ฝนน้อยแม่น้ำชีแห้งขอด สำนักงานชลประทานที่ 6 เร่งระบายน้ำเพิ่ม พร้อมรณรงค์ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ
นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 กล่าวว่า ตามที่กรมชลประทานได้สั่งการให้โครงการชลประทานทั่วประเทศให้การช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ที่มีแนวโน้มหรือกำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างเร่งด่วน ในส่วนของสำนักงานชลประทานที่ 6 ขณะนี้ได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำช่วยเหลือภัยแล้งในพื้นที่ จ.ขอนแก่น จำนวน 6 เครื่อง จัดส่งเครื่องสูบน้ำไปช่วยสูบน้ำเพื่อเติมแหล่งน้ำดิบของการประปาเทศบาลนาคู จ.กาฬสินธุ์ จำนวน 1 เครื่อง และ จ.ชัยภูมิ จำนวน 1 เครื่อง นอกจากนี้ยังได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเตรียมป้องกันอุทกภัยในกรณีฝนตกหนักในอำเภอเมืองขอนแก่น จำนวน 11 เครื่อง
สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ ปริมาณน้ำปัจจุบัน 572.56 ล้าน ลบ.ม. (23.55%) น้ำใช้การได้ -9.11 ล้าน ลบ.ม. (-0.49%) ระบายวันละ 0.50 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำปาว ปริมาณน้ำปัจจุบัน 514.30 ล้าน ลบ.ม. (25.97%) น้ำใช้การได้ 414.30 ล้าน ลบ.ม. (20.92%) ระบายวันละ 4.75 ล้าน ลบ.ม. และ เขื่อนจุฬาภรณ์ ปริมาณน้ำปัจจุบัน 45.17 ล้าน ลบ.ม. (27.59%) น้ำใช้การได้ 7.96 ล้าน ลบ.ม. (6.29%)
สำหรับปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 69 แห่ง ความจุรวม 440.35 ล้าน ลบ.ม. ความจุวันนี้ 96.01 ล้าน ลบ.ม. (21.80%) น้ำใช้การได้ 55.17 ล้าน ลบ.ม. (13.94%) มีความจุน้อยกว่า 30% จำนวน 51 แห่ง
สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำชีตอนล่างปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง สำนักงานชลประทานที่ 6 จึงให้ความช่วยเหลือในการเติมน้ำในแม่น้ำชีตอนล่าง โดยให้เขื่อนลำปาว เพิ่มการระบายน้ำเป็นวันละ 0.80 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค. เป็นต้นมา เช่นเดียวกับเขื่อนร้อยเอ็ดเพิ่มการระบายน้ำเป็นวันละ 0.35 ล้าน ลบ.ม. จากเดิม 0.26 ล้าน ลบ.ม. และ เขื่อนมหาสารคามเพิ่มการระบายน้ำเป็นวันละ 0.40-0.45 ล้าน ลบ.ม. จากเดิม วันละ 0.37 ล้าน ลบ.ม. เพื่อช่วยเหลือประปาเมืองมหาสารคาม
ปัจจุบันสถานีสูบน้ำวังยางได้หยุดการส่งน้ำจึงทำให้สถานการณ์น้ำในแม่น้ำชีตอนล่างเริ่มคลี่คลาย น้ำสามารถไหลล้นข้ามโขดหินที่บริเวณแพตาพลู อ.เชียงขวัญ จ.ร้อยเอ็ด และประปาบ้านท่างิ้ว มีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับผลิตน้ำประปาได้แล้ว นอกจากนี้โครงการฯ ชีกลาง ได้นำเครื่องจักรเข้าไปดำเนินการขุดเปิดร่องชักน้ำให้น้ำไหลสะดวกขึ้น และได้ประสานไปยังส่วนบริหารเครื่องจักรกลที่ 3 สำนักเครื่องจักรกล เข้าดำเนินการกำจัดวัชพืชและขุดลอกตะกอนดินท้ายเขื่อนร้อยเอ็ด
นอกจากการเร่งให้ความช่วยเหลือแล้วยังได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานในสังกัด ลงพื้นที่ทำความเข้าใจและประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรชะลอการเพาะปลูกไปก่อน โดยให้เริ่มเพาะปลูกตามเวลาที่เหมาะสมคือในช่วงที่มีฝนตกชุกตามฤดูกาล และให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก นอกจากนี้ได้เตรียมเครื่องจักร-เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ จำนวน 148 เครื่อง และรถบรรทุกน้ำ จำนวน 9 คัน กระจายอยู่ที่โครงการชลประทานจังหวัดทั้ง 5 จังหวัดพร้อมสนับสนุนในพื้นที่ที่ต้องการได้ทันที อย่างไรก็ตามขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้มีน้ำสำรองไว้ใช้ให้มากที่สุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- แล้งกลางฤดูฝน ขอนแก่นพบฝนทิ้งช่วง 10 อำเภอ
- เร่งรับมือภัยแล้ง 3 เขื่อนใหญ่อีสานชัยภูมิจ่อวิกฤตเตือนปชช.!
- ทำนาทุกปีมีแต่ซังกับหนี้ ทำนาปีนี้มีแต่หนี้ไม่มีซัง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: