแปลกตา คล้ายแพะเมืองผีที่จังหวัดแพร่
ด้านสำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 2 กรมทรัพยากรธรณี ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบแล้วพบว่า โสกผีดิบ ประกอบไปด้วยหินตะกอนของหินทรายเนื้อละเอียด หินทรายแป้ง และกลุ่มหินโคลนของกลุ่มหินโคราช หมวดหินภูทอก มีอายุทางธรณีวิทยาในช่วงยุคครีเทเซียสถึงเทอร์เชียรี่ตอนต้น คือ 65.5 ล้านปีก่อน วางตัวเอียงเทเล็กน้อยไปทางทิศเหนือ แสดงลักษณะโครงสร้างทางตะกอนวิทยาแบบชั้นเฉียงระดับ มีลักษณะทางธรณีสัณฐานที่เกิดจาก การผุพัง และ การกร่อน เกิดเป็นหินรูปร่างแปลกตามากมาย มีลักษณะคล้ายลานหินตะปุ่มตะป่ำ และแท่งเสาหิน ที่มีความสวยงามตามธรรมชาติ
ทั้งนี้ในภาษาอิสานคำว่า “โสก” หมายถึง บริเวณที่เกิดการกัดเซาะจากกระแสน้ำ จนกลายเป็นโสกหรือโตรกธารน้ำไหล มีตำนานของหมู่บ้านที่เล่าไว้ว่า ราวปีพุทธศักราช 2488 บ้านโสกนกเต็นเกิดโรคฝีดาษระบาด ทำให้ผู้คนล้มตายเกือบทั้งหมู่บ้าน จนชาวบ้านทำพิธีไม่ทัน จึงพากันเอาศพมาทิ้งลงในร่องโสกของป่าโคกคึม
จากนั้นจึงพากันอพยพผู้คนไปสร้างบ้านเรือนใหม่ (ซึ่งคือที่ตั้งของบ้านโสกนกเต็นในปัจจุบัน) ทิ้งให้โสกแห่งนี้กลายเป็นสถานที่ที่มีวิญญาณของบรรพบุรุษสิงสถิตย์อยู่และไม่มีผู้ใดกล้าย่างกรายเข้าใกล้บริเวณป่าโคกคึม ต่อมาขุนหาญซึ่งเป็นผู้นำในการก่อตั้งหมู่บ้านโสกนกเต็นได้เสียชีวิตลง ชาวบ้านจึงสร้างศาลเพื่อบูชาและเป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจไว้ในป่าโคกคึมแห่งนี้ และพากันขนานนามสถานที่แห่งนี้ว่า “โสกผีดิบ” ซึ่งถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ และมีประเพณีสงกู่ โสกผีดิบ ในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี ทั้งนี้ทางอำเภอพลกำลังเตรียมผลักดันให้พื้นที่บริเวณนี้เป็น แหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยาแห่งใหม่ต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: