ขอนแก่น – มหาวิทยาลัยขอนแก่นเชิญผู้เกี่ยวข้องร่วมหารือ ทบทวนการทำเหมืองโปแตชในภาคอิสาน โดยวางเป้า “การพัฒนา” และ “สิ่งแวดล้อม” ต้องไปด้วยกัน
ตลอดระยะเวลา 16 ปีของการต่อต้านการทำเหมืองโปแตชในภาคอิสาน เรื่องนี้ถือเป็นมหากาพย์ความขัดแย้งที่ยาวนานอีกเรื่องหนึ่ง แต่ ณ วันนี้ที่โลกของเราได้เปลี่ยนไปจากเมื่อ 16 ปีก่อนอย่างเห็นได้ชัด จึงถึงเวลาที่ประเด็นความขัดแย้งเดิมๆ จะได้รับการทบทวนกันอีกครั้งว่า การดูแลสิ่งแวดล้อมมีวิธีการที่ดีขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ พฤติกรรมของผู้ประกอบการเปลี่ยนไปอย่างไร หรือกลไกของภาครัฐที่มีอยู่เหมาะสมหรือไม่ อย่างไร
การประชุม “ร่วมคิดใหม่ : แร่โปแตช โอกาสเหมืองปิโตรเคมีของอิสานจริงหรือ?” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 ก.พ.61 ที่ห้องประชุมภาควิชาธรณีวิทยา คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยเชิญผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นักวิชาการเหมืองแร่ ผู้ประกอบการบริษัทเหมืองโปแตชจากในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ อุดรธานี และ สกลนคร ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 5 ขอนแก่น ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 3 ขอนแก่น (BOI) สภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ขอนแก่น สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว จ.ขอนแก่น เป็นต้น
ข่าวน่าสนใจ:
- รวบหนุ่มแสบลักทรัพย์โรงเรียนดัง จ.ขอนแก่น
- ขอนแก่น เอาจริงลุยปราบปรามผู้ค้ายาเสพติด ในพื้นที่อำเภอเมืองขอนแก่น ได้ผู้ต้องหา 4 ราย หลังชาวบ้านแจ้งเบาะแส
- ขอนแก่นจัดงานแถลงข่าว เทศกาลสุดออนซอนแห่งปี! “PlaraMorlum” Isan to the World ระหว่างวันที่ 26-29 ธันวาคม 2567 ณ ขอนแก่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์
- นายอำเภอกระนวน จ.ขอนแก่น นำทีมฝ่ายปกครองบุกจับแก็งยาบ้า ขยายผลยึดยาบ้า 600 เม็ด
งานนี้เกิดขึ้นโดยความร่วมมือของหอการค้าจังหวัดขอนแก่น และ นักวิชาการจากคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มองว่า ภาคอิสานอุดมด้วยแร่โปแตชคุณภาพดีจำนวนมาก หากสามารถนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับคนในท้องถิ่นได้อีกมาก หอการค้าจังหวัดขอนแก่น และ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้อาสาเป็นเวทีจัดประชุมเพื่อหารือและทบทวนการดำเนินงานเหมืองโปแตชที่มีปัญหายืดเยื้อมานานกว่าสิบปี
เข็มชาติ สมใจวงษ์ ประธานหอการค้า จ.ขอนแก่น กล่าวว่า “เราอยากจะให้เหมืองโปแตชเกิดขึ้นในภาคอิสานในจุดที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นอุดรธานี ชัยภูมิ สกลนคร หรือที่ไหนก็แล้วแต่ ที่มีความพร้อมด้านปริมาณสำรอง สภาพการใช้พื้นที่ หรือ การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม จะเป็นที่ไหนก็แล้วแต่ ขอให้เกิดในภาคอิสานเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ ที่อาจจะเพิ่ม GDP ของภาคให้สูงขึ้นจากการใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่เรามีอย่างคุ้มค่า ที่ผ่านมาเหมือนเราเป็นเด็กกลัวผีเพราะถูกขู่ กลัวในสิ่งที่ไม่รู้จริง เราจึงต้องการให้มีการพูดคุย ทบทวนเรื่องนี้อย่างจริงจังว่า เหมืองโปแตชน่ากลัวจริงหรือไม่ ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันเราสามารถดูแลควบคุมมลพิษที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ถือเป็นเป้าหมายของการพูดคุยครั้งนี้ ซึ่งอาจจะต้องมีการหารือร่วมกันอีกหลายครั้ง”
อย่างที่ทราบคร่าวๆ คือ การนำโปแตชไปสกัดให้ได้เป็นโพแทสเซียมในการผลิตปุ๋ย แต่แท้ที่จริงโปแตชจะมีมูลค่าเพิ่มกว่านั้นอีกมหาศาลด้วยการเป็นสารนำเข้าของการทำปุ๋ย
ผศ.พัชร์สุ วรรณขาว หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีธรณี คณะเทคโนโลยีธรณี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้ความเห็นว่า ตัวโปแตชเป็นปุ๋ย แล้วยังนำไปทำอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้ พื้นฐานของเราคืออุตสาหกรรมการเกษตร ทำอย่างไรเราจึงจะเพิ่มมูลค่าของอุตสาหกรรมการเกษตรของเราได้ ก็อยู่ที่โปแตชใต้แผ่นดินอิสานเรานี่เอง ถ้าเราอยากเป็นครัวโลก แต่ถ้าเรื่องนี้ไม่จบ เราก็เป็นไม่ได้ เพราะเราจะมีค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยจากต่างประเทศอย่างมหาศาล ดังนั้น เราจะไม่จำกัดแค่ปุ๋ยแต่จะต้องเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากปุ๋ย
“โปแตช” วาทกรรมแห่งความกลัว
เมื่อโปแตชจะก่อให้เกิดมูลค่ามหาศาลทั้งต่อภาคอิสานและประเทศไทย แต่การจะขุดขึ้นมาใช้กลับไม่ง่ายอย่างที่คิด ดังมุมมองจากผู้ประกอบบริษัทเหมืองโปแตชจาก จ.อุดรธานี และ ชัยภูมิ
เทวัญ ศรีสุวิภา บริษัท Asia Pacific Potash Corporation จำกัด (APPC) จ.อุดรธานี “วิธีการนำโปแตชขึ้นมาใช้วิธีการทางภายภาพ ไม่มีกระบวนการทางเคมีเลย เกลือโปแตชถือเป็นธาตุหลักของโลกมีปริมาณสำรองมากเป็นอันดับ 8 ของโลก มีจำนวนมากในภาคอิสาน สามารถนำไปเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอื่นๆ อีกมาก ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีวัตถุดิบที่ครบสำหรับการผลิตปุ๋ย แต่ที่ผ่านมาเราติดกับดักเรื่องของความรู้ที่ไม่เท่ากัน โปแตชกลายเป็นเรื่องน่ากลัว วาทกรรมนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปิโตรเลียม ถ่านหิน จนมาถึงโปแตชก็ถูกรวมเข้าไปด้วย กลายเป็นวาทกรรมสำเร็จรูป”
อภิชาติ สายะสิญจน์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานโครงการ บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) “เหมืองโปแตชถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย จึงต้องการการให้ความรู้แก่ประชาชนให้มากว่าคืออะไร มีมลพิษไหม ตลอดสิบกว่าปีมานี้ ผู้ประกอบการต้องพบคำถามที่เต็มไปด้วยความไม่รู้ หรือการคิดเดาเอาเองว่า มีพิษไหม หายใจเข้าไปจะอันตรายไหม ทั้งที่คนถามก็จับโปแตชหว่านใส่นาข้าวของตัวเองอยู่ทุกวัน แต่เมื่อชาวบ้านเกิดคำถามแล้ว แต่ไม่มีผู้ให้คำตอบ ที่ผ่านมาคือ ผู้ประกอบการต้องพยายามอธิบายชาวบ้านด้วยตนเอง หากสามารถอธิบายชาวบ้านได้ ไม่มีข้อขัดข้องในพื้นที่ การพิจารณาใบอนุญาตของเราก็จะผ่านไปได้ ไม่เช่นนั้นปัญหาในพื้นที่ก็จะส่งผลต่อการขอใบอนุญาตของบริษัทเช่นกัน ในส่วนผู้ประกอบการในอดีตเองก็ยอมรับว่าเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดความไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับขึ้น เพราะความไม่รับผิดชอบ ความเอาใจใส่ต่อชุมชน แตกต่างจากปัจจุบัน ในส่วนตนมองว่า เรื่องเหมืองแร่ใต้ดิน เป็นเรื่องใหม่ที่กฎหมายตามไม่ทัน มีการแก้ไข ปรับปรุงกฎหมายในหลายๆ ด้าน เมื่อมองกลับไปทางชาวบ้าน เขาก็กลัว เพราะเป็นสิ่งที่เขาไม่ทราบ ถ้ามีเหมืองแล้ว มันจะถล่มไหม”
ธัญญพัฒน์ หวังวงศ์สิริ บริษัท ไชน่าหมิงต๋า โปแตช จำกัด จ.สกลนคร “ปัญหาเรื่องมวลชนเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับเรา เรื่องความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนกับความจริง เป็นปัญหาใหญ่สำหรับผู้ประกอบการในการทำงานในพื้นที่ แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นอีกคือ ความไม่ชัดเจนจากหน่วยงานของรัฐ เมื่อภาครัฐเห็นว่า อุตสาหกรรมโปแตชเป็นเรื่องดี มีประโยชน์ต่อภาพรวมของประเทศ แต่กลับไม่อธิบายเรื่องนี้ให้ประชาชนรับทราบ”
คำถามจากนักสิ่งแวดล้อม
ประเด็นของสิ่งแวดล้อมในเรื่องการทำเหมืองโปแตชที่ถูกถามมากที่สุด ได้แก่ หางแร่ ที่ได้จากอุตสาหกรรมโปแตชจะมีวิธีเก็บอย่างไรไม่ให้รั่วไหลปนเปื้อนในส่งแวดล้อม การใช้น้ำในอุตสาหกรรมโปแตชจะมีปัญหาแย่งใช้น้ำจากชาวบ้านหรือไม่ และสุดท้ายคือเรื่อง ปัญหาดินถล่ม
แต่ละประเด็นมีคำอธิบายว่า ในส่วนของเกลือที่แยกออกมาที่เรียกว่า หางแร่ จะเก็บไว้ในบ่อที่เตรียมไว้ กรุด้วยวัสดุกันซึม สามารถตรวจสอบการรั่วไหลได้ ต่อมาจะนำไปถมกลับเพื่อเสริมความแข็งแรงในเหมือง แต่ในอนาคตสามารถนำไปเป็นวัสดุตั้งต้นของอุตสาหกรรมที่จะใช้เกลือได้ต่อไป
เรื่องน้ำ ซึ่งเป็นประเด็นมาโดยตลอด ทางผู้ประกอบการได้วางแผนขุดบ่อสำรองน้ำความจุ 1.3 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอในการเลี้ยงตัวเองได้ประมาณ 4 เดือน ปีที่ผ่านมามีการใช้น้ำจากเขื่อนหรือหนองน้ำสาธารณะที่เหลือจากการใช้ในภาคเกษตรภายใต้การบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน ช่วงหน้าแล้งที่น้ำน้อยทางบริษัทก็มีแผนปิดโรงงานเพื่อการบำรุงรักษา ซึ่งเป็นสิ่งที่จะทำให้โรงงานอยู่ร่วมกับคนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน”
ส่วนปัญหาดินถล่มมีคำอธิบายว่า แต่ละพื้นที่ แต่ละโรงงานอาจใช้วิธีการที่แตกต่างกัน แต่โดยทั่วไปการทำเหมืองจะขุดลงไปเป็นห้องและมีกำแพงค้ำยันเพื่อป้องกันการถล่ม ส่วนด้านบนอาจเกิดการทรุดตัวของดินในแนวราบประมาณ 40 ซม.
นอกจากนี้ในส่วนของภาครัฐมีกลไกดูแลสิ่งแวดล้อมอยู่แล้วคือ EIA และ EHIA ซึ่งผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามเกณฑ์นี้ทุกคน ซึ่งเป็นกลไกที่รับประกันความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดในขณะนี้
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: