คณะเกษตรศาสตร์ มข. จับมือภาคเอกชนทดลองเลี้ยงแมลงในระดับอุตสาหกรรมครั้งแรกของประเทศ เพื่อย่อยสลายขยะและต่อยอดเชิงพาณิชย์อื่นๆ
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในพิธีเปิดโรงเรือนต้นแบบวิจัยและผลิตแมลงอุตสาหกรรม ณ หมวดแมลงอุตสาหกรรม คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยความร่วมมือของคณะเกษตรศาสตร์ และภาคเอกชนในเครือเบทาโกร ร่วมสนับสนุนการก่อสร้างโรงเรือนต้นแบบวิจัยและผลิตแมลงอุตสาหกรรมนี้
ทั้งนี้ในปัจจุบันมีความสนใจและมีการศึกษาการใช้ประโยชน์จากแมลงอย่างแพร่หลาย เช่น การนำมาใช้กำจัดขยะอินทรีย์ การนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ อาหารสำหรับมนุษย์ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากสารที่ผลิตได้จากแมลงในอุตสาหกรรม เช่น เวชสำอาง และอื่นๆ เป็นต้น
จากศักยภาพของแมลงในเชิงอุตสาหกรรม เครือเบทาโกรจึงเริ่มทำการศึกษาวิจัยเรื่องแมลงร่วมกับสาขาวิชากีฏวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มาตั้งแต่ปี 2560 ต่อมาในปี 2561 จึงได้ร่วมทุนกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นก่อสร้างโรงเรือนต้นแบบวิจัยและผลิตแมลงอุตสาหกรรม แล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2562 เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัยด้านแมลง และการนำแมลงมาใช้ให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์ในอุตสาหกรรมการผลิตปศุสัตว์ในอนาคต
ด้านศาสตราจารย์ ดร. ยุพา หาญบุญทรง หัวหน้าสาขากีฏวิทยาและโรคพืช และหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า โรงเรือนต้นแบบวิจัยและผลิตแมลงอุตสาหกรรมเกิดจากองค์ความรู้ในการวิจัยแมลงกินขยะอินทรีย์ของคณะเกษตรศาสตร์ ม.ขอนแก่น หลักสูตรสาขาวิชากีฏวิทยา มีการศึกษาและดำเนินงานวิจัยในด้านเกี่ยวกับแมลงศัตรูพืชและแมลงมีประโยชน์เป็นเวลากว่า 50 ปี โดยเฉพาะการเป็นผู้ริเริ่มและมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการใช้แมลงเป็นแหล่งโปรตีนทั้งของคนและสัตว์
รวมทั้งการขจัดขยะอินทรีย์ ด้วยการใช้แมลงกินขยะอินทรีย์ หรือ Black soldier fly หรือ แมลงวันลาย ซึ่งเป็นแมลงไม่นำโรค ไม่เป็นศัตรูพืช มีประโยชน์ อาทิ ใช้ขจัดขยะอินทรีย์ เป็นอาหารเสริมโปรตีนของสัตว์ มีไขมันที่ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางค์ และเป็นสารยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์
ต่อมาได้เกิดความร่วมมือทางวิชาการและร่วมลงทุนระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้กองทุนเพื่อสนับสนุนการลงทุนเชิงพาณิชย์ กับ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ในการจัดตั้งโรงเรือนต้นแบบวิจัยและผลิตแมลงอุตสาหกรรมหลังนี้ ซึ่งกิจกรรมหลักของโรงเรือนต้นแบบ ประกอบด้วย
1. การผลิตแมลงกินขยะอินทรีย์ในเชิงพาณิชย์
2. การวิจัยแมลงกินขยะสำหรับการขจัดขยะอินทรีย์และหาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าและนำไปใช้ประโยชน์
ขณะนี้ทางโรงเรือนต้นแบบสามารถผลิตหนอนชนิดนี้ได้ประมาณ 1 แสนตัวต่อวัน หรือประมาณเดือนละ 3 ล้านตัว
“แมลงชนิดนี้มีวงจรชีวิตประมาณ 1 เดือนเท่านั้น ขอเน้นว่า เป็นแมลงที่ไม่นำโรค ไม่เป็นแมลงศัตรูพืช ในธรรมชาติก็มีอยู่แล้ว หน้าที่ของเขาคือ กินขยะทุกชนิดที่เป็นชีวภาพ ในต่างประเทศมีการใช้อยู่แล้ว แต่ในเมืองไทยไม่ค่อยมีคนรู้จัก ทางคณะเราจึงได้มาทำตรงจุดนี้เป็นต้นแบบ และนอกจากนั้นเราสามารถส่งเสริมให้เลี้ยงตามบ้านเรือนหรือตลาดสดได้ สำหรับบ้านที่มีขยะขอให้แยกขยะหน่อย เอาแต่ขยะอินทรีย์แล้วเอาแมลงไปเลี้ยง มันก็จะกินจนได้ปุ๋ยใช้เวลาประมาณ 2 อาทิตย์ ก่อนที่มันจะกลายเป็นดักแด้และตัวเต็มวัย และบินกลับสู่ธรรมชาติ” ศาสตราจารย์ ดร. ยุพา กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ปทุมธานี ร้อง อบต.นำขยะมาทิ้งใกล้ชุมชน ทำชาวบ้านกว่า 400 ครัวเรือนเดือดร้อน
- เทศบาลกระบี่ เปิดเวทีรับฟังความคิดชุมชนรอบศูนย์กำจัดขยะแบบฝังกลบ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: