ขอนแก่น – บิ๊ก ป.ป.ท.ลงพื้นที่ฟังข้อเท็จจริง พบข้อมูล ผอ.และ จนท.ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ปลอมเอกสารเงินสงเคราะห์ 6.9 ล้าน ด้านเครือข่ายต่อต้านคอรัปชั่นเตรียมมอบเกียรติบัตรเชิดชูนักศึกษาผู้กล้า
กรณีทุจริตเงินช่วยเหลือผู้ยากไร้ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจทางสื่อมวลชน หลัง น.ส.ปนิดา ยศปัญญา อายุ 22 ปี นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ออกมาร้องเรียนว่า ระหว่างฝึกงานที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น ได้ถูกเจ้าหน้าที่ให้ปลอมลายมือชื่อชาวบ้าน เพื่อเบิกจ่ายเงินโครงการฯ และลงลายมือชื่อในใบเสร็จรับเงิน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มรายได้ไม่เพียงพอต่อการครองชีพ จำนวนรายละ 2,000 บาท เงินสงเคราะห์ผู้ติดเชื้อเอดส์ จำนวนรายละ 2,000 บาท และทุนประกอบอาชีพต่อผู้มีรายได้น้อย จำนวนรายละ 3,000 บาท ซึ่งพบว่า มีไม่ต่ำกว่า 2 พันคน รวมเป็นเงินประมาณ 6.9 ล้านบาท โดยมีนักศึกษาฝึกงานถูกสั่งให้ทำเช่นเดียวกันนี้หลายราย ซึ่งเป็นการกระทำที่เข้าข่ายการทุจริตของเจ้าหน้าที่ จนนำมาสู่การลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ข่าวน่าสนใจ:
- ททท. จัดงานใหญ่ "วิจิตรเจ้าพระยา 2024" สวยงามตระการตา กระตุ้นการท่องเที่ยวส่งท้ายปีนี้
- "รัฐสภา" ร่วมสนับสนุนการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เรื่อง รามเกียรติ์ ตอน “พระจักราวตาร”
- นราธิวาส-สุดทน! พ่อค้าแม่ค้าร้อง ส.ส.นำเรื่องเข้าสภาฯ หลัง "บอสตลาดเก็นติ้ง" จัดหนัก! ปรับราคาเช่า-ต่อสัญญาสูงลิ่ว
- "ทีเส็บ" และภาคีเครือข่าย ชวนคนไทยร่วมพลิกฟื้นเศรษฐกิจเชียงรายหลังวิกฤตน้ำท่วม
ล่าสุด พันตำรวจโท วันนพ จินตนกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ท. พร้อมคณะได้ลงพื้นที่ รพ.สต.เขาน้อย อำเภอ ภูเวียง จังหวัดขอนแก่น เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีมีการนำรายชื่อชาวบ้าน เอกสารบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านไปเบิกเงินโครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนไร้ที่พึ่งและคนขอทานหรือเงินช่วยเหลือผู้ยากไร้ ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จังหวัดขอนแก่น ด้านผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ท.กล่าวว่า จากการสอบถามชาวบ้านที่มีรายชื่อในเอกสารซึ่งส่วนใหญ่เป็น อสม. ยืนยันว่า ไม่ได้รับเงินตามโครงการแต่อย่างใด แต่ยอมรับว่าได้มอบเอกสารให้แก่เจ้าหน้าที่ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จังหวัดขอนแก่น โดยเจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่า ใช้ประกอบเอกสารเบิกเงินค่าดูแลผู้ป่วยเดือนละ 100 บาท เป็นเวลา 6 เดือน เป็นงบโครงการดูแลผู้ป่วยโรคจิต ไม่ใช่เงินของโครงการช่วยเหลือผู้ยากไร้
จากนั้นคณะได้ลงพื้นที่ตรวจสอบที่บ้านเขื่อน หมู่ที่ 3 ต.บ้านเหล่า อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น เพื่อขอข้อมูลและข้อเท็จจริงจากชาวบ้านกลุ่มอาชีพประดิษฐ์วัสดุจากผ้า มีสมาชิกจำนวน 30 คน ซึ่งเป็นชาวบ้านอีกหนึ่งกลุ่มที่อ้างว่า ถูกศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น ทุจริตเงินสนับสนับสนุน โดยนางสาวดวงฤดี สมวงษา อายุ 51 ปี ประธานกลุ่มอาชีพประดิษฐ์วัสดุจากผ้า กล่าวว่า ตนและชาวบ้านได้รวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มอาชีพประดิษฐ์วัสดุจากผ้าขึ้นในปี 2545 เพื่อเป็นแหล่งสร้างอาชีพและรายได้ให้กับชุมชน กระทั่งปี 2559 มีเจ้าหน้าที่ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จังหวัดขอนแก่น เข้ามาในชุมชนโดยแจ้งว่าจะมีเงินสนับสนุนในการพัฒนาอาชีพให้กับทางกลุ่มฯ โดยให้กลุ่มอาชีพฯ เขียนโครงการไปยังศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น ทางกลุ่มอาชีพฯ จึงได้จัดประชุมและส่งโครงการประดิษฐ์วัสดุจากผ้าที่มีอยู่ไปให้ จากนั้นเพียง 1 สัปดาห์ เจ้าหน้าที่ของศูนย์ คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จังหวัดขอนแก่น จำนวน 3 คนได้นำเงินมามอบให้ รวม 30,000 บาทเมื่อวันที่ 15 พ.ย.59 เพื่อเป็นเงินสนับสนุนในการพัฒนาอาชีพ ซึ่งตอนนั้นตนก็แปลกใจว่า เหตุใดการอนุมัติงบประมาณจึงทำได้อย่างรวดเร็ว ใช้เวลาเพียง 7 วันเท่านั้น
ด้านนางโสภา จอมคำสิงห์ อายุ 51 ปี หนึ่งในสมาชิกกลุ่มอาชีพประดิษฐ์วัสดุจากผ้า กล่าวว่า ในวันที่ เจ้าหน้าที่ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จังหวัดขอนแก่น นำเงินมามอบให้ ยอมรับว่า ดีใจมากที่หน่วยงานภาครัฐให้ความสำคัญกับชาวบ้าน ด้วยการสนับสนุนงบประมาณเพื่อใช้ในการพัฒนาอาชีพในชุมชนซึ่งตนก็เข้าใจมาโดยตลอดว่าการดำเนินการของหน่วยงานที่นำเงินมามอบให้เป็นไปด้วยความสุจริตและโปร่งใส กระทั่งมาทราบในภายหลัง หลังจากที่มีการร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จังหวัดขอนแก่น ทุจริตด้วยการปลอมแปลงเองสาร เงินสนับสนุนที่ทางศูนย์คุ้มครองฯ นำมามอบให้นั้น ไม่เต็มจำนวนตามที่เอกสารการเบิกจ่ายที่จะได้รับจริง คือ จำนวน 90,000 บาท แต่ทางกลุ่มกลับได้รับมาเพียง 30,000 บาทเท่านั้น ส่วนเงินที่เหลืออีก 60,000 บาท ไม่ทราบว่าทางศูนย์คุ้มครองฯ ดำเนินการอย่างไร ซึ่งตนมองว่า หากเงินจำนวนดังกล่าวถูกจัดสรรมายังกลุ่มอาชีพตามความเป็นจริง ป่านนี้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของสมาชิกจะสามารถพัฒนาและต่อยอดไปได้มากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม อยากให้ทางเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบและเอาผิดกับ เจ้าหน้าที่ที่ทุจริตอย่างถึงที่สุด ซึ่งเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.ได้ให้สมาชิกกลุ่มฯ แต่ละคนให้ข้อมูลเป็นรายบุคคล เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการเตรียมเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้อง
ด้านผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ท. ให้สัมภาษณ์ว่า ทาง ป.ป.ท.ได้มีการรวบรวมหลักฐานมาระยะหนึ่งแล้ว เชื่อว่าน่าจะมีการทุจริตจริง โดยภายในอาทิตย์หน้านี้จะเสนอเรื่องไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ท. เพื่อแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไป จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า มีเจ้าหน้าที่ภาครัฐในระดับสั่งการและระดับปฏิบัติการมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ 4-5 ราย ซึ่งจะต้องตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง
ด้านนายเข็มชาติ สมใจวงษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า กรณีของนางสาวปนิดาและครอบครัว ถือเป็นเรื่องที่น่ายกย่องที่กล้าออกมาเปิดเผยความจริง หอการค้าจังหวัดขอนแก่นในฐานะที่เป็นองค์กรภาคเอกชนที่มีภารกิจต่อต้านการคอรัปชั่นจึงเห็นควรให้การยกย่อง เชิดชูนักศึกษาสาวผู้กล้า รวมทั้งครอบครัว เพื่อเป็นกำลังใจให้น้องกล้าออกมาเปิดเผยความจริง ต่อต้านในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นการกระทำที่ดี เป็นแบบอย่างแก่เยาวชน โดยในวันที่ 20 ก.พ.นี้ หอการค้า และพันธมิตร 8 องค์กรเศรษฐกิจจังหวัดขอนแก่นจะมีการมอบเกียรติบัตรส่งเสริมคนทำความดีแก่นางสาวปนิดาและครอบครัวที่เป็นผู้ที่เป็นกำลังใจสำคัญให้น้องกล้าที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง
“เราอยากชื่นชมคนทำความดี คนที่กล้าทำในสิ่งที่คนอื่นไม่กล้า กล้าเปิดเผยเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ผู้ใหญ่เองหลายคนยังไม่กล้า และเมื่อเด็กสาวคนหนึ่งกล้าออกมาทำแบบนี้ เราไม่ควรมองข้ามแต่ต้องร่วมกันเป็นกำลังใจ การต่อต้านคอรัปชั่นต้องไม่ทำแค่การประชาสัมพันธ์ปีละครั้ง ปีละวันเท่านั้น ในเมื่อมีเคสเกิดขึ้นจริง ต้องออกมาให้กำลังใจกัน การคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นจะถูกตรวจสอบและค่อยๆ หายไป ถ้าทุกคนเอาจริง” ประธานหอการค้า จ.ขอนแก่น กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: