ค้นพบไดโนเสาร์กินเนื้อชนิดใหม่ของโลกตระกูลแรปเตอร์ และเป็นตัวที่ 10 ของไทย “Phuwiangvenator Yaemniyomi” ขณะที่ทางจังหวัดพร้อมผลักดันเป็น “ขอนแก่นจีโอปาร์ค”
นับตั้งแต่การค้นพบกระดูกไดโนเสาร์ชิ้นแรกของประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2519 ส่งผลให้แวดวงธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยาตื่นตัวครั้งใหญ่ จากวันนั้นถึงวันนี้ประเทศไทยมีการค้นพบไดโนเสาร์หลากหลายชนิด เป็นไดโนเสาร์ชนิดใหม่ สกุลใหม่ของโลกถึง 9 ชนิด ล่าสุด นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบอนน์ ประเทศเยอรมนี และพิพิธภัณฑ์สิรินธรได้ตีพิมพ์การค้นพบไดโนเสาร์กินเนื้อสกุล/ชนิดใหม่ของโลก จากหมวดหินเสาขัว อายุ 130 ล้านปี นั่นคือ ภูเวียงเวนาเตอร์ แย้มนิยมมิ (Phuwiangvenator yaemniyomi) และ วายุแร็พเตอร์ หนองบัวลำภูเอนซิส (Vayuraptor nongbualamphuensis)
ภูเวียงเวนาเตอร์ เป็นไดโนเสาร์เทอโรพอดขนาดกลาง มีขนาดความยาวประมาณ 6 เมตร ค้นพบที่หลุมขุดค้นที่ 9B อุทยานแห่งชาติภูเวียง จ.ขอนแก่น ได้รับการตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่คุณสุธรรม แย้มนิยม อดีตข้าราชการกรมทรัพยากรธรณี ผู้ค้นพบกระดูกไดโนเสาร์ชิ้นแรกของประเทศไทย ที่อุทยานแห่งชาติภูเวียงเมื่อสี่สิบกว่าปีก่อน อันนำมาสู่การศึกษาวิจัยไดโนเสาร์ในประเทศไทยในเวลาต่อมา
“ภูเวียงเวเนเตอร์ แย้มนิยมมิ” เป็นไดโนเสาร์กินเนื้อที่มีลักษณะที่แตกต่างไปจากที่เคยค้นพบมาก่อน มีขนาดลำตัวยาวประมาณ 6 เมตร ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Megaraptora และคาดว่ามีลักษณะทั่วไปคล้ายกับไดโนเสาร์ตัวอื่นๆในกลุ่มเมกะแรพเตอร่า หรือ ที.เร็กซ์ เช่น Fukuiraptor จากญี่ปุ่น คือ มีขาหน้าและขาหลังที่ยาวบ่งบอกถึงการวิ่งเร็ว มีกรงเล็บใหญ่ กะโหลกเรียวกว่าในไดโนเสาร์กินเนื้อทั่วไป กระดูกฝ่าเท้ายาว หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นไดโนเสาร์ตระกูลแรปเตอร์ขนาดใหญ่ มีนิ้วมือ (ขาหน้า) ข้างละ 3 นิ้ว ต่างจากที เร็กซ์ ซึ่งมีนิ้วเพียง 2 นิ้วเท่านั้น
ในการขุดค้นได้พบซากดึกดำบรรพ์ชิ้นส่วนต่าง ๆ ประกอบด้วย กระดูกสันหลัง กระดูกฝ่ามือ กรงเล็บหน้า กระดูกฝ่าเท้าและเล็บ กระดูกหน้าแข้ง กระดูกหัวเข่า ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันความสมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิตยุคดึกดำบรรพ์ในพื้นที่ อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น และเคยมีการค้นพบไดโนเสาร์ชนิดต่างๆ มาก่อนหน้านี้ถึง 4 ชนิด และเป็นพื้นที่ที่ทางจังหวัดกำลังผลักดันเพื่อจัดตั้ง “ขอนแก่นจีโอปาร์ค” หรืออุทยานธรณีโลกแห่งที่ 2 ของไทย โดยเตรียมจะยื่นสมัครโครงการอุทยานธรณีโลกกับองค์การยูเนสโก้ ในวันที่ 30 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ และคาดว่าจะสามารถประกาศเป็นยูเนสโก้ โกลบอล จีโอพาร์ค ได้ประมาณเดือนเมษายน 2563
ส่วน “วายุแร็พเตอร์” เป็นไดโนเสาร์เทอโรพอดขนาดกลาง ค้นพบที่ภูวัด จ.หนองบัวลำภู มีขนาดความยาวประมาณ 4-4.5 เมตร มีรูปร่างและขนาดคล้ายไดโนเสาร์ฟูกิอิแร็พเตอร์ (Fukuiraptor) ค้นพบชิ้นส่วนของกระดูกจะงอยบ่า ชิ้นส่วนกระดูกซี่โครง กระดูกหน้าแข้ง กระดูกหัวเข่า และกระดูกข้อเท้า วายุแร็พเตอร์ถูกจัดเป็นซีลูโลซอร์ดั้งเดิม (basal coelurosaur) ซึ่งอาจจะใกล้ชิดกับกลุ่มเมกะแรพโทรา แต่ ณ ตอนนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ เนื่องจากพบชิ้นตัวอย่างน้อยจึงจำเป็นต้องรอการศึกษาและขุดค้นต่อไปในอนาคต
การค้นพบไดโนเสาร์กินเนื้อชนิดใหม่ทั้งสองชนิดนี้ช่วยให้เราได้เห็นถึงความหลากหลายของไดโนเสาร์กินเนื้อในแผ่นดินอีสาน เมื่อประมาณ 130 ล้านปีก่อน รวมทั้งได้เห็นการกระจายพันธุ์ของไดโนเสาร์เทอโรพอด พวกซีลูโลซอร์ในทวีปเอเชีย อาจพูดได้ว่า ภูเวียงเวนาเตอร์ และ วายุแร็พเตอร์ เป็นญาติห่าง ๆ กับไดโนเสาร์กลุ่มไทแรนโนซอร์ (หรือ ที.เร็กซ์ นั่นเอง)
ป.ล. หมวดหินเสาขัว เป็นหมวดหินหนึ่งในกลุ่มหินโคราช ประกอบด้วยหินทรายสีแดง หินทรายแป้ง หินโคลน หินกรวดมน ก่อนหน้านี้ได้มีการค้นพบไดโนเสาร์เทอโรพอดในหมวดหินเสาขัวมาตั้งแต่เริ่มการขุดค้นในแหล่งภูเวียง จ.ขอนแก่น ได้แก่ ไดโนเสาร์สไปโนซอร์ “สยามโมซอรัส” ไดโนเสาร์ “สยามโมไทแรนนัส” ไดโนเสาร์คล้ายนกกระจอกเทศ “กินรีไมมัส” และ ไดโนเสาร์คาร์คาโรดอนโตซอริด
ข้อมูล : FB สาระบรรพชีวิน, Khon Kaen Geopark ขอนแก่นจีโอปาร์ค อาณาจักรไดโนเสาร์แห่งหุบเขาภูเวียง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ของไทย
- กรมทรัพยากรธรณีพบสุสานไดโนเสาร์ในบริเวณอ่างเก็บน้ำพระปรง จ.สระแก้ว
- วันเด็กปีนี้พาลูกตะลุยโลกไดโนเสาร์ที่พิพิธภัณฑ์สิรินธร
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: